Equity_Dividend_AAcademy

1. กองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล โดยทั่วๆไปแล้ว
จะจ่ายเงินปันผลออกมาให้เราเฉลี่ยปีละกี่ % ของเงินต้นที่เราซื้อกองทุนตัวนั้นไปครับ ?

2. ที่ผมเน้นกองทุนรวมหุ้นเพราะผมคิดว่ากองทุนประเภทนี้
น่าจะจ่ายปันผลให้เรามากกว่ากองทุนประเภทอื่นๆ (แต่หากผมคิดผิดประการใดช่วยชี้แนะด้วยครับ) ?

3. ที่ผมเจาะจงว่าเป็นกองทุนรวมที่มีการจ่ายปันผล เพราะผมต้องการเอาเงินปันผลของกองทุน
นำมาเป็น “ค่าใช้จ่ายแบบประจำ” น่ะครับ แบบนี้คิดถูกรึเปล่าครับ

หรือว่ามีคำแนะนำที่เป็นทางเลือกให้ผมได้ก็ยินดีเลยครับ
ส่วนกองทุนที่ไม่จ่ายเงินปันผล ผมคิดว่าจะเก็บเป็นมรดกหรือเป็นทุนรอนในอนาคต


 

คำตอบ

ขอตอบเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

ข้อ 1

การจ่ายเงินปันผลของกองทุนนั้นจะมีการกำหนด “นโยบายการจ่ายเงินปันผล”
เป็น % อิงตามผลกำไรสะสม/กำไรสุทธิของกองทุนในแต่ละงวด ไม่ได้อิงตามเงินต้นที่เราลงทุนไปครับ

ผมยกตัวอย่างกองทุนหุ้นปันผลที่ค่อนข้างมีการพูดถึงเยอะสัก 3 ตัวอย่างนะครับ
(ไม่ได้บอกว่ากองทุนที่ยกมานี้ดีหรือไม่ดีนะครับ)

1) MFC HI-DIV

มีนโนยายการจ่ายเงินปันผลว่า

อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น

ที่มา : http://www.mfcfund.com/mfc/incfile/ffs_type2_th.php?fundcode=HIDIV&fundtype=ofle

2) SCBDV (ไทยพาณิชย์หุ้นทุนปันผล)

มีนโนยายการจ่ายเงินปันผลว่า

ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จากกำไรสะสมหรือกำไรสุทธิในงวดบัญชี
ทั้งนี้ขอสงวนสิทธิ์ไม่จ่ายเงินปันผล กรณีที่เงินปันผลในงวดนั้นน้อยกว่า 0.10 บาท/หน่วย
และการจ่ายเงินปันผลต้องไม่ทำให้กองทุนรวมมีผลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นในงวดบัญชีที่จ่ายเงินปันผลนั้น

ที่มา : http://www.scbam.com/v2/user_upload/FUND_DOC/Full_Pro/SCBDV.pdf (หน้า 2)

3) KFSDIV (กรุงศรีหุ้นปันผล)

มีนโนยายการจ่ายเงินปันผลว่า

ไม่เกินปีละ 12 ครั้ง โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานสิ้นสุดตามช่วงเวลาที่บริษัทจัดการเห็นสมควร
ในอัตรา 10% ของกำไรสุทธิ/กำไรสะสม

ที่มา : http://www.krungsriasset.com/TH/pdf/FFS_KFSDIV_TH.pdf

จากข้อมูลที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ผมขอสรุปดังนี้ครับ

  • จำนวน/อัตราเงินปันผลจากกองทุนหุ้นนั้น ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนของหุ้นที่กองทุนลงทุน
    ถ้าผลตอบแทนของหุ้นในงวดนั้นๆ ดี ก็สามารถจ่ายเงินปันผลได้ดีตามไปด้วย
  • ผลตอบแทนของหุ้นที่ว่านี้ ไม่ได้นับแค่เงินปันผลที่กองทุนรับมาแต่รวม Capital Gain ด้วย
  • การจ่ายปันผลของกองทุนหุ้น จึงอาจมีการจ่ายออกจากกำไรส่วนที่เป็น Capital Gain
    เสมือนกับการขายหุ้น เอามาจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วย
  • การที่กองทุนไหนจ่ายเงินปันผลมากหรือน้อย
    ขึ้นอยู่กับอัตราการจ่ายเงินปันผลเทียบกับกำไรสุทธิ/กำไรสะสม ที่กองทุนกำหนดไว้
    (เช่น 50% 30% หรือ 10% ของกำไร) ไม่ได้หมายความว่ากองที่ปันผลมาก
    (วัดทั้งเป็นบาท และ เป็น % เทียบเงินต้น) จะมีผลตอบแทนดีกว่ากองที่จ่ายเงินปันผลน้อยกว่า
  • การจะรู้ว่ากองทุนไหนผลตอบแทนดีกว่า
    ควรพิจารณาผลตอบแทนรวม (Total Return) ทั้งจากเงินปันผลที่ได้รับ
    และจาก Capital Gain ของ NAV ที่เพิ่มขึ้น/ลดลง ควบคู่กันไป
  • การพิจารณาผลตอบแทนรวมดังกล่าว สามารถอ่านจากตารางผลการดำเนินงานของกองทุน
    ใน Fund Fact Sheet ได้เลย เพราะผลตอบแทน 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี ที่แสดงในตารางนั้น
    รวมเงินปันผลเข้าไว้ด้วยแล้ว

ข้อ 2

จากความเข้าใจในข้อ 1 ข้างต้น สามารถตอบได้ว่า
กองทุนหุ้นจะจ่ายเงินปันผลได้มากกว่ากองทุนประเภทอื่นๆ ก็ต่อเมื่อ
ผลตอบแทนของหุ้นที่กองทุนลงทุนในปีนั้นสูงเป็นพิเศษ และ/หรือสูงกว่ากองทุนประเภทอื่นๆ

เช่น ปีนั้นหุ้นที่กองทุนลงทุนโดยรวมให้ผลตอบแทน 40%
ถ้ากองทุนมีอัตราการจ่ายเงินปันผลร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิในงวด
กองทุนก็อาจจ่ายเงินปันผลออกมากได้มากถึง 20%
ใครที่ซื้อกองทุนนี้ไว้ ณ ต้นปี ก็จะได้ปันผลคิดเป็น Dividend Yield ถึง 20% ซึ่งสูงมาก

ในทางกลับกัน หากในปีไหนที่ผลตอบแทนของหุ้นที่กองทุนลงทุนไม่ค่อยดี เช่น ได้แค่ 5%
ถ้ากองทุนมีอัตราการจ่ายเงินปันผลร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิในงวด
กองทุนก็อาจจ่ายเงินปันผลออกมากได้เพียง 2.5%
ใครที่ซื้อกองทุนนี้ไว้ ณ ต้นปี ก็จะได้ปันผลคิดเป็น Dividend Yield ถึง 2.5% ซึ่งไม่เยอะมาก
เทียบกับกองทุนประเภทอื่นๆ เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์, กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน, REITs
ซึ่งจ่าย Yield อยู่ประมาณ 4-7% (แล้วแต่กอง) ก็ต้องถือว่าแพ้

และหากปีไหนหุ้นมีผลขาดทุน ก็อาจจะไม่มีการจ่ายเงินปันผลก็ได้

ส่วนในช่วงที่ผ่านมา ที่เห็นว่ากองทุนหุ้นปันผล จ่ายปันผลได้สม่ำเสมอทุกๆ ปี
ก็เพราะตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นมาตลอด จริงๆ แล้วในปีแย่ๆ เช่นปี 2551 (วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์)
กองทุนหุ้นปันผลส่วนใหญ่ ก็ไม่มีการจ่ายเงินปันผลในปีนั้น
หรือถ้าจ่าย ก็เป็นเพียงการจ่ายออกจาก “กำไรสะสม” ซึ่งค้างอยู่ในกองมาตั้งแต่ปีก่อนๆ หน้า
ซึ่งก็มักจะจ่ายกันไม่มาก เพราะถือว่าไม่ใช่กำไรที่แท้จริงในงวดนั้นๆ


ข้อ 3

กองทุนหุ้น ที่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลสามารถนำมาลงทุนเพื่อ “เป็นค่าใช้จ่าย” ได้
แต่ต้องยอมรับว่าอาจ “ไม่สม่ำเสมอ” ทั้งในแง่ของปริมาณเงินที่จะได้รับ และความถี่ที่จะได้รับ
บางช่วงตลาดหุ้นแย่ ก็อาจไม่ได้ปันผลเลย บางช่วงตลาดหุ้นดี ก็ได้ปันผลมากซะจนเกินกว่าที่เราใช้

แล้วก็ต้องยอมรับอีกอย่างว่า ส่วนหนึ่งของเงินปันผลที่ได้ มันก็คือ Capital Gain นั่นเอง
คือกองทุนอาจมีการขายหุ้นที่ลงทุน ออกมาให้เราอัตโนมัติ
แล้วนำมาจ่ายในรูปของเงินปันผลของกองทุน จึงไม่ใช่ว่าเรานำเฉพาะปันผลของหุ้นมาใช้จ่าย

หากให้ผมแนะนำ สำหรับเป้าหมายการลงทุนที่ต้องการรายได้ “ประจำ” นั้น
ผมมีโอกาสได้เขียนบทความให้กับ “วารสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TFPA Bulletin)”
อยากให้อ่านเพิ่มเติมได้ใน หน้าที่ 4 ของ TFPA Bulletin ฉบับที่ 3 ปี 2557

 

TSF2024