ท่านใดที่ติดตาม A-Academy หรือได้ศึกษาเรื่องการลงทุนมาพอสมควร คงจะรู้แล้วนะครับว่า “ดอกเบี้ยทบต้น” จะแสดงพลังอย่างเต็มที่ เมื่อมี “อัตราผลตอบแทน/อัตราดอกเบี้ย” ที่มากพอ และมี “ระยะเวลาการลงทุน” ที่ยาวนานพอ
ถ้ายังไม่เข้าใจถ่องแท้ แนะนำให้ดูวิดีโอนี้ก่อน แล้วค่อยอ่านต่อนะครับ พลังของดอกเบี้ยทบต้น พลังของการลงทุน
ความรู้นี้ ถ้าเราคิดอยู่ในกรอบ คิดถึงแต่ตัวเรา เราก็มักจะได้ยินคำบ่นว่า “เราเริ่มช้าไปเสียแล้ว” หรือเวลาผมไปบรรยายที่ไหน ประโยคเด็ดที่ชวนให้เจ็บจี้ด ก็คือ “น้องมาเจอพี่ช้าไป”
วันนี้ผมชวนมองมุมใหม่ครับ… ถ้ามันช้าไปสำหรับเรา แล้ว “ใครล่ะที่มีเวลาลงทุนมากที่สุดในโลก ?”
คำตอบคือ… เด็กที่เพิ่งลืมตาดูโลก (หรือที่อยู่ในท้องแม่) ครับ!
ถ้าเรามองข้ามช๊อตไปถึงตอนที่เค้าเกษียณอายุเลย เค้าจะมีเวลาลงทุนอย่างน้อยก็ 55 ปี ถ้าอ้างอิงอายุเกษียณของราชการ เค้าจะมีเวลาลงทุน 60 ปี และถ้าอ่าน Trend ว่า คนจะต้องเกษียณอายุช้าลง เหมือนที่เกิดในต่างประเทศแล้ว เค้าอาจมีเวลาลงทุนถึง 65 ปี!
เวลาขนาดนี้มันทำให้ดอกเบี้ยทบต้น “สำแดงเดช” ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ที่สุดครับ
จากรูป Infographic จะเห็นว่า เงินลงทุนเพียง 10,000 บาท ถ้าได้ผลตอบแทน 8%, 10%, 12% ในระยะเวลา 60 ปี สามารถเติบโตเป็นเงินถึงประมาณ
1 ล้านบาท (100 เท่า ของเงินเริ่มต้น)
3 ล้านบาท (300 เท่า ของเงินเริ่มต้น)
9 ล้านบาท (900 เท่า ของเงินเริ่มต้น)
ท่านคงรู้สึกไม่ต่างจากผมว่ามันเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก! เงินลงทุนก้อนเล็กๆ ก้อนเดียว อะไรมันจะเติบโตได้ขนาดนั้น แล้วถ้าลงทุนซัก 100,000 บาท ล่ะ ? มันก็อาจจะกลายเป็น 10, 30 หรือ 90 ล้านได้เลยนะครับ ถ้าเตรียมแบบนี้ให้กับลูก/หลาน ที่เรารักไว้ได้ คงจะเป็นอะไรที่ดีมากๆ
คุณพ่อ คุณแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หากสนใจจะทำแบบนี้ ในทางปฏิบัติจะทำยังไงดี… ???
ขั้นตอนนั้นง่ายๆ ครับ
1. เปลี่ยนของรับขวัญลูกหลาน เป็นเงินลงทุน!
เช่นเดิมเคยซื้อสร้อยทอง หรือของรับขวัญอื่นๆ ให้ลูก/หลาน เราก็เปลี่ยนเป็นการเอาเงินนั้นไปลงทุนให้เค้าแทน
2. ลงทุนในกองทุนรวมหุ้น
เพราะเราอยากได้ผลตอบแทนที่สูง และเราก็มีระยะเวลาที่ยาวนานมาก หุ้น จึงเป็นสินทรัพย์ที่น่าจะเหมาะที่สุด เพราะแม้ระยะสั้นๆ หุ้นจะผันผวน จะมีวิกฤติเป็นระยะ ทั้งวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (ขาดทุนประมาณ 50%) หรือ วิกฤติต้มยำกุ้ง (ขาดทุนประมาณ 80%) ก็ตาม แต่ถ้าใครถือลงทุนมาได้ตั้งแต่หุ้นไทยเปิดตลาดเมื่อปี 2518 ก็ยังคงได้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 12% ต่อปี
ส่วนที่แนะนำให้ลงทุนใน “กองทุนหุ้น” นั้น ก็เพราะนี่เป็นการลงทุนที่ยาวมาก แต่ลงเงินน้อยนิด จะดูแลเองคงเป็นอะไรที่ “ไม่คุ้มแรง” เท่าไหร่ ลงผ่านกองทุน ก็สามารถ “ซื้อแล้วถือลืมไปเลย” ได้ ซึ่งผมคิดว่า กองทุนที่เหมาะที่สุดคือกองทุนหุ้นที่เลียนแบบดัชนี (Index Fund) นั่นเพราะระยะยาวขนาด 50-60 ปี ผมว่าเป็นเรื่องยากที่เราจะเลือกกอง Active Fund ที่ “เจ๋งอย่างต่อเนื่องยาวนาน” ขนาดนั้นได้ การเลือก Index Fund ก็เป็นการตัดปัญหาด้าน “การเลือก” ไป แต่ถ้าท่านใดจะเลือก Active Fund ก็ได้ครับ แต่อาจต้องคอย Monitor เป็นระยะๆ ว่ากองทุนที่เลือก ยังคงบริหารงานได้ตามที่เราคาดหวัง เช่น ยังไม่แพ้ตลาดเป็นต้น
3. หาวิธีส่งมอบที่เหมาะสม
อันนี้เริ่มยาก เพราะจะส่งมอบยังไง ให้ลูกหลานไม่ขายเอาเงินไปใช้เสียก่อนที่จะถึงอายุเกษียณ และไม่ทำให้เค้า ปล่อยปละละเลย ไม่จัดการเงินทองของตัวเอง (เพราะถือว่าพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ทำไว้ให้แล้ว)
ถ้าทำกระบวนการนี้ได้ดี… ผมเชื่อว่าเราสามารถใช้เป็นกุศโลบาย ให้เค้าได้เริ่มใส่ใจเรื่องเงินทอง ตั้งแต่ยังเล็กไปด้วย วิธีการคร่าวๆ ที่ผมคิดไว้ ซึ่งคงไม่สมบูรณ์นัก มีจุดรั่วไหลมากมายคือ เมื่อเค้าเริ่มรู้เรื่อง ก็หาโอกาสคุยเรื่องนี้กับเค้า อาจจะโชว์มูลค่าเงินให้เค้าดูว่า 1 ปี 2 ปี 3 ปี 4 ปี ผ่านมา เงินมันเพิ่ม มันลดยังไง (จะได้สอนเรื่องผลตอบแทน + ความเสี่ยง)
เมื่อเค้าเริ่มเข้าใจคณิตศาสตร์ บวกเลข คูณเลขได้ ก็ค่อยพาเค้าคำนวณดอกเบี้ยทบต้นแบบง่ายๆ ทำทีละปี เล่นเป็นเกมส์ ดูสิว่าถ้าทำไปเรื่อยๆ จะเป็นเงินเท่าไหร่ ? เมื่อเค้าเข้าใจ ก็อยู่ที่วิจารณญาณของเรา ว่าจะมอบอำนาจให้เค้าตอนไหน ให้เค้าได้ “เป็นเจ้าของ” และ “มีอำนาจ” เหนือเงินก้อนนั้นจริงๆ
ถ้าเราทำได้ดี แทนที่เค้าจะขายออก เค้าอาจจะอยากออมเพิ่ม ก็จะเป็นจุดที่เหมาะสมที่เราจะส่งเสริม ให้เค้าได้ออม ได้ลงทุนเพิ่ม เช่นมีเงินตั้งต้นให้ แต่ผมแนะนำว่า อย่าเอามาปนกับบัญชีนี้จะดีกว่าครับ เงินลงทุนจะได้อยู่เป็นสัดเป็นส่วน เค้าเองก็จะได้รู้ว่า ส่วนไหนเราให้ ส่วนไหนเค้าทำ มันน่าจะภาคภูมิใจกว่าฃ
ทุกคนที่มีลูก ก็ย่อมรักและอยากให้เค้าได้ในสิ่งที่ดีที่สุดนะครับ อ่านบทความนี้แล้ว… นี่ก็เป็นโอกาสที่ดีอีกครั้ง ที่จะถามตัวเองว่า เราจะเตรียมรากฐานการเงินที่มั่นคงให้ลูกมั๊ย ? ด้วยวิธีอะไร ? จะทำเท่าไร ? และ จะทำเมื่อไร ? เพราะนี่เป็นการแสดงออกซึ่งความรักที่เรามีให้กับเค้าอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดวิธีหนึ่งครับ!
ปล.
- หลักการลงทุนแบบนี้ ไม่ต้องเป็นเด็กแรกเกิดก็ทำได้นะครับ เพียงแต่เวลาจะสั้นลงนิดหน่อย และยังใช้ได้กับอีกหลายอย่าง เช่น การวางแผนสร้างกองทุนมรดก เพราะก็จะมีเวลาลงทุนมากเช่นกัน
- ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับหุ้น แบบที่เป็นการลงทุน ไม่ใช่การเล่น เน้นมุมมองระยะยาว ได้ใน Series สินทรัพย์เพื่อการลงทุน
- เรื่อง Index Fund และ Active Fund นั้น ผมมีสอนใน Series ชุด การลงทุนในกองทุนรวม ด้วยครับ