บทความนี้เขียนขึ้นในช่วงกลางเดือน ก.ย. 60 ซึ่งเป็นช่วงที่หุ้นไทยปรับตัวขึ้นแรงมาก
หลายคนที่ลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยเฉพาะคนที่จัดพอร์ตสไตล์ Global Multi-Asset Portfolio ที่เน้นกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ทั่วโลกนั้น แม้จะตัดสินใจปรับเพิ่มหุ้นไทยเข้าไปในพอร์ตแล้ว ก็อาจไม่ได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะการปรับพอร์ตมีผลช้าเกินไป เนื่องจากหุ้นไทยขึ้นมาแรงและเร็วกว่าที่คิด
ทำไมปรับพอร์ตข้ามประเทศแล้วถึงมีผลช้า ?
กรณีที่เราถือเงินสดอยู่แล้ว หรือถือกองทุนที่มีสภาพคล่องสูงๆ ประเภทที่สามารถซื้อหรือสับเปลี่ยนเข้าลงทุนในกองทุนหุ้นได้ทันทีในวันที่สั่งเลยคงไม่เป็นปัญหาอะไร แต่สำหรับคนที่กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่างประเทศ โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปีที่หุ้นไทยไม่ค่อย Perform หลายคนอาจ Overweight หุ้นหรือสินทรัพย์ที่อยู่ในต่างประเทศอยู่ การจะสับเปลี่ยนกลับมานั้นจะกินเวลามากทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่น เดิมถือกองทุนหุ้น Asia Ex Japan อยู่ ต่อมาในวันที่ 8 ก.ย. 60 ซึ่งตรงกับวันศุกร์ จึงตัดสินใจสับเปลี่ยนกองทุนดังกล่าวมาเป็นกองทุนหุ้นไทย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับวิธีการทำรายการของ บลจ./บล. ที่เรามีบัญชีลงทุนอยู่ บางแห่งก็สามารถสับเปลี่ยนตรงๆ ได้เลย บางแห่งจะต้องสั่งขายกองต้นทางให้เป็นเงินสดก่อน แล้วจึงสั่งซื้อกองปลายทางอีกครั้งหลังจากที่ได้รับเงินค่าขายแล้ว
ซึ่งจากตัวอย่างที่ยกมานี้ เอาแค่ระยะเวลาที่ต้องรอเงินกลับมาจากกองต้นทางก็ต้องใช้เวลาถึง 5 วันทำการ (T+5) เช่น กรณีนี้สั่งขายหรือสับเปลี่ยนในวันศุกร์ที่ 8 ก.ย. ก็จะติดวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ นับไปอีก 5 วันทำการ ก็ต้องรอถึงวันที่ 15 ก.ย. กว่าที่เงินค่าขายจะเข้าบัญชีและสามารถนำไปซื้อกองทุนหุ้นไทยได้ ซึ่งถ้าแจ็คพ็อตในช่วงที่ทำรายการนั้น ติดวันหยุดนักขัตฤกษ์ของไทย หรือของกองทุนต้นทางในต่างประเทศอีก ก็อาจต้องรอเพิ่มขึ้นอีก 1 วันทำการ ซึ่งในที่นี้ก็จะคร่อมเสาร์-อาทิตย์อีกรอบ แทนที่จะได้เงินวันที่ 15 ก.ย. ก็กลายเป็นได้วันที่ 18 ก.ย. เลย
จะเห็นว่านับจากวันที่ตัดสินใจ จนถึงวันที่รายการมีผลนั้น ห่างกันร่วม 10 วัน ซึ่งบางที 10 วันที่ต้องรอนี้ ราคาของกองปลายทางมันได้ปรับขึ้นไปมากแล้ว กลายเป็นเราได้เข้าซื้อ ณ ต้นทุนที่สูง ทั้งๆ ที่วันที่เราตัดสินใจมันยังต่ำอยู่แท้ๆ
นี่ยังไม่นับกรณีที่ทำรายการข้ามวันหยุดยาว เช่นวันสงกรานต์ หรือวันปีใหม่นะครับ เพราะจะต้องรอนานกว่านี้มาก บางทีรอกันเกือบครึ่งเดือนเลยทีเดียว
ปรับยังไงให้ไวกว่าเดิม ?
เนื่องจากการปรับพอร์ตกองทุนรวมข้ามประเทศ เช่น
- กองทุนหุ้นไทย ไป กองทุนหุ้นต่างประเทศ
- กองทุนหุ้นไทย ไป กองทุนทองคำ/น้ำมัน (ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ)
- กองทุนหุ้นต่างประเทศ ไป กองทุนหุ้นไทย
- กองทุนหุ้นต่างประเทศ ไป กองทุนหุ้นต่างประเทศ (คนละประเทศ)
ล้วนต้องมี “ช่วงสูญญากาศ” ที่เกิดขึ้นระหว่างการรอรับเงินค่าขายทั้งสิ้น การจะเร่งให้กระบวนการสับเปลี่ยนสำเร็จเร็วขึ้นวิธีหนึ่งก็คือ การต้องมี “กองทุนที่สภาพคล่องสูง” เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน/กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งมีสภาพคล่อง T+1 หรือจะหยวนๆ เป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป ซึ่งมีสภาพคล่อง T+2 เป็น “ตัวกลาง” เร่งให้กระบวนการสับเปลี่ยนเกิดเร็วขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ต้องการลดกองทุนหุ้น Asia Ex Japan ที่มีอยู่ 500,000 บาท ซึ่งคิดเป็น 25% ของพอร์ต ให้เหลือแค่ 15% หรือ 300,000 บาท แล้วนำเงินส่วนที่ลดลง 200,000 บาทนั้น สับเปลี่ยนเข้าไปเพิ่มในกองทุนหุ้นไทยแทน ดังแสดงในตารางนี้
ถ้าจะปรับพอร์ตด้วยวิธีดั้งเดิม ก็แบ่งเป็น 2 กรณีคือ
- หาก บลจ./บล. รองรับคำสั่งสับเปลี่ยนกองทุนข้ามประเทศได้ ก็ต้องสั่งสับเปลี่ยนกองทุนหุ้น Asia Ex Japan ซึ่งเป็นกองทุนต้นทาง ยอด 200,000 บาท เข้าไปยังกองทุนปลายทางคือ กองทุนหุ้นไทย
- หาก บลจ./บล. ไม่รองรับคำสั่งสับเปลี่ยนกองทุนข้ามประเทศ ก็ต้องสั่งขายกองทุนหุ้น Asia Ex Japan ยอด 200,000 บาท จากนั้นประเมินว่าจะได้รับเงินวันไหน เมื่อเงินเข้าแล้วค่อยสั่งซื้อกองทุนหุ้นไทย ยอด 200,000 บาท
หรือถ้าสามารถส่งคำสั่งสั่งซื้อล่วงหน้า (Standing Order) ได้เลยตั้งแต่วันที่ขาย ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องระบุวันให้แม่น เพราะถ้าสั่งล่วงหน้าไปแล้ว ปรากฎว่าเงินยังไม่ได้รับเข้าบัญชีจริงๆ รายการก็จะถูกยกเลิกไป เพราะไม่มีเงินให้ตัด (เนื่องจากเงินกำลังอยู่ในช่วงเวลาสูญญากาศ รอกลับเข้าบัญชีในไทยอยู่)
ซึ่งไม่ว่าจะทำด้วยวิธีไหน ก็ล้วนต้องรอนานทั้งสิ้น แต่หากเราใช้กองทุนตัวกลางที่มีสภาพคล่องสูงมาช่วย ก็จะทำให้รายการสับเปลี่ยนสำเร็จเร็วขึ้น โดยในที่นี้จะใช้กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งมีสภาพคล่อง T+1 มาเป็นตัวช่วย โดยแทนที่จะทำรายการแบบดั้งเดิม เราสามารถทำรายการดังนี้
- สั่งซื้อกองทุนหุ้นไทยทันทีโดยไม่ต้องรอเงินจากกองทุนหุ้น Asia Ex Japan แต่ใช้เงินจากกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งรอแค่ 1 วันก็ได้เงิน หรือบาง บลจ./บล. การสั่งสับเปลี่ยนกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นกองทุนหุ้นไทยนั้น รายการจะเกิดในวันที่สั่งเลย (เสมือนได้เข้าลงทุน ณ สิ้นวันนั้น) ในที่นี่ผมก็สั่งสับเปลี่ยนกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นยอด 200,000 บาท เป็นกองทุนหุ้นไทย ในวันที่ 8 ก.ย. 60 ได้เลย
- หลังจากทำรายการแรก เงินในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นก็จะหายไป เราจึงค่อยสั่งขายหรือสับเปลี่ยนกองทุนหุ้น Asia Ex Japan มาเติมในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นการทดแทน ซึ่งผมก็สั่งสับเปลี่ยนกองทุนหุ้น Asia Ex Japan มายังกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นกองเดิมในวันที่ 8 ก.ย. 60 ได้เช่นกัน
จะเห็นว่าการทำ 2 รายการนี้ผมได้ออกจากกองทุนหุ้น Asia Ex Japan ทันที และก็ได้เข้าลงทุนในกองทุนหุ้นไทยทันทีเช่นกัน ซึ่งกรณีที่ บลจ./บล. ที่เราใช้ ไม่รองรับการสับเปลี่ยนออกจากกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อเข้าลงทุนในกองทุนหุ้นไทยแบบมีผลทันทีในวันเดียวกัน เราก็ต้องสั่งขายกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นมาเป็นเงินสดก่อน ซึ่งก็จะใช้เวลาเพียง T+1 ก็สามารถนำเงินนั้นซื้อกองทุนหุ้นไทยในวันทำการถัดไปได้เลย ไม่ต้องรอนานเหมือนรอเงินจากกองทุนหุ้นต่างประเทศ
ซึ่งแน่นอนว่าการทำเช่นนี้กองทุนที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง จะตกเป็นกองที่ต้องมารอเงินจากกองทุนหุ้น Asia Ex Japan อีกหลายวันแทน ซึ่งก็ไม่น่าจะมีผลอะไรมากนัก เนื่องจากกองทุนประเภทนี้เป็นกองทุนที่มีผลตอบแทนค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว การที่ผลตอบแทนจะหายไปหลายวันหน่อย ก็ไม่มีผลอะไรต่อพอร์ตมากนัก ไม่เหมือนกับการได้ซื้อหุ้นล่าช้าไป ซึ่งมักมีนัยยะสำคัญที่มากกว่า
ข้อจำกัดก็มี ใช่ว่าจะทำได้ทุกพอร์ต
ข้อจำกัดสำคัญเลยก็คือ หากเราไม่มีกองทุนตัวกลางที่มีสภาพคล่องสูงมาช่วยแล้ว ก็จะทำแบบที่เขียนมาทั้งหมดไม่ได้ ดังนั้นพอร์ตใดที่แทบไม่มีกองทุนที่มีสภาพคล่องสูงอยู่ในพอร์ตเลย หรือถ้ามีก็น้อยเกินกว่าปริมาณเงินที่ต้องการปรับ ก็จะใช้เทคนิคนี้ไม่ได้
ซึ่งบางท่านก็แก้ปัญหาด้วยการนำเงิน “นอกพอร์ต” มาช่วย เช่นปกติมีเงินสำรองไว้สำหรับหมุนเวียน 3-6 เดือนอยู่แล้ว และสถานการณ์ปัจจุบันก็ยังไม่มีเหตุให้ต้องใช้เงินก้อนนั้น ก็อาจยอมนำเงินนั้นมาเป็นตัวกลางในการสับเปลี่ยนกอง ซึ่งก็ต้องแลกกับความเสี่ยงในการขาดเงินสำรองไปในช่วงเวลาหนึ่ง ก็ขอให้พิจารณาใช้เงินส่วนนี้อย่างระมัดระวังนะครับ
บทสรุป
หวังว่าเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ นี้ จะเป็นประโยชน์กรณีที่ท่านผู้อ่านต้องการปรับพอร์ตกองทุนแบบข้ามประเทศให้เกิดผลเร็วขึ้นนะครับ เพราะมันประยุกต์ใช้ได้เยอะทีเดียว ทั้งไทยไปเทศ เทศมาไทย เทศไปเทศ ก็ใช้ได้ทั้งสิ้น มันจะช่วยทำให้การปรับพอร์ตเกิดผลในเวลาที่ใกล้เคียงกับวันที่เราตัดสินใจมากขึ้น โดยลดความไม่แน่นอนที่จะเกิดในช่วงสูญญากาศแห่งการรอคอยไปได้มากทีเดียว
แต่ในหลายๆ กรณีที่เราเพียงแค่อยากปรับพอร์ตแบบไม่ได้หวังผลเชิงจังหวะเวลาอะไร เช่นเพียงต้องการ Re-balance พอร์ตที่มีสินทรัพย์บางอย่างมากเกินไป ให้กลับมาอยู่ในจุดที่สมดุล ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคอะไรแบบนี้ก็ได้ครับ เพราะจังหวะเวลาอาจไม่ได้สำคัญในการตัดสินใจครั้งนั้น ก็ขอให้ประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์นะครับ