หากเปรียบเป็นเกมส์แล้ว ผู้ที่มุ่งหวังจะประสบความสำเร็จทางการเงินนั้น จะต้องตะลุย “ผ่านด่าน” ที่สำคัญๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงเส้นชัย คือความ “มั่นคง มั่งคั่ง” ตามแบบฉบับของแต่ละคน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
แน่นอนว่าเส้นทางที่แต่ละคนเลือกเดินนั้น ก็จะแตกต่างกันไปด้วย บางคนเลือกเดินในเส้นทางสายผู้ประกอบการ ลุยไปกับธุรกิจส่วนตัว บางคนเลือกเส้นทางมนุษย์เงินเดือนมืออาชีพ ในด้านเครื่องมือลงทุนก็แตกต่าง บางท่านถนัดลงทุนในสินทรัพย์จริง เช่น ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ บางท่านใช้สินทรัพย์การเงิน เช่น หุ้น กองทุนรวม ฯลฯ นอกจากนั้นกลยุทธ์ที่ใช้ก็แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะซื้อแล้วถือทำกำไรระยะยาว หรือเทรดทำกำไรระยะสั้น-กลาง
ซึ่งแม้เส้นทางในปลีกย่อยจะต่าง แต่กลับมี 4 เส้นทางหลักๆ ซึ่งเป็น “ด่านสำคัญ” ที่ทุกๆ คนยังต้องผ่าน โดยวิธีที่จะผ่านแต่ละด่านสำคัญนี้ก็ต่างกัน หากเรายังอยู่ด่านแรกๆ แต่มัวแต่ไปใช้วิธีหรือกระบวนท่าที่เหมาะกับใช้ในการผ่านด่านหลังๆ มันก็จะผ่านด่านแรกได้ยาก แถมด่านหลังๆ ก็ยังมีโอกาสจะไปไม่ถึงด้วย
4 ด่านสำคัญทางการเงินที่เราต้องผ่าน ได้แก่
“EARN > SAVE > GROW > PRESERVE”
ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องผ่านให้ได้เรียงตามลำดับหน้าไปหลัง
ด่านแรก : EARN ปลดล็อคศักยภาพในการสร้างรายได้
ผมเชื่อว่าทุกท่านน่าจะพอรู้ว่าการที่จะประสบความสำเร็จเรื่องเงินได้นั้น จำเป็นต้องมีการออมการลงทุนมาเกี่ยวข้อง แต่การทำสองสิ่งนั้นจะสำเร็จได้ยากมาก หากในวันนี้เรายังมีปัญหาเรื่อง “รายได้ไม่พอใช้” อยู่ ดังนั้นในด่านแรกนี้ เราจึงต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้ก่อน
ซึ่งผมอยากชวนคิดแบบนี้ว่าคนหนึ่งคนนั้น มีหนึ่งสมองสองมือ และเวลา 24 ชั่วโมงเท่าๆ กัน แม้ชาติกำเนิดหรือต้นทุนชีวิตจะต่างกันบ้าง แต่เราก็เห็นว่าจะมีคนอยู่สุดโต่งสองด้านอยู่ในทุกยุคทุกสมัย ด้านหนึ่งคือคนที่ประสบความสำเร็จในงานที่เค้าทำอย่างมาก มีรายได้สูง บางคนทำงานไม่กี่ชั่วโมงก็มีรายได้หลักหมื่น รายได้ทั้งเดือนก็หลักแสน แต่อีกด้านหนึ่งก็จะมีคนที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ หรือ คนที่ต้องไปลงทะเบียนเป็นผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับการช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วย
นั่นก็แสดงว่า นอกจากปัจจัยเรื่องชาติกำเนิดแล้ว มันก็มี Action อื่นๆ ที่เราทำได้ เพื่อจะผ่านด่านนี้ได้อยู่ ซึ่งเราต้องมุ่งทำสิ่งนั้นก่อน ณ จุดนี้ อาจยังไม่ต้องให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุนมากก็ได้ อาจแบ่งเวลาเพียง 20% ไปศึกษาเรื่องการลงทุน แต่เวลาส่วนใหญ่ 80% ที่เหลือ ควรนำมาใช้เพื่อผ่านด่านนี้ ซึ่งก็มีสิ่งให้ทำหลายอย่าง เช่น
- พัฒนาทักษะความรู้ของตนเอง อ่าน เรียน ฝึกฝน แบ่งปัน (คลิ๊ก อ่านเทคนิคเพิ่มเติม)
- เลือก/เปลี่ยน สายอาชีพหรืองานที่ทำให้สอดคล้องกับความถนัดและทักษะของตนเอง
- สร้างรายได้เพิ่ม ในช่องทางอื่นๆ หากงานที่ทำอยู่มีข้อจำกัดเรื่องเพดานรายได้ ซึ่งหากไม่มีทักษะ ก็ต้องขวนขวายเรียนรู้เพิ่มเติม (คลิ๊ก อ่านเส้นทางสร้างรายได้ของผม)
ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าด่านนี้ยากที่สุด แต่ก็เป็นด่านที่ถ้าผ่านได้ เราจะมีพลังเพิ่มขึ้นมากที่สุดด้วย เพราะทักษะและรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้น มันก็จะอยู่กับเราไปอีกนาน ช่วยให้เราไปเล่นเกมส์การเงินเกมส์ชีวิตในด่านต่อไปได้ด้วยความพร้อม
ด่านที่สอง : SAVE ออมให้ได้มากพอ
สมมติว่าเราอยากออมเงินเดือนละ 5,000 บาท สำหรับคนที่รายได้ยังน้อย เช่นรายได้เดือนละ 15,000 บาท อาจเป็นเรื่องที่ยากมาก นั่นเป็นเหตุจำเป็นที่เราต้องผ่านด่านแรกให้ได้ก่อน เพราะด้วยเป้าหมายการออม 5,000 บาทเท่ากัน แต่ถ้าตอนนี้รายได้เราขยับขึ้นมาเป็น 30,000 บาทหรือมากกว่านั้น โอกาสที่จะออมได้สำเร็จ มันก็มากขึ้น และหากเราไม่ฟุ่มเฟือยเกินไป ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น (ตามภาระความรับผิดชอบที่มากขึ้น) ถึงจุดหนึ่งก็จะไม่ค่อยเพิ่มแล้ว หรือเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าที่รายได้เพิ่ม แปลว่ารายได้ส่วนที่เพิ่มมาช่วงหลังนี้ ก็สามารถนำไปออมได้ทั้งหมด
คนที่มาถึงจุดนี้ได้ จะมีความสามารถในการออมสูงมาก บางคนสามารถออมได้เดือนละหลายหมื่นบาท ซึ่งถ้านับรวมกับการออมเงินพิเศษจากโบนัส และ/หรือ คอมมิชชั่น ด้วย ปีหนึ่งๆ มีคนที่ออมเงินได้เป็นหลัก 2-3 แสนบาทอยู่ไม่น้อย ซึ่งต่อให้คนเหล่านี้ไม่รู้จักวิธีลงทุนอะไรเลย แค่ฝากเงินเฉยๆ ทุกๆ 3-4 ปี ก็จะเก็บเงินได้ร่วมล้านอยู่แล้ว ถ้าทำอย่างนี้ไปซัก 10-20 ปี ก็น่าจะมีเงินเก็บตุนอยู่ในกระเป๋าหลายล้านบาท
ปัญหาคือ ไม่ใช่คนที่รายได้สูงทุกคนที่สามารถเก็บออมได้มาก ซึ่งก็มาจากเหตุผลหลายๆ อย่าง เช่นที่ผมเขียนในบทความเรื่อง “เงินหายไปไหน… ทำไมแค่หาเงินได้มากขึ้นแล้วยังไม่จบ” ดังนั้น คนที่มีรายได้มากก็อย่าชะล่าใจ ยังต้อง Take Action บางอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถเก็บออมเงินได้มากพอ อาทิ
- มีและตระหนักถึงเป้าหมายทางการเงินที่สำคัญในชีวิต เช่น ทุนการศึกษาบุตร ทุนเกษียณอายุ ฯลฯ เพราะถ้าเป้าหมายนั้นมันหนักแน่นและสำคัญพอ มันก็จะทำให้เราตั้งใจเก็บออมเงินได้มากขึ้น
- ฝึกฝนวินัยทางการเงิน เช่น การทำแผนงบประมาณ (Budgeting) แล้วพยายามใช้จ่ายและเก็บออมให้ได้ตามแผนดังกล่าว
- เลือกที่จะออมก่อนใช้ (Pay Yourself First) เพื่อให้มั่นใจว่าทุกๆ เดือนจะได้ออมแน่นอน (สำหรับบางคนนอกจากออมก่อนใช้แล้ว หากสิ้นเดือนยังมีเหลือ ก็ยังเอาส่วนที่เหลือมาออมอีกด้วยซ้ำ)
- เลือกที่จะทำการออมให้เป็นอัตโนมัติ (คลิ๊ก อ่านเพิ่ม)
- เลือกที่จะออมในช่องทางที่ “บังคับให้ออมต่อเนื่อง” เช่น เงินฝากประจำปลอดภาษี สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตแบบบำนาญ ฯลฯ ซึ่งข้อนี้ ผมเห็นหลายท่านนิยมทำ ด้วยเหตุผลว่าเป็นการบังคับตัวเอง แต่ก็ต้องระมัดระวัง บางอย่างไปบังคับตัวเอง แต่กลายเป็นเลือกเครื่องมือไม่เหมาะสม มันก็น่าเสียดายโอกาส
สำหรับผมเอง ผมทำแค่ 2 ข้อแรก ก็สามารถเก็บออมเงินได้ต่อเนื่องแล้ว สำหรับท่านผู้อ่านแต่ละท่านก็ต้องลองดูตัวท่านเองนะครับ ว่าทำแค่ไหนถึงเพียงพอ แล้วเราจะได้ไปตะลุยด่านต่อไปกัน
ด่านที่สาม : GROW ทำเงินออมให้เติบโตได้ดี
หากเป็นสมัยก่อนซึ่งดอกเบี้ยเงินฝากสูงมากนั้น ลำพังแค่ออมเงินกับธนาคารเพียงอย่างเดียว ก็คงไม่มีปัญหา แต่ปัจจุบันคงทำไม่ได้แล้ว เราจึงต้องหาเครื่องมือและวิธีการที่ทำให้เงินเติบโตได้อย่างน้อยๆ ก็ควรได้ซัก 4-5% ต่อปี พอให้ชนะอัตราเงินเฟ้อระยะยาวที่แถวๆ 3% เพราะไม่อย่างนั้น แม้เราเก็บเงินได้มาก แต่พอถึงเวลาจะใช้ กลับซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ได้น้อยลงก็ได้ ยิ่งถ้าจะให้ดีหากทำผลตอบแทนระยะยาวได้มากกว่า 6% ขึ้นไป กลไกของดอกเบี้ยทบต้นก็จะช่วยให้เงินโตได้มากขึ้นอีก (คลิ๊ก อ่านเพิ่มเติม)
ซึ่ง Action สำคัญในการผ่านด่านนี้ได้แก่
- มีความเข้าใจในสินทรัพย์ลงทุนประเภทต่างๆ รวมทั้งกลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนั้นๆ ด้วย เพราะสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน ก็มีวิธีใช้งานหลายแบบ จะเลือกแล้วถือยาวหน่อย หรือจะซื้อขายทำกำไรไปตลอดทาง ล้วนก็มีคนที่ทำแล้วประสบความสำเร็จทั้งสิ้น
- เมื่อเข้าใจแล้ว ต้องเลือกให้เหมาะกับจริตและข้อจำกัดของตนเอง อย่างตัวผมเองจริตเป็นคนใจอ่อน ไม่ชอบความลำบาก ไม่อยากเจรจาต่อรองกับใคร ผมก็เลือกใช้สินทรัพย์การเงินเป็นหลัก เพราะขืนไปทำอสังหาฯ คงไม่รอด ส่วนกลยุทธ์การลงทุนสมัยที่ผมทำงานก็ใช้วิธีเลือกให้ดี แล้วถือรอเพื่อขายในระยะยาว เพราะข้อจำกัดเรื่องเวลาและทักษะที่ยังน้อย ปัจจุบันชั่วโมงบินมากขึ้น เวลามากขึ้น ก็เริ่มมีการปรับพอร์ตระยะสั้นเพิ่มเข้ามาด้วย
- เลือกแล้วต้องฝึกฝน ฝึกฝน และ ฝึกฝน! เราต้องแปลงความรู้ (Knowledge) ให้เป็นทักษะ (Skill) และฝึกฝนไปจนเชี่ยวชาญ (Mastery) ให้ได้
- ไม่ว่าจะใช้วิธีการไหน เมื่อได้ดอกผลมา อย่าเพิ่งรีบนำมากินมาใช้ เพราะยังมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่าที่ต้องไปให้ถึง ดอกผลต้องถูกนำมาลงทุนต่อ (Reinvest) ต่อยอดไปเรื่อยๆ เพราะการที่เงินจะทบต้นนั้น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่เราใช้ แต่ขึ้นอยู่กับ “วิธีจัดการกับดอกผล” ของเราเอง ถ้าเรานำดอกผลไปใช้หมด มันก็ไม่ทบต้น
หากเราทำ 2 ด่านแรกมาได้ คือมีรายได้ดี และเก็บออมได้มาก มันจะกลายเป็น “กระสุน” เพื่อให้เราใช้ในการผ่านที่ 3 นี้ได้เป็นอย่างดี ผมเห็นบางคนทำ 2 ด่านแรกได้ไม่ดี ก็พยายามมาตะลุยด่านที่ 3 นี้แล้ว เช่น มีเงินทุนเพียงน้อยนิด แล้วก็พยายามจะทำให้เงินน้อยนิดนั้น ทวีค่าเป็นร้อยเท่าพันเท่า ถามว่าเป็นไปได้มั๊ย ก็ต้องตอบว่า “เป็นไปได้” แต่มันจะยากและกินเวลามากทีเดียว
นอกจากนั้น ยิ่งพอเรามีเงินน้อยแล้วหวังมาก ก็ยิ่งทำให้เราเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ที่นำแชร์ลูกโซ่มาเคลือบช็อคโกแลตอาบด้วยคาราเมล แล้วเรียกเครื่องมืออุบาทว์พวกนี้ว่า “การลงทุน” เอามาปนไปมั่วทั้ง FOREX, VC, PP, Start-up, IM โอ้ยสารพัด จนบางทีก็ทำ “ของจริง” เค้าเสียหายไปด้วย เคสล่าสุดที่ผมเจอนี่บ้าบอกันไปใหญ่ คือจะทำเงิน 50,000 ให้กลายเป็นร้อยล้านในเวลา 4 ปี… บ้าไปแล้ว!
ด่านสุดท้าย : PRESERVE รู้จักถนอมรักษา
3 ด่านแรกหากเราพิชิตมาได้สำเร็จ ก็น่าจะพาเราขึ้นไปอยู่บน “ยอดเขาแห่งความสำเร็จ” ซึ่งก็น่ายินดี แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะ “สิ่งที่พาเรามาถึงจุดนี้ อาจไม่ทำให้เราอยู่ ณ จุดนี้ได้อย่างยั่งยืนก็ได้” โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุนต่างๆ ที่เดิมเรา “เสี่ยงเพื่อให้ได้” มาตลอด ถึงจุดหนึ่ง เมื่อมูลค่าพอร์ตเริ่มใหญ่เมื่อเทียบกับเป้าหมาย เราอาจจะพบว่า “ความเสี่ยงขนาดเท่าเดิมมีผลเสียต่อเรามากขึ้น”
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนตอนพอร์ตหลักแสน แล้วหุ้นตกซัก 30% เราก็อาจจะเจ็บนิดๆ แต่ก็ไม่เป็นไร อีกเดี๋ยวเราก็มีเงินมาลงทุนเพิ่ม เงินใหม่ก็ได้เข้าซื้อในช่วงที่หุ้นตก ส่วนเงินเก่าถ้าคิดว่าหุ้นที่เลือกไว้ดีก็สามารถถือรอให้มันกลับมาได้ แต่ถ้าตอนนี้พอร์ตเราขยับขึ้นมาเป็นหลักหลายล้านบาท เช่น 10 ล้าน เวลาเจอติดลบ 30% รอบนี้เงินก็จะหายไปร่วม 3 ล้าน ทีนี้ผลขาดทุนมันจะเริ่มเยอะแล้วน่ะสิ เพราะเงินใหม่ที่เราจะลงทุนเพิ่มก็อาจจะแค่ไม่กี่หมื่น มันจะช่วยถัวเฉลี่ยอะไรได้มากกันเชียว ส่วนเรื่องเวลาที่จะรอให้เงินเก่ามันคืนกลับมา มันก็เหลือน้อยลง หรือต่อให้เหลือเยอะ ความกลัวที่หุ้นมันจะไหลลงต่อมันก็อาจจะทำให้เราทนไม่ไหวเสียก่อนก็ได้
ดังนั้น Action สำคัญสำหรับคนที่พิชิต 3 ด่านมาถึงจุดนี้แล้ว คือการ “อยู่ร่วมกับความเสี่ยงให้ได้” ซึ่งก็อาจทำได้หลายอย่าง เช่น
- ป้องกันก่อนเกิด (Avoid / Prevent) เช่น เราอาจไม่รู้ว่าหุ้นหรือสินทรัพย์ที่เราลงทุนจะตกหนักปีไหน แต่เราน่าจะรู้ว่าเราต้องใช้เงินเมื่อไร ดังนั้นการปรับลดความเสี่ยงลงก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น ก็น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาและรักษาเงินทุนของเราไว้ได้ (คลิ๊ก อ่านตัวอย่าง)
- ลดความเสี่ยง (Reduce) เช่น การเพิ่มระดับของการกระจายความเสี่ยงให้มากขึ้น จากที่แรกๆ เราอาจจะโฟกัสลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์ไม่กี่ตัวได้ แต่ช่วงท้ายอาจต้องอาศัยพลังของหลายๆ สินทรัพย์มาช่วยกัน (คลิ๊ก อ่านเพิ่มเรื่องระดับของการกระจายความเสี่ยง)
- ควบคุมความเสี่ยง (Control) อาจทำได้ในรูปของการเข้าแทรกแซงเมื่อเห็นว่าสถานการณ์เริ่มผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น การตั้งมูลค่าพอร์ตต่ำสุดที่รับได้เอาไว้ (Minimum Portfolio Value) ซึ่งเมื่อวิกฤติการต่างๆ ทำให้มูลค่าพอร์ตลดลงรุนแรงถึงจุดดังกล่าว ก็อาจจะพักการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงไปชั่วขณะ เพื่อรักษามูลค่าพอร์ตไม่ให้ต่ำลงมาก นอกจากนั้นแนวคิดพวก Trailling Stop แบบต่างๆ ก็เป็นแนวทางที่สามารถนำมาใช้เช่นกัน
นอกจากแนวทางการอยู่ร่วมกับความเสี่ยงข้างต้นแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการรักษาเงินในด่านนี้ ซึ่งเป็นด่านที่เราเริ่มจะมีการใช้จ่ายเงินจากพอร์ตของเราแล้ว ก็คือการ “พยายามให้เงินลดลงน้อยที่สุด หรืออยู่กับเรานานที่สุด” ซึ่งก็มี Action สำคัญอาทิ
- การยังคงลงทุนอยู่ โดยที่ให้ได้ผลตอบแทนในระดับที่มากพอ แม้ไม่จำเป็นต้องมากเท่าเดิม แต่ก็ควรมี เพื่อให้ยังมีดอกผลมาใช้จ่าย หรือถ้าดอกผลใช้จ่ายไม่พอ อย่างน้อยก็จะได้กินเงินต้นน้อยลงกว่าการไม่ลงทุนเลย
- การใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น แม้เราจะมีเงินมากแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้โดยไม่คิดได้ ซึ่งถ้าเราฝึกด่านที่ 2 มาดี ถึงจุดนี้เราจะไม่มีปัญหาอะไรมาก เพราะ “ความพอประมาณ ความมีเหตุผล” มันน่าจะกลายเป็นอุปนิสัยของเราแล้ว ซึ่งมันจะต่างกับบางคนที่อยู่ดีๆ ก็รวยขึ้นมาเฉยๆ (เช่นจากการถูกรางวัลบ้าง จากการรับมรดกบ้าง) เพราะคนกลุ่มนั้นอาจจะไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ดีพอ มีเท่าไรก็จึงหมดได้เท่านั้น
บทสรุป
4 ด่านสำคัญข้างต้น เป็นเส้นทางหลักๆ ที่ผมเชื่อว่าทุกๆ คนต้องผ่าน ในการที่จะเดินทางสู่ความสำเร็จทางการเงิน ซึ่งแต่ละด่านนั้นมันไม่ได้ขึ้นกับวัยหรืออายุ นั่นคือคนอายุมากก็อาจจะยังไม่ผ่านด่านแรกก็ได้ หน้าที่ของเราคือการทำความเข้าใจตัวเองว่า เรากำลังอยู่ในด่านไหน ? เพื่อที่จะได้สามารถโฟกัสเรี่ยวแรงและเวลาของเราไปพิชิตด่านนั้นๆ ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับศึกในด่านถัดๆ ไปด้วย
หากเราค่อยๆ เดินไปในแต่ละด่านของชีวิต ด้วยความรับผิดชอบต่อตนเอง รู้หน้าที่ รู้สิ่งที่ควรทำ ผมเชื่อว่านอกจากความมั่งคั่งหรือความร่ำรวยที่จะเพิ่มขึ้นไปอย่างยั่งยืนแล้ว เราจะเติบโตขึ้นในด้านอื่นๆ ของชีวิตด้วย ถึงวันนั้นเราน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดี ที่อย่างน้อยก็ให้ลูกหลานในครอบครัวได้เห็น และมีส่วนช่วยให้ประเทศชาตินี้แข็งแรงขึ้น เพราะประเทศก็ประกอบด้วยหน่วยเล็กๆ ก็คือพวกเราแต่ละคนนั่นเอง