เก็บหุ้นสร้างพอร์ตสไตล์ VI : กลยุทธ์ของนักลงทุนพอร์ตเล็ก

สำหรับคนที่พอร์ตการลงทุนยังเล็ก ยังไม่ใหญ่มากเหมือนวีไอขาใหญ่ หรือวีไอเก่งๆ ที่ลงทุนมาหลายปี หรือหลักสิบปีที่ทำให้การทบต้นมันบังเกิดผลกันไปแล้ว ข้อแนะนำสำหรับคนที่พอร์ตการลงทุนยังเล็ก แต่อยากให้มันเติบใหญ่มีอะไรบ้าง ห้ามพลาด ติดตามกันเลยดีกว่า

ต้นทุนของคนพอร์ตเล็ก vs ต้นทุนของคนพอร์ตใหญ่

อันดับแรกเราต้องมองเห็นสถานะในปัจจุบันของตัวเราเองก่อนว่าเป็นอย่างไร ถ้าเราพอร์ตยังเล็ก แต่เราไปลงทุนตามคนที่มีพอร์ตใหญ่แล้วโอกาสที่จะประสบความสำเร็จเหมือนคนพอร์ตใหญ่คงไม่ใช่เรื่องง่าย ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีพอร์ตระดับ 1 แสนบาท ซื้อหุ้นตัวละบาท ได้ 1 แสนหุ้น ถ้าหุ้นขึ้นไป 0.50 บาท เขาจะได้เงินในการลงทุนครั้งนี้ 5 หมื่นบาท ในขณะเดียวกันสำหรับคนพอร์ตใหญ่ มีเงิน 10 ล้านบาท ซื้อหุ้นตัวเดียวกันได้ 10 ล้านหุ้น ถ้าหุ้นขึ้นไป 0.50 บาท เขาจะทำกำไรจากการลงทุนครั้งนี้ได้มากถึง 5 ล้านบาทเลยทีเดียว และนั่นจะทำให้พอร์ตของเขาโตขึ้นไปอีกขั้นกลายเป็น 15 ล้านบาท ในขณะที่คนพอร์ตยังเล็กถ้าคิดเป็นเม็ดเงินที่เติบโตขึ้นจะดูน้อยกว่ามาก

ความเป็นจริงของชีวิตก็คือ โอกาสที่หุ้นจะขึ้นจาก 1 บาท ไปเป็น 1.50 บาทต่อหุ้น หรือขึ้นมา 50% นั้นมีไม่มากแต่ก็ใช่ว่าจะไม่มี และที่สำคัญกว่าก็คือ ระยะเวลาการขึ้นของหุ้นตัวนั้น หากหุ้นตัวดังกล่าวใช้เวลาในการขึ้นจาก 1 บาท ไปเป็น 1.50 บาทต่อหุ้น ภายใน 1 ปี คนที่มีพอร์ตใหญ่จะทำเงินได้ 5 ล้านบาทภายในหนึ่งปี แต่คนที่มีพอร์ตเล็กกว่าจะทำเงินได้เพียง 5 หมื่นบาทในหนึ่งปี สิ่งนี้หมายความว่า “เวลา” ก็เป็นต้นทุนอย่างหนึ่งนั่นเองครับ

การลงทุนของคนพอร์ตใหญ่

แน่นอนที่สุดว่าเมื่อมองในแง่เม็ดเงิน คนพอร์ตใหญ่ย่อมได้เปรียบกว่าคนทีพอร์ตเล็ก แต่สำหรับคนพอร์ตใหญ่แล้วอาจรู้สึกว่าตัวเองแบกรับความเสี่ยงมากกว่าตอนที่พอร์ตการลงทุนของตนเองยังเล็กอยู่ เพราะตลาดหุ้นไม่ได้มีด้านเดียว เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน ถ้าหุ้นตัวเดิมตั้งต้นซื้อที่ราคา 1 บาท แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันกลับตรงกันข้ามกับเคสข้างต้น ก็คือราคาลดลงเหลือ 0.50 บาท หรือลดลงไป 50% คนพอร์ตใหญ่จะบาดเจ็บกว่าคนพอร์ตเล็ก นั่นคือ เงินจะหายไปกว่า 5 ล้านบาท จากเงินต้น 10 ล้านบาท ดังนั้นคนที่มีพอร์ตการลงทุนที่ใหญ่กว่าสิ่งที่เขาจะคำนึงถึงอันดับแรกก่อนที่จะซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งก็คือ “ความเสี่ยงขาลง” คนพอร์ตใหญ่มักจะไม่คิดว่าจะกำไรเท่าไร แต่จะคิดว่าถ้าขาดทุนจะขาดทุนเท่าไร และต้องคิดหนักกว่าคนที่มีพอร์ตเล็กมาก และนั่นคือข้อเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด

การลงทุนของคนพอร์ตใหญ่จึงไม่สามารถซื้อหุ้นตัวเดียวโดดๆ หรือซื้อหุ้นน้อยตัวได้ เพราะมันเสี่ยงมาก และถ้าเสียหายมันจะไม่คุ้ม ทำให้พอร์ตของเขาจะมีการกระจายความเสี่ยงด้วยการถือหุ้นหลายตัว บางคนถือหุ้นหลายตัวมากจนกลายเป็น “เบี้ยหัวแตก” พูดง่ายๆ ก็คือ กระจายความเสี่ยงมากจนเกินไป ทำให้ไม่เห็นผลลัพธ์ที่ดีเลิศอย่างที่คาดหวังเอาไว้

การลงทุนของคนพอร์ตเล็ก

สำหรับคนที่พอร์ตยังเล็ก ถ้ามองในแง่เม็ดเงินที่น้อยกว่ามาก จะรู้สึกว่าตนเองเสียเปรียบ แต่ความจริงแล้วคนพอร์ตเล็กอาจได้เปรียบคนที่พอร์ตใหญ่กว่า เพราะด้วยเม็ดเงินที่ยังไม่มาก สามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่า สามารถทุ่มเทไปกับหุ้นไม่กี่ตัวเพื่อผลลัพธ์ที่ดีเลิศได้ (คำแนะนำของผมก็คือควรมีหุ้น 3-5 ตัว) และเอาต้นทุนเวลาที่ได้เปรียบกว่าคนที่มีพอร์ตใหญ่ ด้วยการ “หมุนหุ้น” หรือหมุนรอบของการทำกำไรไปเรื่อยๆ ดังตัวอย่างง่ายๆ ต่อไปนี้

  • เริ่มต้น 1 แสนบาท ซื้อหุ้น 1 บาท แสนหุ้น
  • หุ้นขึ้นไป 1.50 บาท ขายทำกำไรได้เงิน 1.5 แสนบาท
  • นำเงิน 1.5 แสนบาท ซื้อหุ้น 1 บาท ได้ 1.5 แสนหุ้น
  • หุ้นขึ้นเป็น 2 บาท ขายทำกำไรได้เงิน 2 แสนบาท

จากตัวอย่างดังกล่าวถ้าเป็นการหมุนหุ้นเพียงสองรอบก็สามารถ “ทบต้นกำไร” ได้เป็นเท่าตัว ถ้าสามารถหมุนรอบได้เร็วภายในหนึ่งปีผลตอบแทนจะเท่ากับ 100% ในขณะที่คนที่มีพอร์ตใหญ่จะไม่กล้าทำแบบนี้ เพราะต้นทุนความเสี่ยงสูงกว่า แต่ต้องระลึกไว้เสมอว่าเหรียญมีสองด้าน ถ้าเราได้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม เงินต้นหดหาย มันจะยากเป็นสองเท่า หรือหลายเท่าในการ Recover เงินต้นกลับมา ยังไม่ต้องคิดด้านกำไรเสียด้วยซ้ำ

สรุปง่ายๆ ก็คือ คนที่มีพอร์ตเล็กมีข้อได้เปรียบที่คนพอร์ตใหญ่ไม่มี และการปิดความผิดพลาดที่ดีที่สุดก็คือ การหาความรู้ การศึกษาจากผู้ที่สำเร็จมาแล้วเป็นทางลัดสู่ความสำเร็จ การไม่หยุดนิ่ง ไม่ท้อแท้ ไม่ยอมแพ้ไปเสียก่อน โอกาสแห่งความสำเร็จอยู่เคียงข้างผู้ที่มีความเพียรเสมอครับ

นายแว่นลงทุน