a-academy-zero-based-thinking

ขั้นตอนหลักๆ ของการวางแผนการเงินนั้น ประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ

  1. จะไปไหน คือ เริ่มจากการกำหนดเป้าหมายชีวิตและเป้าหมายทางการเงินที่สำคัญจำเป็น
  2. ตอนนี้อยู่ที่ไหน คือ การสำรวจสถานะปัจจุบันของตนเองทั้งในเชิงตัวเลข เช่น ข้อมูลทรัพย์สิน หนี้สิน กระแสเงินสด และข้อมูลอื่นๆ เช่นประสบการณ์ ทัศนคติ ฯลฯ และ
  3. จะไปอย่างไร ได้แก่ การมีแผนปฏิบัติการในด้านต่างๆ อาทิ การหา การใช้ การเก็บ การลงทุน เพื่อพาตนเองจากจุดที่อยู่ไปบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ในที่สุด

ลำพังแค่การวางแผนการเงิน “ครั้งแรก” นั้นก็ว่ายากแล้ว เพราะคนจำนวนมากยังคงมองการวางแผนการเงินว่าเป็นเพียงการตัดสินใจทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ทำเสร็จแล้วก็จบ หรือไม่ก็คิดว่าเป็นเพียงการซื้อผลิตภัณฑ์แค่เป็นครั้งๆ แต่สำหรับท่านหรับท่านที่เริ่มต้นวางแผนการเงินมาอย่างถูกต้องแล้ว ท่านก็จะพบกับสิ่งที่ยากขึ้น ซึ่งเป็นสีสันระหว่างทางของ Financial Journey เพื่อไปสู่เป้าหมายซึ่งมักจะกินเวลาหลายปี นั่นคือ “การปรับแผนการเงิน” เพราะความจริงอย่างหนึ่งของชีวิตที่เลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ “ความเปลี่ยนแปลง

ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางใด สิ่งที่จะตามมาในปีถัดๆ ไปก็คือการต้องปรับแผนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งแนวทางที่นิยมกันมากทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร ก็คือการปรับแผนโดยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่ทำไปแล้ว คือคิด “ต่อยอด” จากเดิม หรือ “Incremental Thinking” หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ในประเด็นเกี่ยวกับแผนการเงินก็เช่น

  • การปรับเพิ่ม/ลด มูลค่าเป้าหมายทางการเงินต่างๆ เช่น งบประมาณในการแต่งงาน หรือ สร้างบ้าน โดยอิงจากงบประมาณก่อนหน้าที่ได้เคยคิดไว้
  • การเลื่อนเข้า/ออก ของระยะเวลาที่ต้องการบรรลุเป้าหมายบางอย่าง เช่น เลื่อนอายุเกษียณออกไปจากแผนก่อนหน้า
  • การปรับพอร์ตการลงทุน โดยอิงผลกำไร/ขาดทุน สถานะพอร์ต หรือ Asset Allocation ของพอร์ต ณ ปัจจุบัน

อย่างกรณีหลังสุดเรื่องปรับพอร์ต ซึ่งมีเรื่องของกำไรขาดทุนมาเกี่ยวข้องนั้น การปรับแผนแบบต่อยอดจากเดิม จะได้รับอิทธิพลจากอคติต่างๆ ค่อนข้างมาก ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นการตัดสินใจที่อาจจะไม่เหมาะสมนัก เช่น

  • ไม่ขายหุ้น/กองทุนบางตัวที่กำลังขาดทุนหนัก (มิหนำซ้ำอาจซื้อเพิ่ม) โดยคิดเข้าข้างตัวเองว่ายังมีอนาคต
  • ถือกองทุนหลายสิบกอง แม้ว่าหลายๆ กองนั้น มีผลการดำเนินงานและแนวโน้มด้อยกว่ากองใหม่ๆ ที่เพิ่งซื้อไป
  • เดือนก่อนเพิ่งตัดสินใจ Overweight หุ้นสหรัฐฯ ผ่านมาถึงปัจจุบันขาดทุนค่าธรรมเนียมซื้อไป 1.5% และ NAV กอง ก็ลดลงอีก 3-4% เมื่อวิเคราะห์ข่าวสารข้อมูลก็คิดว่าน่าจะแย่แน่แล้ว แต่สุดท้ายกลับไม่ยอมปรับลดหุ้นสหรัฐฯ ลง ที่ทำก็แค่ไม่ซื้อเข้าไปเพิ่มอีก

จะเห็นว่าการเลือกปรับแผนโดยอิงจากการตัดสินใจ และผลลัพธ์จากการตัดสินใจครั้งก่อนหน้านั้น บางทีสร้าง พันธนาการทางความคิด ให้กับเราได้มาก และไม่ใช่ครั้งเดียว เพราะพันธนาการนี้มันจะสะสมไปเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป จนถึงจุดหนึ่งเราแทบจะปรับอะไรไม่ได้ เพราะนั่นก็ติด นี่ก็ติด สุดท้ายกลายเป็นต้องหวังลมๆ แล้งๆ ว่าสิ่งที่ตัดสินใจผิดพลาดไปแล้วมันจะดีขึ้นได้เอง (ซึ่งต่อให้สำเร็จก็น่าจะเพราะโชคช่วยมากกว่าฝีมือ)

จากปัญหาดังกล่าว เรามีทางเลือกอีกทางคือการพักสิ่งที่ได้ทำไปแล้วไว้ก่อน แล้วลองเริ่มต้น “วางแผนใหม่จากศูนย์” ซึ่งก็คือแนวคิด “Zero Based Thinking” ตามชื่อบทความตอนนี้ ซึ่งหลักการก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการถามตัวเองว่า “หากวันนี้ได้โอกาสในการตัดสินใจใหม่อีกครั้ง เราจะเลือกทำสิ่งใด” ลองคิดแล้วก็เขียนออกมาดู เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ได้ทำไปแล้วก่อนหน้า

ตัวอย่างเช่น เดิมอาจจะจัดพอร์ตซื้อหุ้นไว้แบบหนึ่ง พอลองคิดใหม่ทำใหม่ ก็อาจจะพบว่า ในแผนใหม่นี้ ไม่มีหุ้นเดิมที่เคยซื้อไว้อยู่เลยก็ได้ หรือเป้าหมายบางอย่างที่เคยตั้งไว้เมื่อ 4-5 ปีก่อนว่าอยากจะทำให้สำเร็จ พอมาคิดใหม่วันนี้ บางทีเป้านั้นหายไปเลยก็เป็นไปได้ เพราะเสน่ห์อย่างหนึ่งของ Zero Based Thinking ก็คือพัฒนาการของผู้วางแผนเองด้วย อย่าลืมว่าเราในวันวาน ก็ไม่ได้มีประสบการณ์ ความรู้ และภูมิปัญญา เท่ากับตัวเราในวันนี้

เมื่อได้แผนใหม่มาแล้ว จุดที่ยากกว่าก็คือการตัดสินใจปรับสิ่งที่ทำไปแล้ว ให้เข้าใกล้แผนใหม่นี่ล่ะครับ เพราะบางอย่างมันเสียหายไปแล้ว ตรงนี้ก็ต้องลองเปรียบเทียบผลประโยชน์ไปในอนาคตข้างหน้าดู เช่นลงทุนเงิน 1 ล้านบาท ตอนนี้พอร์ตขาดทุนเหลือ 4 แสน มันก็ต้องเริ่มคิดจาก 4 แสนตอนนี้ แล้วเปรียบเทียบดูว่า ถ้าเลือกเส้นทางเดิมเทียบกับแผนใหม่ อนาคตทางไหนจะดีกว่ากัน เมื่อตอบตัวเองได้ ก็ต้องกลั้นใจปรับอย่างมีเหตุมีผลล่ะครับ

หากยังลังเลอยู่ ผมก็อยากชวนให้ระลึกถึงวรรคทองวรรคหนึ่ง ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่กล่าวไว้ว่า “ความบ้าคลั่ง คือการดันทุรังทำสิ่งเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยหวังให้ได้ผลลัพธ์ที่ต่างไปจากเดิม” น่าจะทำให้เราพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้นนะครับ