ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ผมมี “แรงบันดาลใจเล็กๆ” ที่อาจจะดู ง่ายๆ โง่ๆ แต่มันก็สามารถ “ปลุก” ให้ผมลุกขึ้นมาทำสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยคิดทำมาก่อนในชีวิต
นั่นคือการเริ่มต้น “วางแผนการเงิน” ให้ตัวเองแบบมวยวัด (คือรู้เท่าไรก็ทำเท่านั้น) ด้วยการ เร่งหารายได้ และ ควบคุมรายจ่าย เพื่อเก็บเงินมาลงทุนสร้างฐานะ จนมีทรัพย์สินจำนวนหนึ่งที่สามารถเป็น “หลักประกัน” ให้ผมสามารถออกมาทำ A-Academy ได้ในทุกวันนี้ โดยไม่ต้องกดดันเรื่องเงิน
แรงบันดาลใจเล็กๆ นั้น คือตารางหน้าตาแบบนี้ครับ
ตารางข้างต้นนี้ เป็นตารางที่คำนวณตามหลัก “มูลค่าเงินตามเวลา” หรือ “ดอกเบี้ยทบต้น” เป็นการแสดงให้เห็นว่า หากเราอยากจะมีเงินทุนไว้ใช้เมื่อแก่ตัวหรือเมื่อ “เกษียณอายุ” จำนวน 10 ล้านบาท เราต้องมีเงินทุน ณ ปัจจุบันเท่าใด ? โดยสมมติให้เราสามารถนำเงินจำนวนนั้นไปลงทุนต่อยอดได้ผลตอบแทนตามที่ระบุไว้บนหัวของแต่ละคอลัมน์
ตอนนั้นผมอายุประมาณ 20 กำลังเรียนอยู่ชั้นปี 3 ผมนั่งอ่านตารางนี้อย่างใจจดจ่อ เพราะถ้าผมจะต้องเกษียณตอนอายุ 60 ปี ก็เท่ากับผมมีเวลา 40 ปีในการเตรียมการ ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้ผมยังเรียนไม่จบ ต่อให้ทำงานพิเศษมีรายได้กิ๊กก๊อกเข้ามาเก็บ มันก็ไม่มาก
แต่ถ้าจากวันนี้ ผมเผื่อเวลาให้ตัวเองเก็บเงินไปก่อน สมมติว่าซัก 5 ปี ณ ตอนนั้นผมก็จะอายุประมาณ 25 และจะเหลือเวลาอีก 35 ปี ก่อนเกษียณ ซึ่งจากการอ่านค่าในตารางนี้ จะได้ความว่า…
หากผมอยากมีเงิน 10 ล้านตอนเกษียณ 60 ปี ผมต้องมีเงินเก็บ ณ อายุ 25 ปี เท่ากับ 676,345 บาท โดยต้องสามารถนำเงินนั้นไปลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี แต่ถ้าลงทุนได้ผลตอบแทนดีกว่านั้น เงินที่ต้องใช้ก็จะน้อยลงมากๆ นั่นคือ…
ถ้าลงทุนได้ 10% จะใช้เงินเพียง 355,841 บาท
ถ้าลงทุนได้ 12% จะลดเหลือเพียง 189,395 บาท
และถ้าลงทุนได้ 14% จะยิ่งลดลงเหลือแค่ 101,937 บาท เท่านั้น!
ยังไม่ค่อยเชื่อแฮะ… ขอลองตรวจคำตอบดูสักหน่อย ลองเอาเงินสัก 2 แสนบาท มาบวกดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ทีละ 12% ทำไปซัก 35 ปี เงินจะถึง 10 ล้านจริงมั๊ย ?
ปีที่ 1 : 200,000 + 12% = 224,000
ปีที่ 2 : 224,000 + 12% = 250,880
ปีที่ 3 : 250,880 + 12% = 280,986
ปีที่ 4 : 280,986 + 12% = 314,704
ปีที่ 5 : 314,704 + 12% = 352,468
.
.
.
ปีที่ 33 : 7,516,345 + 12% = 8,418,307
ปีที่ 34 : 8,418,307 + 12% = 9,428,503
ปีที่ 35 : 9,428,503 + 12% = 10,559,924
เฮ้ย… มันถึง 10 ล้านจริงๆ ด้วย ทั้งที่ไม่ได้ใส่เงินเพิ่มไปเลย!
ผมไม่รู้ว่าคนอื่นๆ ที่เห็นตารางนี้คิดเหมือนผมมั๊ย ? เพราะมันก็มีตั้งหลายคนที่เห็น แต่ ณ ตอนนั้นผมบอกเลยว่า “ทึ่ง” สุดๆ… นี่นะหรือที่เค้าเรียกว่า “มหัศจรรย์ดอกเบี้ยทบต้น”
เพราะนั่นหมายถึง ผมก็ไม่ต้องใช้เงินเยอะแยะอะไรในการเตรียมเกษียณ แค่เร่งเก็บเงินให้ได้สัก 2-3 แสนแรก แล้วก็หาวิธีลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยแถวๆ 12% ต่อปีบวกลบนิดหน่อยก็พอ (ซึ่ง ณ ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกครับว่า ต้องทำยังไง)
ทำไมถึงบอกว่า “คุณอาจมีเงินเกษียณ 10 ล้าน อยู่ในมือโดยไม่รู้ตัว”
ที่ผมตั้งชือบทความแบบนั้น… ก็เพราะอยากให้ทุกท่านได้ลองทบทวนตัวเองครับ ว่าทุกวันนี้เรามีทรัพย์สินต่างๆ ที่สามารถนำมาบริหารจัดการได้ คิดเป็นมูลค่าเท่าไร ?
เพราะแม้มูลค่าปัจจุบัน มันอาจจะไม่มาก แต่หากลองนำมาเทียบกับตารางที่ผมให้ไว้ข้างบนดู อาจจะพบว่า ทรัพย์สินที่เรามีวันนี้ ก็พร้อมจะเติบโตเป็นเงินใหญ่หลัก 10 ล้านบาทได้เหมือนกัน… ขอแค่เราจัดการมันให้ถูกต้องเหมาะสม
ตัวอย่างเช่น ถ้าท่านใดอายุ 35 ปี แล้ววางแผนจะเกษียณเมื่ออายุ 60 นั่นคือ มีเวลาให้ลงทุนก่อนเกษียณทั้งสิ้น 25 ปี ตอนนี้ท่านมีทรัพย์สินที่พร้อมให้นำมาบริหารจัดการเท่าไร ? เพราะหากอ้างอิงจากตารางจะพบว่า ถ้าท่านมีทรัพย์สินประมาณ 9 แสนบาท หากนำมาบริหารจัดการให้เติบโตได้เฉลี่ย 10% ต่อปี ท่านก็สามารถ “ต่อยอด” ทรัพย์สินของท่านได้เป็นเงินถึง 10 ล้านบาทแล้วนะครับ!
หรือหากมีน้อยกว่านั้น เช่นมีประมาณ 5-6 แสนบาท ถ้ายังหวังให้เงินโตเป็น 10 ล้าน ก็อาจต้องพยายามศึกษาหาวิธีการที่จะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงขึ้นมาแถวๆ 12% ต่อปี ก็จะบรรลุเป้าเดียวกันได้เช่นกัน
คำถามคือ… ท่านมีทรัพย์สินให้บริหารจัดการอยู่เท่าไรครับ ?
แล้วถ้ายังไม่มีทรัพย์สิน… หรือมีน้อยล่ะ ?
แผนลงทุนเพื่อเกษียณอายุจริงๆ นั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องนำเงินก้อนมาลงทุนเสมอไปหรอกครับ
เรายังสามารถวางแผนเงินลงทุนวิธีอื่นๆ ได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็นการทยอยลงทุนรายเดือน การแบ่งเงินโบนัสรายปีมาลงทุน หรือจะทำทั้งสองแบบควบคู่กันก็ยิ่งดี ทำแล้วจะเพิ่มเงินลงทุนไปเรื่อยๆ ในทุกๆ ช่วงที่รายได้เพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งเร็วขึ้น
นอกจากนั้น หัวใจสำคัญอีกประการหนึ่ง เพื่อให้เรามีเงินมาออมเพื่อสร้างทรัพย์สินเลี้ยงตัว ก็คือการ “บริหารรายรับ-รายจ่ายที่ดี” ซึ่งผมแนะนำให้ทำ Monthly Budget ประกบไปด้วย (ผมเองยังทำอยู่จนถึงทุกวันนี้ครับ)
พูดเหมือนง่ายนะ… ให้ลงทุนได้ 10 – 12% มันทำได้จริงรึเปล่า ?
ถ้าจะเอาแบบง่ายๆ ก็คงทำไม่ได้หรอกครับ แต่ถ้าศึกษา มันก็มีเครื่องมือ และเทคนิควิธีการมากมาย แนะนำให้ศึกษาจากวิดีโอของ A-Academy ตั้งแต่ Series ที่ 8 – 10 ดูนะครับ เรียนแล้วผมเชื่อว่าจะเห็นภาพวิธีการที่ชัดเจนขึ้นแน่นอน
Series 9 : กลยุทธ์การลงทุน (จำนวน 30 ตอน, ความยาว 13 ชั่วโมง)
Series 10 : ลงทุนหุ้นอย่างสบายใจ (จำนวน 23 ตอน, ความยาว 8.5 ชั่วโมง)
บทเรียนทั้งหมดสามารถเรียนได้ฟรีบน YouTube หรือถ้าไม่สะดวกเรียนออนไลน์ มีแผ่น DVD การกุศลสำหรับไว้ดูแบบ Offline จำหน่าย ที่นี่ ครับ