ครึ่งแรกของปีนี้ตลาดหุ้นไทยมีผลงานที่น้อยหน้าเพื่อนบ้านในย่านเอเชียค่อนข้างมาก อาจจะเป็นเพราะปีที่แล้วเราปรับตัวขึ้นมาโดดเด่นกว่าใครปีนี้เลยโตน้อยลง โดยตั้งแต่ต้นปี SET Index ปรับตัวขึ้นเพียง 2-3% เทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆในเอเชียอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฯลฯ ที่ปรับตัวขึ้นเลขสองหลัก
เห็นแบบนี้ เราควรจะมีการกระจายการลงทุนออกไปยังต่างประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตกว่าหุ้นไทย การศึกษาสินค้าหรือหุ้นในต่างประเทศ จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนตัวยงควรจะเริ่มเรียนรู้ไว้เพื่อแสวงหาโอกาสได้อย่างไม่สิ้นสุด
ด้วยเหตุนี้ ผมขอเริ่มนำเสนอเรื่องราวของบริษัทหรือหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ที่สนใจลงทุนต่างประเทศได้ศึกษา โดยเริ่มจากบริษัทสัญชาติไทยที่จดทะเบียนอยู่ในต่างแดนเสียนานและทำผลงานได้ไม่เลวอีกด้วยนั่นคือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้นเบียร์ช้าง (TBEV) ที่สำคัญเพิ่งมีข่าวฮือฮาว่าได้เข้าเทคโอเวอร์กิจการแฟรนไชส์ไก่ทอดชื่อดังเคเอฟซีในประเทศไทยด้วยเงิน 11,000 ล้านบาทไปหมาดๆ
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้เจตนาส่งเสริมธุรกิจแอลกอฮอล์ให้เข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ แต่อย่างไร
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ปี 2006 ในราคาไอพีโอ 0.28 เหรียญสิงคโปร์ ช่วงแรกของการเข้าจดทะเบียน ราคาหุ้นแทบไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ อาจเป็นเพราะในเวลานั้นธุรกิจหลักของไทยเบฟไม่หวือหวาเท่าใดนัก โดยมีธุรกิจหลักคือเบียร์สุรา น้ำดื่ม เครื่องดื่ม
จนกระทั่ง 5 ปีที่แล้ว ไทยเบฟฯสร้างความฮือฮาด้วยการประกาศเข้าซื้อกิจการบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ หรือ F&N ด้วยมูลค่ากว่า 336,000 ล้านบาท สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ของการซื้อกิจการในอาเซียนเพื่อต่อยอดธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม โลจิสติกส์ ตลอดจนอสังหาริมทรัพย์ ที่ F&N มีอยู่ทั่วอาเซียน ทั้งนี้ เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ มีอายุกว่า 100 ปี ตั้งแต่สมัยอังกฤษเข้ามาปกครองเกาะสิงคโปร์
นับตั้งแต่การซื้อกิจการ F&N ทำให้หุ้น TBEV มีความเคลื่อนไหวที่ “คึกคัก” ขึ้นมาทันที และหลังจากนั้นก็ตามมาด้วยดีลการเทคโอเวอร์กิจการต่างๆอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น บิ๊กซี และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ราคาหุ้น TBEV จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว จนราคาหุ้นขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 1.05 เหรียญสิงคโปร์ ก่อนจะปรับฐานลงมาซื้อขายแถวๆ 0.95 เหรียญสิงคโปร์
กล่าวได้ว่ากลยุทธ์การไล่เทคโอเวอร์คือปัจจัยที่ทำให้ราคาหุ้น TBEV คึกคักและกลายมาเป็น Growth Stock ได้ในที่สุด
ปีที่แล้ว หุ้น TBEV ยังถูกจัดอันดับให้เป็นหุ้นบลูชิพที่มีผลงานดีเป็นอันดับที่สามของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) โดยราคาหุ้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 27% มีมูลค่าตลาดรวม 21,600 ล้านเหรียญสิงคโปร์หรือ 540,000 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นที่มีมาร์เกตแคปใหญ่อันดับเจ็ดของสิงคโปร์ (รองจากพวก DBS,Singtel,Capital Mall อะไรพวกนี้)
ลองมาดูข้อมูลจำเฉพาะของบริษัทไทยเบฟเวอเรจฯกัน ปัจจุบันเบียร์ช้างมีมาร์เกตแชร์ในตลาดเบียร์ประเทศไทย 40% จากที่เคยตกไปอยู่ที่28% และรายได้จากธุรกิจเบียร์คิดเป็นสัดส่วน 32% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนรายได้หลักจริงๆของไทยเบฟฯมาจากธุรกิจสุราถึง 55% ที่เหลือเป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
มาดูอัตราส่วนทางการเงินของ TBEV กัน ปัจจุบันมีค่า P/E เฉลี่ย 20 เท่า ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ที่ 20 เท่า อัตราการจ่ายปันผลอยู่ที่3.2% Gross Margin 30.47% รายได้รวมปี 2559 อยู่ที่ 139,153 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 19,036 ล้านบาท
ส่วนแนวโน้มปีนี้ โบรกเกอร์ทางฝั่งสิงคโปร์ ได้ออกบทวิเคราะห์หุ้น TBEV ยังมีแนวโน้มเติบโตได้จากปีที่แล้ว โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาคือการขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมาร์จินของบริษัท แต่ไทยเบฟฯจะใช้วิธีขึ้นราคาขายมาเพื่อรักษาระดับกำไรไว้
นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนขยายการลงทุนในเวียดนามหลังให้ความสนใจที่จะเทคโอเวอร์ Saigon Beer ซึ่งเป็นกิจการเบียร์ของรัฐบาลเวียดนามรวมถึงเตรียมจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน Vinamilk บริษัทผลิตอาหารชั้นนำของเวียดนาม
OCBC Securities สิงคโปร์ ได้คาดการณ์การเติบโตของไทยเบฟฯ ไว้ว่าน่าจะมีรายได้เติบโตต่อปีอยู่ที่ 10% จากกลยุทธ์การเทคโอเวอร์ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ต้องบอกว่าเป็นหุ้นที่มี Growth Story ที่ค่อนข้างชัดเจน ใครที่สนใจจะลงทุนคงต้องใช้บัญชีซื้อขายหุ้นต่างประเทศเนื่องจาก TBEV จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์หรือ SGX ส่วนแนวโน้มทางธุรกิจพอที่จะติดตามได้ในประเทศไทยเพราะรายได้หลักก็ยังมาจากธุรกิจเหล้าและเบียร์ในประเทศไทย แม้จะมีการขยายการลงทุนไปทั่วภูมิภาคก็ตาม