Scroogenomics คือแนวคิดและชื่อหนังสือซึ่งเขียนโดย Joel Warlfogel นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน โดยชื่อ Scroogenomics นั้นได้ไอเดียมาจาก Ebenezer Scrooge ชายแก่ขี้เหนียวผู้เกลียดชังเทศกาลคริสต์มาส ในวรรณกรรมเรื่อง A Christmas Carol ของ Charles Dickens
Waldfogel ได้ทำการทดลองสอบถามนักเรียนของเขา เกี่ยวกับของขวัญที่ได้รับช่วงต้นปี โดยแบ่งการสอบถามออกเป็น 2 รอบ รอบแรกคือเดือนมกราคม ซึ่งเขาได้ถามถึงมูลค่าราคาที่แท้จริงของของขวัญที่นักเรียนได้รับ และมูลค่าที่นักเรียนจะยอมจ่ายเพื่อซื้อของขวัญชิ้นนั้นเอง โดยตัดปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึกดีๆ ออกไป ทั้งนี้เพื่อดูว่ามูลค่าสูงสุดที่นักเรียนจะยอมจ่ายเพื่อของชิ้นนั้นคือเท่าไร
ต่อมาในเดือนมีนาคม เขาได้สอบถามนักเรียนว่าเงินจำนวนเท่าไรที่นักเรียนจะยอมรับ เพื่อแทนที่ของขวัญชิ้นนั้น จุดประสงค์คือเพื่อหามูลค่าของขวัญที่ต่ำที่สุดที่นักเรียนจะยอมรับ
ผลลัพธ์ก็คือ โดยเฉลี่ยแล้ว สมมติว่าถ้าได้รับของขวัญที่มีราคา 100 บาท คนรับจะยอมจ่ายเพื่อของชิ้นนั้นแค่ 70 บาทเท่านั้น และถ้าให้เลือกรับเป็นเงินแทนได้ คนจะขอเป็นเงิน 90 บาทเพื่อชดเชยของขวัญชิ้นนั้น
มูลค่า 10-30 บาทที่หายไป คือส่วนสูญเสียทางเศรษฐกิจ (Deadweight Loss) นั่นเอง
แนวคิดนี้ตอกย้ำว่าการให้ของขวัญที่ได้ประสิทธิภาพที่สุดคือการให้ของที่ผู้รับต้องการจริงๆ แม้จะเป็นประโยคที่เข้าใจง่ายแต่เอาเข้าจริงกลับปฏิบัติยาก เพราะในความเป็นจริงแล้ว เป็นการยากที่เราจะล่วงรู้ว่าอีกฝ่ายต้องการของขวัญอะไร จึงมีแนวโน้มสูงว่าสิ่งที่เรามอบให้อาจไม่ตรงใจผู้ซื้อ แม้ว่ามูลค่าจะสูงแต่ถ้าผู้รับไม่ได้ต้องการแล้วละก็ มูลค่าสิ่งของชิ้นนั้นจะตกทันที ซึ่งส่วนต่างระหว่างมูลค่าที่แท้จริงกับมูลค่าที่ผู้รับตีค่านั้น เราเรียกมันว่า Deadweight Loss ซึ่งก็คือความสูญเสียทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรที่ไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์ แปลได้ว่าแทนที่จะซื้อของขวัญที่ผู้รับไม่ได้ต้องการและไม่คิดจะใช้ เราสามารถเอาเงินก้อนนั้นไปทำอย่างอื่นที่เกิดประโยชน์ได้มากกว่า
แนวคิดนี้มองว่าการให้เงินสด และบัตรของขวัญเป็นของขวัญที่มีประสิทธิภาพ เพราะเป็นการถ่ายโอนอำนาจการเลือกของขวัญให้ผู้รับโดยตรง ซึ่งผู้รับสามารถนำเงินหรือบัตรของขวัญไปซื้อสินค้าที่ตัวเองต้องการจริงๆ ได้ มูลค่าของสิ่งของเหล่านั้นก็จะไม่สูญเปล่า เพราะคนที่ซื้อไปนั้นพึงใจที่จะใช้มันจริงๆ
หลายคนต่อต้านแนวคิดนี้ว่าเป็นการมองโลกแบบตีกรอบความเป็นเหตุเป็นผลเกินไป ซึ่งในชีวิตจริงโลกของเราไม่ได้เข้าใจง่ายขนาดนั้น การให้ของขวัญเป็นธรรมเนียมของมนุษย์ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน นอกจากจะเป็นการส่งมอบของแล้ว ผู้คนยังมองว่าเป็นการเฉลิมฉลองและการแสดงความรัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถตีมูลค่าเป็นตัวเลขได้ การเลือกซื้อของแต่ละทีนั้นผู้ซื้อต้องคิดไตร่ตรองและใส่ความใส่ใจเวลาเลือกของ ในขณะเดียวกัน แม้จะไม่ใช่สิ่งของที่ผู้รับต้องการแต่หากได้รับจากบุคคลผู้เป็นที่รัก สิ่งของชิ้นนั้นอาจจะมีมูลค่าทางจิตใจสูงยิ่งกว่าราคาของมันก็เป็นได้
อีกเสียงที่ออกมาสนับสนุนการให้ของขวัญได้ระบุว่าการให้ของขวัญที่ผู้รับไม่ได้พึงพอใจ 100% นั้นอาจไม่ใช่การทำลายระบบเศรษฐกิจเสียทีเดียว เพราะผู้รับอาจจะนำของขวัญที่ตัวเองไม่ชอบนั้นไปขายต่อ หรือไม่ก็อาจจะเกิดแรงจูงใจซื้อของขวัญให้ตัวเองเพื่อทดแทนของขวัญที่ตัวเองไม่ได้ต้องการ ทำให้เม็ดเงินที่ไหลเวียนในเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น
ทางที่ดีเราควรเดินสายกลาง เลือกตัดสินใจเป็นกรณีๆ ไป หากเป็นผู้คนที่เราสนิทสนม รู้จักรสนิยมความชอบของพวกเขาดีพอสมควร การซื้อของขวัญให้กันก็ถือเป็นการแสดงออกทางความรัก ทางมิตรภาพ ที่สำคัญคือเราควรเข้าใจว่าเราไม่จำเป็นต้องซื้อของมูลค่าแพงๆ เพียงเพื่อต้องการจะให้อีกฝ่ายประทับใจ เพราะแม้ว่าสินค้านั้นจะแพงแค่ไหนแต่ถ้าไม่ถูกใจผู้รับเสียอย่าง ของขวัญชิ้นนั้นจะมีประโยชน์อะไร
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
http://setthasat.com/2011/12/22/gift-creates-dead-weight-loss/
https://www.theatlantic.com/business/archive/2011/12/is-christmas-bad-for-the-economy/249618/
http://www.businessinsider.com/consumers-holiday-spending-could-possibly-rescue-the-economy-2011-12
http://content.time.com/time/business/article/0,8599,1938367,00.html