ลางหายนะของหุ้น

ในช่วงเร็ว ๆ นี้เราเริ่มเห็นหุ้นที่มีราคาและมูลค่าตลาดสูงตกลงมาอย่างรวดเร็วจนบางครั้งก็กลายเป็น “หายนะ” มูลค่าหุ้นอาจจะตกลงมาเกินครึ่ง บางตัวตกเกิน 70-80% ในเวลาอันสั้น หุ้นบางตัวนั้น ก่อนที่จะตกลงมาอาจจะถูกมองว่าเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ในสายตาของ “เซียน” และนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อย ช่วงที่สูงสุดนั้นหุ้นมี Market Cap. เป็นแสนล้านบาทและผู้บริหารพูดว่าจะโตไปอีกหลายเท่าในเวลาไม่กี่ปี แต่ภายในเวลาไม่กี่เดือนกลับเหลือมูลค่าแค่หมื่นกว่าล้านบาทอย่าง “ไม่คาดคิด” แต่ความจริงก็คือ ผมคิดมานานแล้วว่าวันหนึ่งเหตุการณ์นี้ก็น่าจะต้องเกิดขึ้น เพราะเมื่อวิเคราะห์ดูถึง “พื้นฐาน” ที่ควรจะเป็นตามขนาดของธุรกิจและความสามารถในการทำกำไร “ตามธรรมชาติ” นั้น ผมคิดว่าหุ้นไม่ควรมีมูลค่าถึงแสนล้าน แม้แต่ห้าหมื่นล้านบาทก็ดูเหมือนจะมากเกินไปในความคิดของผม ผมเองไม่คิดว่าตนเองมีความสามารถในการวิเคราะห์ราคาหรือมูลค่าที่แท้จริงได้ถูกต้อง แต่ในกรณีที่ “ผิดปกติมาก” นั้น มันก็เป็นเรื่องที่ง่ายที่จะคาดการณ์ว่าหุ้นจะวิ่งไปทางไหนและมากน้อยเท่าไร

ผมอยู่ในตลาดหุ้นมานานและติดตามพฤติกรรมของหุ้นต่าง ๆ มากมาย หุ้นที่กลายเป็น “หายนะ” ในเวลาอันสั้นนั้น มักมีสัญญาณหรือพฤติกรรมบางอย่างหรือหลายอย่างประกอบกัน ปัจจัยที่แทบทุกตัวเหมือนกันก็คือ ราคาหรือมูลค่าหุ้นนั้น “สูงมาก” ตัวชี้วัดอย่างหนึ่งก็คือค่า PE มักจะสูงลิ่วเช่น PE เกิน 50 เท่าเป็นต้น แต่นี่ก็แน่นอนว่าไม่ใช่ประเด็นเดียว หุ้นบางตัวค่า PE ก็อาจจะไม่ได้สูงขนาดนั้นแต่ก็เกิด “หายนะ” ได้ และหุ้นที่มีค่า PE เกิน 50 เท่าบางตัวก็อาจจะไม่เกิดหายนะได้เช่นกัน

อาการหุ้นที่ในที่สุดอาจจะเกิดหายนะนั้นก็คือ ผู้บริหารมักจะ “คุยโม้” มากเกินไป พวกเขามักจะคุยว่าจะโตเร็วและมากในช่วงเวลาอันใกล้ ถ้าเบาหน่อยก็จะพูดแค่ว่ายอดขายจะโตเป็นกี่เท่าในเวลากี่ปี ที่มากขึ้นมาก็คือกำไรของบริษัทจะโตขึ้นเป็นกี่เท่าและที่หนักที่สุดก็คือ มูลค่าหุ้นหรือ Market Cap. จะโตขึ้นเท่าไรในระยะเวลาอันใกล้ เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าบริษัทที่ผู้บริหารพูดอย่างนั้นทุกบริษัทจะเกิดหายนะของราคาหุ้น แต่การคุยโม้มากเกินไปก็เป็นสัญญาณที่ผมเคยพบและเมื่อได้ยินก็จะวิเคราะห์ดูว่าเขาพูดเพื่ออะไร? และจะเริ่มสงสัยมากขึ้นถ้าราคาหุ้นของบริษัทกำลังวิ่งขึ้นและ Market Cap. สูงอย่าง “ผิดสังเกต”

หุ้นที่มี Volume หรือปริมาณการซื้อขายที่สูง “ผิดปกติ” และราคาหุ้นมักจะปรับตัวขึ้นหรือลงแรงเช่น วันละหลายเปอร์เซ็นต์ บางวันขึ้นไปเกือบ 10% หรือลงแรงในระดับใกล้เคียงกันโดยที่ไม่ได้มีข่าวอะไรใหม่ที่น่าสนใจก็เป็นอาการอย่างหนึ่งว่าหุ้นตัวนั้นมีการเก็งกำไรสูงมากและอาจมีคนที่เข้ามา “จัดการดูแลหุ้น” ก็เป็นหุ้นที่ต่อมาเกิด “หายนะ” มากกว่าหุ้นที่ไม่ได้มีอาการแบบนั้น

บริษัทที่มีการลงทุนสูงมากใน “ธุรกิจใหม่” หรือในธุรกิจเดิมแต่ในสถานที่ใหม่ที่บริษัทไม่คุ้นเคยเช่นในต่างประเทศมักจะมีโอกาสที่จะเกิดหายนะมากกว่าบริษัทที่ไม่ได้ทำอย่างนั้น เหตุผลนั้นนอกจากเกิดจากความล้มเหลวของตัวธุรกิจที่บริษัทไม่มีความสามารถและประสบการณ์พอแล้ว ยังอาจจะเป็นเพราะว่าผู้บริหารมีความตั้งใจที่จะใช้การลงทุนนั้นเพื่อเป็นการฉ้อฉลไซฟ่อนเงินหรือใช้ในการแต่งบัญชีให้บริษัทมีรายได้และกำไรที่ดีเยี่ยมเพื่อที่จะสร้างราคาหุ้นและทำกำไรจากหุ้นที่มีราคาวิ่งขึ้นสูงลิ่วก็เป็นได้

ต่อจากเรื่องของการลงทุนทำธุรกิจในปริมาณที่สูงมากก็คือ การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและ/หรือเจ้าของและผู้บริหาร นี่ก็เป็นกรณีที่ผมเห็นว่ากลายเป็น “หายนะ” จำนวนไม่น้อย เหตุผลก็คือ หลาย ๆ บริษัทนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากธุรกิจเดิมตกต่ำลงมากจนบริษัทอาจจะทำต่อไปไม่ได้แล้ว ราคาหุ้นก็ตกต่ำลงมากจนแทบไม่มีค่า ดังนั้น การ “ฟื้นฟู” หรือ “Turnaround” จึงต้องอาศัยธุรกิจใหม่ที่มีความเป็นไปได้หรือมีโอกาสสูงที่จะทำกำไรได้ในสายตาผู้บริหารใหม่ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจใหม่อาจจะล้มเหลวเนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ ซึ่งทำให้ราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปสูงมากก่อนหน้านั้นตกลงมาอย่างหนักเหลือราคาเท่าเดิม กลายเป็น “หายนะ” ของหุ้นที่ “ไม่ Turnaround”

กิจการที่ใช้เงินกู้สูงมากโดยเฉพาะในกรณีที่ใช้เงินกู้หรือตราสารหนี้ผิดประเภท เช่น การออกตั๋ว BE ในวงเงินที่สูงเพราะหวังที่จะจ่ายดอกเบี้ยต่ำหรือต้องการหลีกเลี่ยง “การตรวจสอบเครดิต” โดยผู้ซื้อตราสารเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสเกิดหายนะมาก เฉพาะอย่างยิ่งก็คือในกรณีที่กิจการของบริษัทเป็นการขายสินค้าที่มีความผันผวนของรายได้และกำไรสูง เมื่อเกิดปัญหาการชำระหนี้ก็ทำให้คนเกรงว่าบริษัทจะล้มละลาย ดังนั้น ราคาหุ้นก็อาจจะตกลงมาแรงมากจนเกิด “หายนะ”

บริษัทที่ผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตหรือมีหมายเหตุที่ “น่ากลัว” เพราะเป็นเรื่องที่มาจากหรือเกี่ยวข้องกับบริษัทโดยตรงที่มีนัยสำคัญ ไม่ใช่ภาวะเศรษฐกิจหรือกฎเกณฑ์ทั่ว ๆ ไป ก็เป็นหุ้นที่มีโอกาสเกิดหายนะได้มากกว่าบริษัทที่มีงบการเงินที่ “สะอาด” ยิ่งมีข้อสังเกตที่ซับซ้อนก็ต้องยิ่งระวังว่ามันอาจจะมีอะไรที่ไม่ดีซ่อนอยู่และเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นก็อาจจะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อถือในความโปร่งใสของผู้บริหาร และนั่นสามารถนำไปสู่การเทขายหุ้นทำให้เกิดหายนะได้ พูดถึงเรื่องนี้ผมเองคิดว่าตลาดหลักทรัพย์ควรที่จะให้บริษัทรายงานสรุปงบการเงินโดยการเพิ่มเติมข้อสังเกตและหมายเหตุให้นักลงทุนทราบทุกครั้งด้วยเพื่อที่จะเป็นการ “เตือน” ให้รู้ว่าข้อมูลงบการเงินนั้นอาจจะมีปัญหาได้ในภายหลังซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนระมัดระวังในการลงทุน เพราะบ่อยครั้ง คนไม่ค่อยได้ดูงบเต็มที่ยืดยาวและมักจะเข้าใจยาก

สุดท้ายที่อาจจะเป็นลางของการหายนะก็คือหุ้นที่ขาย “Story” หรือเรื่องราวมากเมื่อเทียบกับความเป็นจริงของผลประกอบการปัจจุบัน นี่คือหุ้นที่มี “อนาคตที่ยิ่งใหญ่” ที่ผู้บริหารพร่ำบอกกับนักลงทุนที่เชื่อว่าบริษัทจะสามารถทำได้ ซึ่งก็ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปสูงมากอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเวลาผ่านไป “อนาคต” นั้นก็ยังไม่เกิดขึ้น การเลื่อนความสำเร็จออกไปเรื่อย ๆ จนถึงวันหนึ่งที่นักลงทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่นก็จะทำให้หุ้นกลายเป็นหายนะได้

โดยปกติ การหายนะของหุ้นมักจะใช้เวลานานพอสมควรหลังจากที่มี “ลางหายนะ” คร่าว ๆ ผมคิดว่าน่าจะอย่างน้อย 2-3 ปีขึ้นไปแต่ก็มักจะไม่เกิน 5 ปี ในระหว่างนั้น หุ้นก็มักจะอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” และมีความคึกคักมีคนสนใจต่อเนื่องพร้อม ๆ กับปริมาณการซื้อขายหุ้นที่สูงกว่าปกติ แน่นอน การปรับตัวลดลงเกิดขึ้นตลอดเวลา บางครั้งก็แรง แต่พอ “เผลอ ๆ” หุ้นก็ปรับตัวขึ้นไปใหม่โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างคึกคัก ราคาหุ้นนั้นดูเหมือนว่าจะขึ้นไปสูงจนบางที “ไม่น่าเชื่อ” ว่าทำไมจึงมีคนจะซื้อในราคานั้น พวกเขาคิดอย่างไรจึงกล้าที่จะจ่ายเงินซื้อในราคาที่บางคนบอกว่า “ร้อยปีคืนทุนหรือห้าสิบปีคืนทุน” เราคงไม่รู้คำตอบของแต่ละคน คนอาจจะคิดว่าเขาไม่ได้ซื้อเพื่อรอคืนทุน แต่เขาอาจจะซื้อเพราะเชื่อว่าพรุ่งนี้หรือปีหน้าราคาหุ้นจะวิ่งขึ้นไปอีก คนส่วนใหญ่คงไม่ได้คิดถึง “หายนะ” ที่หุ้นอาจจะตกลงไป 50% หรือ 70% หรือมากกว่านั้น หรือถ้าเกิด เขาก็คิดว่าจะ “Cut loss” หรือขายหุ้นทิ้งก่อนที่มันจะตกลงมาจนกลายเป็นหายนะ อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์สอนเราเสมอว่า หายนะอาจจะเกิดขึ้นเร็วมากจนขายหุ้นไม่ทัน หรือบางทีคนที่ถือหุ้นอยู่ก็ไม่ขายเพราะคิดว่ามันไม่ใช่หายนะแต่จะกลับขึ้นมาใหม่จนทำให้สายเกินการณ์ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ความเสียหายมักจะใหญ่หลวงเทียบกับการได้กำไรจากหุ้นที่มีลางแห่งหายนะรออยู่

ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/ลางหายนะของหุ้น