ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติสร้างความไม่แน่นอนให้กับตลาดการเงินสหรัฐอย่างมากในช่วงนี้ ทั้งความเสียหายจากพายุเฮอริเคน “ฮาร์วีย์” ที่ยังนับไม่ครบ กลับต้องมาเจอกับเฮอริเคน “เออร์มา” ติดต่อเป็นลูกที่สอง หรือเป็นเหตุการณ์ที่ฝั่งสหรัฐเรียกว่า “Back-to-Back เฮอริเคน” ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1964 จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจผลกระทบที่กำลังจะเกิดกับเศรษฐกิจและตลาดการเงิน เพื่อจะได้รับมือได้อย่างคนรู้ทันโลกการเงิน
ขนาดความรุนแรงเป็นอย่างแรกที่เราต้องรู้ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจอเมริกันประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจจากเฮอริเคนฮาร์วีย์ถึง 6 หมื่นถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ นับเป็นความเสียหายสูงสุดอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ภัยธรรมชาติสหรัฐ เป็นรองเพียงผลจากเฮอริเคนแคทรีนาปี 2005 เท่านั้น
แม้วันที่ผมเขียนบทความนี้ จะยังไม่สามารถประเมินผลในเชิงเศรษฐกิจของเฮอร์ริเคนเออร์มาได้ แต่คงไม่ผิดที่จะสรุปได้แล้วว่า ผลจากความเสี่ยงภัยธรรมชาติปีนี้กระทบเศรษฐกิจสหรัฐในระดับสูงและนานแน่นอน
ความผันผวนของตลาดการเงินและเศรษฐกิจเป็นเรื่องต่อมาที่ควรทำความเข้าใจ สิ่งที่ต้องจับตามีทั้งหมด 3 ด้าน คือตลาดแรงงาน เงินเฟ้อ และการขยายตัวของเศรษฐกิจ
อันดับแรก พายุเฮอริเคนจะส่งผลให้การจ้างงานปรับตัวลงทันที
ตลาดมองกันว่ามีคนที่ต้องตกงาน และเข้ามาขอรับสวัสดิการการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างน้อยห้าหมื่นคนในเดือนแรก แต่หลังจากนั้นการจ้างงานจะเริ่มกลับมาเป็นปกติ และสามเดือนให้หลังการจ้างงานจะฟื้นตัวมากกว่าปกติจากการลงทุนเพื่อซ่อมแซมความเสียหาย
ฝั่งตัวเลขเงินเฟ้อก็จะผิดเพี้ยนเช่นกัน
พายุเฮอริเคนจะสร้างปัญหากับอุตสาหกรรมที่อยู่ในเขตนั้น ๆ ในรอบนี้ธุรกิจที่โดนตรงคือโรงกลั่น ราคาแก๊สโซลีนดีดขึ้นสูงที่สุดในรอบสองปีกว่า เงินเฟ้อจึงมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น สำหรับพายุฮาร์วีย์ที่เพิ่งผ่านไป ตลาดมองกันว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นจากระดับปกติ 0.2% และอาจสูงผิดปรกติไปได้นานที่สุดถึง 3 เดือนต่อจากนี้
ส่วนสุดท้ายคือภาพรวมจีดีพี
บทวิเคราะห์ของสถาบันเฮอริเคนแห่งชาติ ชี้ว่าเฮอริเคนที่รุนแรงที่สุด 10 ครั้งหลัง ส่งผลให้จีดีพีสหรัฐในไตรมาสที่พายุเข้าหดตัวลง 0.3% จากการบริโภคที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจีดีพีเป็นการประมาณการใช้จ่าย ภายใน
หนึ่งไตรหลังจากนั้นจีดีพีจะดูขยายตัวผิดปกติทันที และจากสถิติ จีดีพีจะฟื้นตัวได้ดีกว่าปรกติถึง 0.7% ในไตรมาสถัดไปทีเดียว
ในมุมมองของผม ผลกระทบของเฮอริเคนที่จะเกิดกับตลาดการเงินรอบนี้มี 3 มิติเช่นกัน
มิติของนโยบายการคลังค่อนข้างจะเป็นบวกมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว บวกกับความช่วยเหลือที่คือเรื่องเร่งด่วน เป็นไปได้มากที่ทำเนียบขาวจะสามัคคีกันมากขึ้น อาจสามารถหาข้อตกลงด้านงบประมาณหรือเพดานหนี้ได้ง่ายกว่าปรกติ
แต่ฝั่งมิติการเงิน “การขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้” ก็อาจเกิดขึ้นได้ยากมากเช่นกัน นั่นก็เพราะว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใช้การดำเนินนโยบายการเงินแบบ “ตามข้อมูล” ถ้าตัวแปรหลักสองตัวอย่างจีดีพีและตลาดแรงงานแย่ลง ก็มีแนวโน้มสูงที่เฟดจะไม่สามารถรีบขึ้นดอกเบี้ยได้ตามแผนที่วางไว้
และสุดท้าย นักลงทุนทั่วโลกจะปิดรับความเสี่ยงสหรัฐ ไม่ใช่แค่เพราะความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบของเฮอริเคนที่เกิดติดต่อกัน แต่รวมไปถึงการรับมือความเสี่ยงดังกล่าวที่ยังไม่แน่นอนเช่นกัน ไม่แปลกที่จะต้องหาที่พักเงินแหล่งอื่นนอกสหรัฐซักพัก
สิ่งที่ต้องระวังจึงไม่ใช่คาเศรษฐกิจ แต่ต้องรวมไปถึงเงินร้อนที่อาจไหลมาหาที่หลบภัยในเอเชีย และอาจอยู่กับเราไปจนถึงช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า ยิ่งถ้านานไป เราเกิดเผลอเข้าใจผิดว่าเงินทุนไหลเข้าเกิดขึ้นเพราะความดีของเศรษฐกิจเราเองจนไม่ทันระวังตัวก็ยิ่งน่าห่วง เพราะในตลาดการเงิน เงินร้อนแม้จะมากับพายุก็ยังเป็นเงินร้อน
เตรียมกางร่มรับพายุการเงินต่อจากนี้กันให้ดีครับ
ลำดับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติในสหรัฐ (พันล้านดอลลาร์)
ที่มา: Bloomberg และ KTB Global Markets
ที่มาบทความ : คอลัมน์: รู้ทันโลกการเงิน โดย ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์