เปิดปีใหม่มายังไม่ทันถึงเดือน ทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 ก็กลับมาเป็นปริศนาให้ทั้งตลาดต้องขบคิดกันอีกแล้วว่า ปีนี้ดอลลาร์จะแข็งค่าหรือจะอ่อนค่าต่อกันแน่
ทั้งที่ฟื้นฐานของดอลลาร์ดูดีกว่าปีก่อนไม่น้อย กฎหมายลดภาษีให้กับบริษัทในสหรัฐก็คลอดออกมาได้สำเร็จ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆก็รอต่อคิวเป็นแถว ตัวเลขเศรษฐกิจก็โดดเด่น ดอกเบี้ยสหรัฐก็น่าจะขึ้นได้ตามแผน หุ้นก็ทำนิวไฮน์ทุกวัน ทำไมมีแต่เงินดอลลาร์เท่านั้นที่ไม่มีวี่แววที่จะฟื้นกลับขึ้นมาเลย และล่าสุดก็อ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินทั้วโลกเฉลี่ยราว 2% ทั้งที่ปีก่อนก็อ่อนค่าไปแล้วถึง 8-10%
World Currency Gain/Loss against USD, past 12 months
Source: Bloomberg
ผมตอบคำถามนี้มาตลอดปี 2017 แม้จะแอบหวังว่าคดีนี้คงจบไปแล้ว แต่ดูท่าว่าปริศนาดอลลาร์อ่อนจะยังไม่ถูกไขกระจ่าง และหลายเหตุผลที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยยังลอยนวลอยู่ในตลาด ถ้าปีนี้เราสามารถจับเหตุผลได้ว่า “อะไรกันแน่ที่เป็นตัวการทำให้ดอลลาร์อ่อน” เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ และช่วยให้เราวางแผนซื้อขายในตลาดเงินปีนี้ได้ดีขึ้นแน่นอน
ผมขอแนะนำผู้ต้องสงสัยทั้งห้าดังนี้
ผู้ต้องสงสัยแรก “ตลาดบอนด์สหรัฐ”
ดูจะให้ผลตอบแทนที่น้อยเกินไป เมื่อต้นทุนอย่างเฟดฟันด์ปรับตัวขึ้นมาถึง 1.5% แต่บอนด์สหรัฐอายุ 10ปีกลับให้ผลตอบแทนเพียงแค่ 2.5% ส่วนต่าง 1% ถือว่าน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2007 ทำให้เงินลงทุนยังต้องไหลออกไปเวียนว่ายอยู่นอกสหรัฐ ไม่ไหลกลับประเทศอย่างที่ฝัน
US Treasury 10yr yield (White) vs Fed Fund Effective rate (Orange)
Source: Bloomberg
“เศรษฐกิจสหรัฐ” คือผู้ต้องสงสัยที่สอง
แม้เราจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีถึง 3.2% ในไตรมาสล่าสุด แต่นั่นยังถือว่าดีไม่พอ เนื่องจากเศรษฐกิจฝั่งประเทศตลาดเกิดใหม่ก็สร้างเซอไพรซ์โตเด่นได้ดีไม่แพ้กันจียยังโตได้ใกล้เคียง 7% ได้อย่างไม่ยาก ยิ่งปีนี้มีปัจจัยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ฟื้นตัวเข้ามาเสริม ไม่น่าแปลกที่นักลงทุนจะเลือกพักเงินในสกุลที่เศรษฐกิจฟื้นแรงกว่า
ผู้ต้องสงสัยที่สามหนีไม่พ้น “นโยบายเศรษฐกิจและการเงิน”
ทั้งนโยบายภาษีข้ามพรมแดนไม่เกิดขึ้นจริง นโยบายส่งเงินกลับประเทศที่ช้าจนตลาดไหวตัวทัน และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่อาจจะเริ่มช้าลง ปัจจัยบั่นทอนค่าเงินดอลลาร์ที่ยังลอยนวลอยู่เช่นกัน
“เงินเฟ้อ” คืออีกหนึ่งผู้ต้องสงสัยที่มีพิรุธมาก
แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวดี แต่เทคโนโลยีและการแข่งขันทางธุรกิจกลับทำให้เงินเฟ้อในสหรัฐนิ่งต่ำกว่า 2% นานจนผิดสังเกตุ เมื่อเงินเฟ้อไม่เข้าเป้าของเฟด การขึ้นดอกเบี้ยก็อาจต้องชะลอ และบอนด์ยีลด์ก็คงอยู่ในระดับต่ำได้ต่อ
US Average Hourly Earnings (White) vs US PCE Inflation (Orange)
Source: Bloomberg
“โดนัลด์ ทรัมป์” คือผู้ต้องสงสัยสุดท้ายและเป็นคนที่คาดเดาได้ยากที่สุด
นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงสับสนและกังวลกับการบริหารงานของทรัมป์ ยิ่งในปีนี้ที่เป็นปีของการเลือกตั้งมิดเทอมในสหรัฐ ความกังวลว่าทรัมป์อาจต้องเจอมรสุมทางการเมืองเป็นชนวนให้นักลงทุนเทขายดอลลาร์ได้อย่างไม่ต้องคิดมาก
Trump Job Approval Poll Average
Source: Real Clear Politics and Bloomberg
ผมเองก็อยากจะพูดว่า “ปริศนาทั้งหมดไขกระจ่างแล้ว” และตัวการที่แท้จริงคือ…
แต่สุดท้ายคงต้องรอให้เวลาและตลาดเป็นคนเฉลยว่าผู้ต้องหาตัวจริงคืออะไร
ถ้ารับบทนักสืบจำเป็น ผมเชื่อว่าคำตอบของปริศนาทั้งหมดอาจอยู่ที่เงินเฟ้อกับการเมืองสหรัฐ นักลงทุนและผู้ประกอบการควรต้องจับตาไปที่สองปัจจัยนี้ให้ดีเพื่อติดตามทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ในปีนี้
จุดกลับตัวของดอลลาร์จะอยู่ที่เงินเฟ้อในสหรัฐว่าสูงขึ้นเหนือ 2% ได้เมื่อไหร่ เมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นไม่สามารถดึงเงินเฟ้อขึ้นได้ในปีที่ผ่านมา ตลาดแรงงานและค่าแรงจะเป็นความหวังสุดท้ายที่ต้องติดตามต่อ
ส่วนในฝั่งการเมือง คงต้องระวังกันไปจนถึงการเลือกตั้งมิดเทอมในสหรัฐที่กำลังจะมีขึ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน ถ้าโดนัลด์ ทรัมป์และพรรครีพับลิกันไม่สามารถผลักดันนโยบายเด่นๆ ขึ้นมาเลี้ยงความเชื่อมั่นของคนสหรัฐได้ต่อเนื่อง เราอาจเห็นการอ่อนค่าของดอลลาร์ที่ลึกเป็นประวัติการณ์เกิดขึ้นในปีนี้เลยก็เป็นได้
จนกว่าปริศนานี้จะไขกระจ่าง ผมเชื่อว่าเราควรระมัดระวังความเคลื่อนไหวของตลาดเงินให้ดี การค้าและการลงทุนควรพิจารณาใช้สกุลเงินท้องถิ่นบ้าง หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ดอลลาร์จริงๆ ก็คงต้องป้องกันความเสี่ยงให้ดี
เพราะปริศนาดอลลาร์อ่อนดูจะไม่ใช่เรื่องที่หาคำตอบได้ง่ายๆเสียแล้ว
การเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชียเทียบกับดอลลาร์
ที่มาบทความ: นสพ. กรุงเทพธุรกิจ 10 มกราคม 2561