ขาขึ้นของตลาดเกิดใหม่จะไปจบที่ไหนกันแน่

ช่วงนี้ไม่ว่าจะเจอใครก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถูกถามเรื่องการลงทุนเพราะตลาดหุ้นทั่วโลกทยอยทำนิวไฮด์กันเป็นว่าเล่น และก็น่าคิดจริง ๆ ว่ารอบนี้การลงทุนในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย จะสามารถไปต่อได้ไกลแค่ไหน

แม้การลงทุนจะมีความเสี่ยงและไม่มีใครจะเดาอนาคตถูกไปทั้งหมด แต่ในฐานะนักวิเคราะห์ ผมช่วยได้ด้วยการนำ “ภาพในอดีต” มาฉายให้ดูอีกครั้ง และเดาให้ว่าอะไรน่าจะเกิดขึ้นในอนาคต หวังว่าผู้อ่านจะได้ไอเดียไปบ้างไม่มากก็น้อย

เริ่มด้วยการทำความเข้าใจกับ “ขาขึ้นของตลาดเกิดใหม่” กันก่อน ผมใช้ข้อมูล MSCI Emerging market (ต่อไปจะเขียนสั้น ๆ ว่า EM) มาเป็นตัวตั้งและมองย้อนกลับไป 30 ปี สิ่งที่น่าผมสนใจแบ่งเป็น 3 ด้านคือ ระยะเวลาในการเป็นขาขึ้น ผลตอบแทนต่อรอบ และพื้นฐานที่เปลี่ยไปในแต่ละรอบ

พบว่า EM เข้าสู่ขาขึ้นแรงทั้งหมด 5 รอบคือปี 1987 1991 1998 2003 2009 รอบนี้คือรอบที่ 6

เรื่องความยาวนานของรอบขาขึ้นเฉลี่ย EM จะปรับตัวขึ้นติดกัน 32 เดือน นานที่สุดจะเป็นช่วง มี.ค. 03 ถึง ต.ค. 07 กินระยะเวลาถึง 56 เดือน ซึ่งคือช่วงที่เศรษฐกิจจีนเติบโตแรงต่อเนื่อง ตลาดไปจบเมื่อเข้าสู่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ส่วนช่วงที่สั้นที่สุดคือช่วงก.ย.98 มีระยะเวลาเพียง 20 เดือนและจบไปด้วยฟองสบู่ดอทคอมสหรัฐในเดือนก.พ.00

ด้านผลตอบแทนค่อนข้างจะไม่แตกต่างกันในการขึ้นแต่ละครั้ง

โดยเฉลี่ย EM จะให้ผลตอบแทนราว 34% ต่อปีในขาขึ้น และไม่เคยมีครั้งไหนที่ให้ผลตอบแทนต่อรอบจะจบต่ำกว่า 100% (ต่ำสุดคือช่วงปี 98 ที่ให้ผลตอบแทนราว 107%) สกุลเงินเอเชียในช่วงเดียวกันนั้นแข็งค่าขึ้นเฉลี่ย 12% ขณะที่หุ้นสหรัฐอย่าง S&P500 สู้ไม่ได้เลยเพราะให้ผลตอบแทนเพียง 17% ต่อปีเท่านั้น

ด้านพื้นฐานมีจุดที่เหมือนกันเสมอเวลาที่ EM ปรับตัวขึ้นมีสองด้านคือการทำกำไรและมูลค่าตามบัญชี

ผมใช้ Return on Equity เป็นตัวแทนการทำกำไร พบว่าทุกรอบของการปรับตัวขึ้น ROE จะสูงขึ้นราว 4.5% จากจุดเริ่มต้น ขณะที่ราคาต่อมูลค่าตามบัญชี (Price/Book Value) ก็มักเพิ่มขึ้นราว 0.8 เท่า ตีความได้ว่า จะเป็นช่วงขาขึ้นได้จริง ก็ต่อเมื่อผลประกอบการของบริษัทดีขึ้น พร้อมกับราคาสินค้าของบริษัท (เช่นสินค้าโภคภัณฑ์) มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ด้วย

คราวนี้ลองมาเทียบกับตลาดกระทิงรอบนี้กัน

ผมปักหมุดเริ่มที่ม.ค.16 มาถึงปัจจุบัน แปลว่า 20 เดือนแล้วที่ EM ปรับตัวขึ้นติดต่อกัน แม้จะนานพอดู แต่ยังถือว่าสั้น เมื่อเทียบกับช่วงขาขึ้นทั่วไป ด้านกำไรรอบนี้ EM ปรับตัวขึ้นไป 46% คิดเป็น 24% ต่อปีซึ่งถือว่ายังน้อยเช่นกัน ขณะที่องค์ประกอบอื่น ๆ เช่นค่าเงินเอเชียก็แข็งค่าเฉลี่ย 3% เท่านั้นแม้เงินบาทจะแข็งค่านำไปแล้วแต่ก็ยังถือว่าไม่ได้แรงกว่าช่วงขาขึ้นอื่น ๆ  เช่นเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐที่บวก 16% ต่อปี ร้อนเสมอกับช่วงขาขึ้นอื่น ๆ ไปแล้ว

แต่นอกนั้นถ้ามองด้านพื้นฐานตลาด ROE ของ EM รอบนี้เพิ่มขึ้นเพียง 1.3% ขณะที่ราคาต่อมูลค่าตามบัญชีขึ้น 0.35เท่าเท่านั้นเอง หรือฟันธงแบบมีคอนดิชั่นเล็กน้อยได้ว่า ถ้ากำไรของบริษัทยังเป็นขาขึ้น EM ก็จะยังอยู่ในช่วงขาขึ้นนี้ต่อไปได้อีกไม่ยาก

สรุปจากตัวเลข ผมมองว่า รอบนี้พึ่งมาได้ครึ่งทาง และจะไปต่อได้อีกไกลและนานแค่ไหน โดยส่วนตัว เชื่อว่าต้องมีวิกฤติบางอย่างเกิดก่อน ถึงจะหยุดความร้อนแรงนี้ได้ ซึ่งในมุมนักลงทุนก็ไม่อยากให้เกิดมากกว่าครับ และคงน่าสนุกถ้าในช่วงปีนี้ปีหน้า เราน่าจะได้มาลุ้นกันซักทีว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยของเรา จะสามารถทุบสถิติใหม่อย่างที่อื่นได้หรือไม่

ไว้บทความถัด ๆ ไป เราจะมามองจุดจบของขาขึ้นรอบนี้หรือหาวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในตลาดทุนกันครับ

“ผลตอบแทนของ Emerging Markets ในช่วงตลาดขาขึ้น”

ที่มา: Bloomberg และ KTB Global Markets