ผมได้รับอีเมล์จากน้องท่านหนึ่ง ถามมาว่า…

อีกสามเดือนผมจะอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์  และผมอยากที่จะเล่นดนตรีต่อไปโดยที่ไม่สนใจเรื่องเงินไปตลอดชีวิต

คือผมเรียนทางด้านดนตรี เลยอยากจะขอคำแนะนำด้านการลงทุนในระยะยาวเพื่อการเกษียณจากพี่อะครับ โดยผมจะเก็บเงินระหว่างเรียนอยู่ลงทุนเดือนละ 1,000 บาท และผมสนใจในหุ้นที่มีปันผล ผมเลยคิดว่าถ้าผมลงทุนหุ้นโดยจะซื้อหุ้นให้มันได้ปันผลรวมกันประมาน 15% ต่อปี เป็นความคิดที่ดีไหมครับ รบกวนพี่เอช่วยแนะนำผมหน่อยครับ


 

เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะสามารถทำสิ่งที่เรารัก (ในที่นี่คือการเล่นดนตรี) โดยที่ไม่ต้องสนใจเรื่องเงินไปตลอดชีวิต ?

คำตอบสำหรับคำถามนี้ อยู่ที่เราตีความคำว่า “ไม่ต้องสนใจเรื่องเงิน” ไว้แบบไหน ถ้าหมายถึงการที่เรามีเงินลงทุนในสินทรัพย์อะไรสักอย่าง แล้วให้มันจ่ายกระแสเงินสด (Passive Income) ให้เรากินเพียงพอไปตลอดชีวิต โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลยนั้น คำตอบคือ “เป็นไปไม่ได้” ครับ

สาเหตุเพราะทุกๆ อย่างมันมี “ความไม่แน่นอน” และ “ความไม่จีรัง” มาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ซึ่งหากเจาะจงไปที่ “เงินปันผลจากหุ้น” ซึ่งแบ่งจ่ายออกมาให้เราจาก “ผลกำไรของกิจการ” มันก็มีหลายๆ เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ต่อให้เราเลือกหุ้นนั้นมาอย่างดีที่สุด เช่น

  • สินค้า/บริการ เสื่อมความนิยม หรือมีสินค้าใหม่ๆ มาทดแทน
  • มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร หรือทีมงานสำคัญ
  • มีข้อพิพาททางกฎหมาย ทางสัมปทาน ทางสัญญาต่างๆ
  • มีภัยสงคราม วิกฤตการทางการเมือง ความขัดแย้งต่างๆ
  • มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการจ่ายเงินปันผล
  • ฯลฯ

ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านั้น ก็มีโอกาสที่จะกระทบเงินปันผลในอนาคตได้ทั้งสิ้น หรือต่อให้ใช้ทรัพย์สินประเภทอื่นมาสร้างกระแสเงินสดแทน ไม่ว่าจะเป็น อสังหาริมทรัพย์ (ทั้งลงทุนเองโดยตรง หรือซื้อผ่านกองทุน) หุ้นกู้ พันธบัตร หรือกระทั้งเงินฝากธนาคาร ก็หนีความไม่แน่นอนไม่พ้นเช่นกัน เพียงแต่ความไม่แน่นอนนั้น มันแค่เกิดจากคนละปัจจัยเท่านั้น

หรือต่อให้การลงทุนของเราไม่มีอะไรผิดพลาดเลย ก็ยังมีความไม่แน่นอนด้านอื่นเกิดขึ้นกับชีวิตของเราได้อยู่ดี อาทิ การเจ็บป่วยของเราและคนในครอบครัว ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายสูงและรวดเร็ว อาจเกินกว่าที่เราทำประกันไว้ หรือบางทีต้องเข้าไปร่วมรับผิดชอบกับความเสียหายทางการเงิน/หนี้สินที่เราไม่ได้ก่อ แต่ญาติมิตรเราก่อ ในบางกรณีแปลกกว่านั้น คือเรามีความต้องการมากขึ้นกว่าที่เคยวางแผนไว้ทำให้พอร์ตลงทุนเดิม ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ฯลฯ

ดังนั้น ยังไงเสีย เราก็ยัง “ต้อง” สนใจเรื่องเงินอยู่ดี เพียงแต่หากเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี คือ มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ดี เราอาจจะไม่ต้องหมกมุ่นหรือให้เวลากับมันเยอะมากเหมือนกับคนที่ยังไม่พร้อม ซึ่งนั่นอาจหมายถึง การต้องดำเนินกระบวนการต่างๆ อาทิ

  • การเผื่อส่วนต่างระหว่างรายได้จากทรัพย์สิน (Passive Income) กับรายจ่ายที่เราอยู่ได้อย่างมีความสุขให้มากพอ เพราะแม้การมี Passive Income ที่เพียงพอกับรายจ่าย ในอัตราส่วน 1:1 จะถือว่าโอเคแล้ว (เช่น ใช้จ่าย 50,000 มี Passive Income 50,000) แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า รายจ่ายเปลี่ยนแปลงได้เสมอ อย่างน้อยก็จากเงินเฟ้อซึ่งทำให้ข้าวของราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ นี่ยังไม่นับรายจ่ายพิเศษต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอด ซึ่ง Passive Income เดิมที่เตรียมไว้แค่พอดีอาจไม่เพียงพอ บางคนก็เลือกที่จะสะสมทรัพย์สินเพื่อให้มี Passive Income เผื่อเหลือเผื่อขาดมากกว่ารายจ่ายไว้ประมาณหนึ่ง เช่น 1.5 หรือ 2 เท่าของรายจ่ายก็มี แต่ถ้าเผื่อมากไป ก็อาจต้องใช้เวลาและความพยายามมากกว่าจะบรรลุได้
  • การมีทรัพย์สินที่สร้างกระแสเงินสด (Income-Paying Asset) หลายประเภท เพื่อกระจายแหล่งที่มาของ Passive Income เช่น แทนที่จะมีรายได้จากเงินปันผลของหุ้นอย่างเดียว อาจมีค่าเช่าจากอสังหาริมทรัพย์ และดอกเบี้ยรับจากตราสารหนี้ หรือค่าลิขสิทธิ์จากทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ อาทิ งานด้านดนตรีของน้อง ร่วมด้วย
  • นอกจากทรัพย์สินหลายประเภทแล้ว ภายในแต่ละประเภททรัพย์สินก็ควรต้องมีการกระจายจำนวนทรัพย์สินไว้พอสมควรด้วย คือไม่พึ่งพิงรายได้จากหุ้นเพียงไม่กี่ตัว หรืออสังหาฯ เพียงไม่กี่แห่ง เพราะเมื่อเกิดความเสียหายกับหลักทรัพย์นั้น อาจกระทบกับฐานะการเงินเราได้มาก
  • การต้องหมั่นติดตาม ตรวจสอบ ปรับกลยุทธ์ในการลงทุนอยู่เป็นระยะ อย่างที่ได้บอกไปว่าทุกๆ อย่างมีความไม่แน่นอน แนวคิดที่จะคงการลงทุนในหุ้นตัวเดิมๆ โดยไม่เปลี่ยนแปลง ถือเป็นแนวความคิดที่อันตรายมาก เพราะบทธุรกิจจะแย่ หุ้นจะตก มันอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น ถ้าอยู่ดีๆ พอร์ตหุ้น Passive Income เลี้ยงชีพของเรา เกิดผิดพลาด มีมูลค่าลดลงสักครึ่งหนึ่ง เราอาจผวาถึงขั้นนอนไม่หลับได้ ซึ่งในอดีตก็มีหุ้นชื่อดีๆ จำนวนมากที่ลดมูลค่าลงได้ 30-50% ในเวลาอันสั้น

ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น นั่นคือสิ่งที่เราต้องทำในช่วงที่มีทรัพย์สินสร้างกระแสเงินสดอยู่ในสเกลที่ใหญ่พอสมควรและเราเลือกที่จะพึ่งพิงรายได้จากทรัพย์สินเหล่านั้นไว้เลี้ยงชีพแล้ว จะเห็นว่ายังไงก็ต้องมีการจัดการอยู่ดี ไม่ใช่แค่การเอาเงินไปวางไว้แล้วนั่งเฉยๆ รอรับปันผลเป็นแน่แท้

ซึ่งจากประสบการณ์ตรงของพี่ บอกได้เลยว่า ยิ่งพอร์ตใหญ่ขึ้น ยิ่งบริหารยากขึ้น และยิ่งต้องมีทักษะในการบริหารจัดการที่แน่นขึ้นเรื่อยๆ แต่หากเราค่อยๆ สะสมทักษะและประสบการณ์ไปทีละลำดับๆ ตั้งแต่วันนี้การบริหารจัดการในวันหน้า มันจะไม่เกินความสามารถเราและไม่ได้ใช้เวลามากมายอะไรหรอกครับ เว้นแต่เราฉาบฉวย ได้กำไรมาแบบฟลุ๊คๆ หรือแทงตามๆ เค้าไปโดยไม่ได้พัฒนาตัวเองตามไปด้วย เห็นพอร์ตใหญ่ๆ แว๊บเดียวก็เล็กลงได้


มันเริ่มยากตั้งแต่วันนี้ด้วยซ้ำ!

ความยากจริงๆ มันไม่ได้อยู่แค่ที่ปลายทางอย่างทีเขียนไปข้างบน แต่มันเริ่มต้นเลยตั้งแต่วันนี้

อย่างที่น้องบอกว่าจะเริ่มลงทุนเลยตั้งแต่ยังเรียนไม่จบเดือนละ 1,000 บาทนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีมากครับ การเริ่มเร็วมันก็เป็นแต้มต่ออย่างหนึ่ง เพียงแต่มันอาจจะยังไม่เพียงพอก็ได้ อย่างเงินเดือนละ 1,000 บาทเนี่ย สมมติว่าเราลงทุนได้ผลตอบแทนสัก 8-15% ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่นักลงทุนจำนวนมากคาดหวังกัน

  • ในเวลา 10 ปี ต้นทุนรวมเท่ากับ 120,000 บาท
    หากได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% เงินก็จะโตเป็น 182,946 บาท
    หากได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% เงินก็จะโตเป็น 204,844 บาท
    หากได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 12% เงินก็จะโตเป็น 230,039 บาท
    หากได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 15% เงินก็จะโตเป็น 275,217 บาท
  • ในเวลา 20 ปี ต้นทุนรวมเท่ากับ 240,000 บาท
    หากได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% เงินก็จะโตเป็น 589,020 บาท
    หากได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% เงินก็จะโตเป็น 759,369 บาท
    หากได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 12% เงินก็จะโตเป็น 989,255 บาท
    หากได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 15% เงินก็จะโตเป็น 1,497,239 บาท
  • ในเวลา 30 ปี ต้นทุนรวมเท่ากับ 360,000 บาท
    หากได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% เงินก็จะโตเป็น 1,490,359 บาท
    หากได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% เงินก็จะโตเป็น 2,260,487 บาท
    หากได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 12% เงินก็จะโตเป็น 3,494,964 บาท
    หากได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 15% เงินก็จะโตเป็น 6,923,280 บาท

จะเห็นว่ากรณีลงทุนแค่ 10-20 ปี ต่อให้ได้ผลตอบแทนดีมากๆ คือ 15% ต่อปี เงินก็ยังโตได้ไม่มาก หรือถ้าลงทุนไปถึง 30 ปี (ซึ่งตอนนั้นน้องก็อายุประมาณ 50 แล้ว) ตีให้ได้ผลตอบแทน 15% พอร์ตจะใหญ่ประมาณ 6.9 ล้าน แล้วสมมติให้สามารถนำไปจัดพอร์ตสร้าง Passive Income ได้สัก 8% ต่อปี (ซึ่งถือว่าสูงแล้ว) ก็จะได้ Passive Income ปีละ 6,923,280 x 8% = 553,862 บาท หรือตกเดือนละ 46,155 บาท ซึ่งดูเหมือนจะเยอะ แต่หากตีเรื่องเงินเฟ้อเข้าไป เงิน 4 หมื่นบาทในอีก 30 ปีข้างหน้า ก็เทียบเท่าเพียงประมาณ 2 หมื่นบาท ตามค่าเงินในปัจจุบัน

ซึ่งต่อให้น้องใช้จ่ายด้วยเงินเท่านี้พอ แต่ระยะเวลา 30 ปีมันก็อาจจะนานเกินไป กว่าที่น้องจะได้หมดห่วงเรื่องเงินและได้ทำสิ่งที่รักอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นการทำผลตอบแทนเฉลี่ยให้ได้ 15% ต่อปี ในระยะเวลาที่ยาวขนาดนั้น ก็บอกเลยว่าไม่ง่าย และไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่าเราจะทำได้จริง


หากต้องการจริงๆ… ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์ทั้งหมดที่มี

เครื่องยนต์ทั้งหลายที่ว่า คือการมองย้อนเข้ามาหา “สิ่งที่เรามี” และ “จัดการได้” แล้วพยายามทำทุกปัจจัยให้ดีที่สุด ซึ่งสำหรับพี่เองนั้นคิดว่ามี 3 สิ่งที่เราสามารถจัดการได้ นั่นคือ

1. พัฒนาทักษะในการหารายได้ให้ดีที่สุด

คนเรานั้นมี 1 สมอง 2 มือ และเวลา 24 ชั่วโมงเหมือนๆ กัน แต่ทำไมคนแต่ละคนกลับมีรายได้ต่างกันอย่างมาก เราก็ต้องคิดล่ะครับว่าจากจุดที่เรายืนอยู่นี้ เราจะทำอะไรได้บ้างที่ช่วยปลดปล่อยศักยภาพของเราออกมาและมีคนยินดีจ่ายให้กับ “คุณค่า” ของเรา พี่เองแม้จะเคยเป็นมือกลองมาบ้างในช่วงสั้นๆ แต่ก็แค่มือสมัครเล่น ก็คงตอบแทนไม่ได้ว่าเส้นทางของ “นักดนตรี” นั้น เราทำอะไรได้บ้าง เพื่อปลดล๊อครายได้ของเรา

เราคงต้องถามตัวเองว่า…

  • ถ้ามันจะต้องเป็นงานประจำ เราควรจะทำงานไหน ที่ไหน และเค้าต้องการคนแบบไหน เรามีคุณสมบัติเหล่านั้นแล้วหรือยัง ถ้ายังเรายังพัฒนาอะไรได้มั๊ย ?
  • หรือมันทำอย่างอื่นได้ด้วย เรามีงานอิสระด้วยได้มั๊ย เช่น งานเล่นอาชีพ งานสอน (เดี่ยว กลุ่ม หรือสอนออนไลน์) การมีผลงานเป็นของตัวเอง (แบบดั้งเดิม หรือมี Channel บน YouTube) ถ้ามันต้องใช้ทักษะความรู้ที่เรายังไม่มี ก็ต้องเปิดโลกทัศน์ตัวเอง ออกไปลองศึกษาดูมั๊ย ?
  • นอกจากงานดนตรีโดยตรง เราทำอย่างอื่นได้อีกมั๊ย เพราะเราอาจจะมีรายได้จากสิ่งอื่นก็ได้ บางทีอาจเป็นธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งที่เรามีความรู้เฉพาะทาง หรือบางทีอาจเป็นอย่างอื่นไปเลย

การมีรายได้ที่ดีนั้น มันให้พลังเราได้หลายอย่าง ทางวัตถุก็คือความสามารถในการออมและลงทุนที่ดีขึ้นชัดเจนเพราะระหว่างคนรายได้ 2 หมื่น กับคนรายได้ 5 หมื่นนั้นพลังในการออมย่อมต่างกันเยอะ แต่นอกจากเรื่องวัตถุแล้ว ผมยังพบว่า รายได้ที่ดียังให้พลังใจกับเราได้ด้วย เพราะมันทำให้เราทำงานสนุกขึ้นมาก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น… มันก็จับมือกันทำไม่ได้ อยู่ที่น้องแล้วครับว่าจะขวนขวายแค่ไหน

2. บริหารรายจ่ายให้ดี อย่าด่วนซื้ออะไรที่เป็นภาระหนักต่อเนื่องยาวนาน

การมีบ้าน มีรถเป็นของตัวเองนั้น เป็นความฝันและธรรมเนียมปฏิบัติของหลายๆ คน มันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ และความสุขสบายหลายๆ อย่าง แต่ก็เป็น Passive Expense ที่ดึงเงินออกจากกระเป๋าเราไปอย่างยาวนานด้วย

  • การเร่งซื้อรถเล็กๆ สักคัน ราคาประมาณ 5 แสน คงต้องเสียเงินดาวน์หลักแสน และต้องผ่อนเดือนละ 8-9 พันบาท รวมค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน และค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว อาจต้องจ่ายเดือนละร่วม 15,000 ปีนึงก็ตก 180,000 บาท
  • การรีบซื้อบ้าน/คอนโดเล็กๆ สักหลัง ราคาประมาณ 2 ล้าน เงินดาวน์ ค่าใช้จ่าย และค่าตกแต่งเมื่อเข้าอยู่น่าจะแถวๆ 3 แสน ค่างวดและส่วนกลางตกเดือนละ 12,000 ปีนึงก็ 144,000 บาท
  • ซื้อรถและซื้อบ้านเร็ว เราจะเสียความสามารถในการออมและลงทุนไปประมาณ 180,000 + 144,000 = 324,000 บาท/ปี ถ้ารีบซื้อเร็วไป 10 ปีก็คิดเป็นเงินประมาณ 324,000 x 10 = 3.24 ล้านบาท ซึ่งอาจสามารถนำไปลงทุนสร้างทรัพย์สินเพื่อนำมาตอบโจทย์อิสรภาพที่ต้องการได้เร็วขึ้น

ผมคิดว่าวัยหนุ่มสาวมีความได้เปรียบอย่างมากคือยังเป็นวัยที่ “ทนลำบากได้” และ “ยังไม่ติดสบาย” ดังนั้น หากจัดลำดับให้ดี ไม่เร่งรีบซื้อของใหญ่ๆ เร็วเกินไป แต่นำมาลงทุนสร้างทรัพย์สินไปก่อน เงินออมของน้องคงไม่ใช่แค่หลักพัน แต่มากกว่านั้น

3. ลงทุนในสินทรัพย์อย่างคนที่รู้จริง ให้มีผลตอบแทนที่ดี

เครื่องยนต์ 2 เครื่องแรก ช่วยให้เรามี Input สำหรับการลงทุนที่ดี แต่ผลลัพธ์การลงทุนจะดีแค่ไหนนั้น มันอยู่ที่ว่า “เราเป็นนักลงทุนที่ดีแค่ไหน ?” เพราะการลงทุนนั้น หากมุ่งหวังผลตอบแทนที่ดีแล้ว มันมีรายละเอียด มีงานที่ต้องทำเยอะแยะมากมาย ไม่ได้ง่ายๆ แค่ไปถามเอาจากเซียน “แต่ต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นเซียนเสียเอง”

หากน้องสนใจหุ้น ก็ต้องลงไปศึกษาเชิงลึก เพราะการลงทุนหุ้นก็มีหลากหลายวิธี ทั้งรูปแบบการลงทุนว่าจะลงเองโดยตรง หรือจะลงทุนผ่านกองทุนหุ้น ทั้งวิธีการตัดสินใจซื้อขาย ก็ยังมีแนวปัจจัยพื้นฐาน แนวเทคนิค และแนวอื่นๆ อีกมากมาย กรอบเวลาในการลงทุนก็มีตั้งแต่สั้นๆ แบบจบในวัน ไปจนถึงการถือเป็นปีๆ กลยุทธ์ของเราเป็นแบบไหน เราตัดสินใจได้ด้วยตัวเองหรือไม่ จะซื้อตัวไหน ซื้อเมื่อไร ขายเมื่อไร และเมื่อลงทุนไปแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้มีการติดตามมั๊ยว่าสำเร็จแค่ไหน รู้มั๊ยว่าวัดยังไง… ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ต้องรู้ ซึ่งคงต้องเรียนและหาประสบการณ์อีกเยอะ… รับประกันผลลัพธ์ก็ไม่ได้ มีแค่ทางเลือกเดียวคือ “ต้องตั้งใจศึกษาให้มันต่อเนื่องทั้งภาคหลักการและภาคปฏิบัติ”

หากน้องสนใจอสังหาริมทรัพย์ เพราะยังมีเครดิตทางการเงินเหลือเฟือจากการที่ยังไม่ได้รีบซื้อบ้านซื้อรถ เส้นทางนี้ก็ไม่ได้ต่างไปจากหุ้น คือต้องศึกษาให้ลึกซึ้ง รู้รึยังว่ามันลงทุนแบบไหนได้บ้าง ต้องดูปัจจัยอะไรบ้าง ซื่้อลงทุนมันเหมือนกับซื้ออยู่เองมั๊ย ทำเลดีคือแบบไหน ราคาไหนลงทุนได้ ลงทุนเสร็จทำกำไรยังไง ปล่อยเช่า หรือรอขายต่อ กฎหมาย ภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องดูอะไรบ้าง… มันไม่ได้ง่ายและฉาบฉวย

ทั้งหมดรวมลงที่คำๆ เดียวคือ

เรารู้จริงรึเปล่า ?

เพราะถ้ารู้จริง ยิ่งลงทุนไปนานเข้าๆ จะยิ่งต้องมีกำไรมากขึ้น

เครื่องยนต์ 3 ตัว ทั้งรายได้ รายจ่าย และ ผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น หากเราพยายามทำทุกๆ ปัจจัยให้ดีที่สุดร่วมกันไป โอกาสในการเข้าถึงเส้นชัยมันก็ย่อมเร็วขึ้น จริงอยู่ว่า มันอาจจะไม่ได้เลิศเลอเพอร์เฟคไปทุกอย่างตามที่ใจคิด แต่มันก็คงดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย


หรือ…ปรับความคิดเสียใหม่ ?

จริงๆ แล้ว เส้นทางที่สมดุลที่สุด อาจไม่ใช่การเร่งให้มีเงินเยอะๆ เร็วๆ ก็เป็นได้ แต่เป็นการวางแผนชีวิต และวางแผนการเงินให้พอเหมาะพอดี แล้ว Enjoy ชีวิตเลยตั้งแต่วันนี้ เพราะบางทีแค่…

  • เราได้ทำงานที่ดี เลือกงานที่ได้ใช้ทักษะที่เรารักและทำได้ดี มีรายได้ที่มั่นคง มีงานเสริมนิดหน่อย เลือกที่ทั้งได้เงินและเราเองก็อยากทำด้วย เป็นคนมีรายได้สองทาง แม้จะเป็น Active Income ทั้งคู่ แต่เราก็รักมัน ทำงานไป ก็เติบโตในสิ่งที่รักไปด้วยได้ ไม่เห็นต้องมีเงินก่อน
  • ซื้อรถ-ซื้อบ้านตามปกตินั่นหล่ะ แต่ก็ไม่รีบซื้อเกินไป มีเงินเก็บสักก้อนก่อนเพื่อเป็นความมั่นคงในชีวิตและใช้ในการลงทุนต่างๆ ได้ด้วย ถึงเวลาจะซื้อก็เลือกให้พอดีตัว อย่าฝืนจนทำให้การเงินตึงไปหมด ก่อนซื้อคิดไตร่ตรองให้ดีว่า ซื้อแล้วยังต้องมีเงินเหลือไปจัดการชีวิตด้านอื่นๆ ซื้อแล้วชีวิตต้องดีขึ้น ไม่ใช่แค่ซื้อตามความอยากไปเรื่อย
  • แบ่งเงินส่วนหนึ่งมาจัดการความเสี่ยง เก็บเป็นเงินสำรองเผื่อขาดรายได้ แบ่งซื้อประกันสุขภาพ ประกันชีวิตเท่าที่จำเป็น เลือกแบบประกันให้เป็น เน้นความคุ้มครองหน่อย จะได้เหลือเงินไปลงทุน
  • มีเงินส่วนที่เหลือเพื่อมาซื้อ LTF/RMF เป็นทุนเกษียณ ทยอยลงทุนไปเรื่อยๆ อย่างมีเป้าหมาย เงินนี้จะเป็นหลักประกันในวันที่แก่เฒ่าว่าอย่างน้อย ณ วันนั้นหากหมดเรี่ยวแรงจะทำงานที่รักแล้ว ก็ยังมีเงินก้อนไว้เลี้ยงตัว ไม่เป็นภาระลูกหลาน และภาระสังคม
  • เมื่อมีเงินเหลือ มีรายได้พิเศษมา หรือมีเครดิตทางการเงินที่สามารถนำมาลงทุนได้ ก็นำมาลงทุนในเครื่องมือที่เราได้ศึกษามาและเข้าใจมันอย่างดี เพื่อสะสมทุนสร้างทรัพย์สินไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอแก่

มันคือการให้ความสำคัญกับความสุขปัจจุบัน แต่ก็ไม่ละเลยความสุขในอนาคต ได้ใช้เวลากับงานที่มีความหมายต่อตนเอง ใช้ชีวิตอย่างมีภูมิคุ้มกัน เมื่อมีภัยมาเล็กๆ ก็มีเงินสำรองไว้รับมือ ภัยใหญ่มาก็มีประกันต่างๆ ไว้คอยคุ้มกัน แก่ไปก็มีทุนเกษียณก้อนหนึ่งไว้เป็นแหล่งรายได้ในยามอ่อนแรง ระหว่างนั้นก็มีโอกาสได้สร้างทรัพย์สิน สร้างฐานะในเครื่องมือที่เรามีความรู้และถนัดเป็น Option เสริม…

สำหรับใครที่คิดได้แบบนี้ สุดท้ายการเกษียณได้เร็วสำหรับเค้านั้น “มันจะถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง”
แต่ด้วยการวางแผนที่ดี เค้าก็น่าจะยังมีชีวิตที่ดีและมีความสุขในแบบฉบับของตัวเองได้
เผลอๆ อาจจะ Happy กว่าคนที่มุ่งเก็บเงินแบบเอาเป็นเอาตายเสียอีก

หากน้องได้เรียนหลักสูตร “การเงินพื้นฐาน” ที่ดี จะช่วยให้เรามีมุมมองที่ “กว้าง” และ “สมบูรณ์” ขึ้น และพี่เชื่อว่าคำถามที่น้องถามมาจะเปลี่ยนไป หรือบางทีอาจจะสามารถตอบตัวเองได้โดยไม่ต้องถามด้วยซ้ำ พี่ก็อยากชวนให้มาเรียนหลักสูตร Financial Foundation หรือ Money Literacy ด้วยกันสักครั้งหนึ่งก่อน (เรียนอันใดอันหนึ่งก็ได้) เพราะเรื่องเงินนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องการลงทุนกับการเกษียณ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องคำนึงถึง

แล้วลองเลือกเส้นทางที่เหมาะกับตัวเองดูนะครับ

TSF2024