ผู้บริหารถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการลงทุน เนื่องจากกิจการจะขับเคลื่อนไปได้ด้วยผู้บริหาร บางกิจการถึงแม้ว่าจะมีพื้นฐานธุรกิจที่ยอดเยี่ยม แต่เมื่อมันตกอยู่ในมือของผู้บริหารที่ยอดแย่ มันก็สามารถพังไม่ได้เป็นท่าได้เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารที่มีวี่แววจะ “คิดไม่ซื่อ” แบบนี้ยิ่งต้องระวังขึ้นไปอีก เพราะผู้บริหารที่ไม่เก่งอาจจะใช้เวลานานหลายปีกว่าจะทำให้ธุรกิจล้มลงได้ แต่ผู้บริหารที่ไม่ซื่อสัตย์อาจทำให้บริษัทพังพินาศได้ในเวลาชั่วข้ามคืน
นักลงทุนควรมองผู้บริหารให้ขาดไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว ในระยะสั้น ผู้บริหารที่ไม่ซื่อสัตย์อาจจงใจใช้ข้อมูลหรือความพยายามในการสร้างราคาเพื่อหลอกนักลงทุนรายย่อย ในระยะยาว การที่ผู้บริหารไม่ซื่อสัตย์อาจจะทำให้บริษัทพังไม่เป็นท่าในที่สุด เพราะคนเหล่านี้มักจะมุ่งเน้นที่จะสร้างผลประโยชน์ส่วนตน และละเลยที่จะใส่ใจนักลงทุนรายย่อย ซึ่งนั่นก็คือการเอาเงินไปฝากไว้ผิดคน บางครั้งอาจจะได้คืนบ้าง แต่ถ้าเลือกได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยงเสียตั้งแต่ต้นจะดีกว่า
ลักษณะผู้บริหารของหุ้นที่คุณควรหลีกเลี่ยง
1. ผู้บริหารมีประวัติไม่โปร่งใส
วิธีการตรวจสอบง่ายที่สุดคือนำรายชื่อผู้บริหารไปตรวจสอบในกูเกิ้ล หากพบว่าผู้บริหารเคยมีข่าวซึ่งแสดงถึงความไม่โปร่งใสที่นำมาซึ่งผลร้ายของบริษัท เช่น ประวัติการฮั๊วประมูล ประวัติการจัดซื้อจัดจ้างด้วยราคาแพงกว่าเหตุ ประวัติการฉ้อโกง นักลงทุนควรใช้ความระมัดระวังในการลงทุน เนื่องจากผู้บริหารที่เคยคดโกงในอดีตย่อมมีแนวโน้มที่จะคดโก่งในอนาคต
2. กรรมการตรวจสอบมีประวัติไม่โปร่งใส
เช่นเดียวกับผู้บริหาร กรรมการตรวจสอบคือคนที่เข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสของผู้บริหาร ดังนั้น หากกรรมการตรวจสอบไม่โปร่งใส ย่อมหมายถึงคนเหล่านั้นอาจถูกเลือกเข้ามาเพื่อปกปิดความผิดที่บริษัทได้ทำไว้ เช่น ประวัติการใช้ข้อมูลภายในองค์กรเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ประวัติการโดนไล่ออกเพราะประเด็นความไม่โปร่งใส ในขณะที่การแต่งตั้งกรรมการอิสระที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและด้านตลาดทุนจำนวนมากก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ในแง่หนึ่งอาจจะมองได้ว่าบริษัทกำลังจะพยายาม “ทำ” อะไรที่สุ่มเสี่ยงและหาคนมาช่วยปิดจุดบอดหรือเปล่า
3. ผู้ถือหุ้นใหญ่มีประวัติไม่โปร่งใส
ถึงแม้ว่าจะมีความสำคัญรองลงมาจากผู้บริหารและกรรมการอิสระ แต่ความโปร่งใสของผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องสนใจ เนื่องจากกระบวนการปั่นหุ้นส่วนใหญ่นั้นจะได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหารเสมอ ดังนั้น หากผู้ถือหุ้นรายใหญ่มีประวัติอื้อฉาวเรื่องการปั่นหุ้น ผู้บริหารของบริษัทก็มักจะรู้เห็นเป็นใจด้วยอยู่บ้าง ยิ่งมีชื่อผู้มีประวัติด่างพร้อยจำนวนมากยิ่งต้องระวัง เพราะการที่จะมีหุ้นในมือเป็นจำนวนมากนั้นส่วนใหญ่จะได้มาจากผู้บริหาร ซึ่งก็บ่งบอกถึงความไม่โปร่งใสของทั้งองค์กรนั่นเอง
4. ผู้บริหารทำกิจกรรมด้านลงทุนที่เอาเปรียบรายย่อย
ปัจจุบันบริษัทมีเครื่องมือจำนวนมากที่สามารถนำมาใช้เอาเปรียบรายย่อยได้ แต่เครื่องมือที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดน่าจะเป็น PP หรือการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง โดยปรกติแล้ว การเพิ่มทุนแบบ PP นั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหากผู้ถือหุ้นใหม่นั้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัท และบริษัทสามารถนำเงินนั้นไปลงทุนอย่างคุ้มค่า แต่บริษัทที่ร้ายกาจจะเพิ่มทุน PP เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายในบริษัท ในขณะที่ผู้ถือหุ้นใหม่ซึ่งได้ราคาต่ำกว่าตลาดมากก็สามารถขายออกมาทำกำไรได้ทุกราคา คนที่เสียเปรียบทุกประตูคือรายย่อย เพราะนอกจากกำไรต่อหุ้นจะลดลงจากการเพิ่มทุนแล้ว ราคาหุ้นก็มักจะตกต่ำอย่างรุนแรงจากการเทขายหุ้นใหม่ดังกล่าว
5. ผู้บริหารใช้จ่ายเงินอย่างผิดปรกติและไม่สมเหตุสมผล
สิ่งที่เจอบ่อยที่สุดคือการซื้อขายสินทรัพย์หรือการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โลกธุรกิจมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “เงินทอน” เงินทอนคือการที่บริษัทหนึ่งซื้อสินค้าและบริการของบริษัทหนึ่งในราคาแพงเกินจริง และบริษัทผู้ขายต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่งคืนให้กับผู้บริหาร ซึ่งนี่เป็นการฉ้อโกงที่ร้ายแรงและไม่น่าให้อภัย ดังนั้น นักลงทุนต้องตรวจสอบการใช้เงินของบริษัทอยู่เสมอ โดยเฉพาะรายการที่เกี่ยวข้องกัน เช่น รายการระหว่างบริษัทแม่กับลูก รายการระหว่างบริษัทกับผู้บริหาร โดยรายการเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน โดยรายการเหล่านี้ควรโปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น ใช้ราคาตลาดในการทำธุรกรรม มีคนกลางเข้ามาประเมินราคา โดยเหตุการณ์ไม่ดีที่พบได้บ่อยคือผู้บริหารใช้เงินบริษัทซื้อสินทรัพย์ของผู้บริหารเองในราคาที่แพงเกินจริง
6. ผู้บริหารปลอมงบการเงินหรือมีประวัติปลอมงบการเงิน
การปลอมงบการเงินนั้นร้ายแรงมากและหมายถึงว่าอาจจะนำมาซึ่งการล่มสลายของบริษัทในที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมีมากมายตั้งแต่บริษัทระดับโลกอย่าง ENRON, TESCO ไปจากถึงบริษัทในไทยอย่าง CAWOW, PICNIC แต่ส่วนใหญ่กว่าที่นักลงทุนจะรู้ก็มักจะสายเกินไปเสียแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องดูคือการติดตามงบการเงินและพฤติกรรมผู้บริหารอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการวิเคราะห์งบกระแสเงินสดและอัตราส่วนทางการเงินจะช่วยให้เห็นภาพความผิดปรกติได้ชัดขึ้นมาก
7. ผู้บริหารตกแต่งงบการเงินหรือมีประวัติตกแต่งงบการเงิน
การตกแต่งงบการเงินต่างจากการปลอมงบการเงิน เนื่องจากการปลอมงบการเงินคือการใช้ข้อมูลปลอมเพื่อหลอกผู้ใช้งบการเงิน ในขณะที่การตกแต่งงบการเงินคือการใช้ข้อมูลจริง แต่เลือกใช้นโยบายทางบัญชีที่อาจจะไม่สมเหตุสมผล เพื่อทำให้ผู้ใช้งบการเงินเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญได้ เช่น การเลือกวิธีตัดค่าเสื่อมราคาที่ไม่สมเหตุสมผล การปรับมูลค่าทรัพย์สินทั้งที่ไม่มีความจำเป็น การเปลี่ยนวิธีการตัดค่าตัดจำหน่ายอย่างไม่มีเหตุผล สิ่งเหล่านี้อาจไม่ผิดกฎหมาย แต่มันก็หมายความได้กลายๆ ว่าผู้บริหารอาจจะกำลังพยายามทำให้เราเข้าใจผิดหรือเปล่า
8. ผู้บริหารของบริษัทที่ความเห็นผู้สอบบัญชีผิดปรกติ
โดยปรกติบริษัทต้องนำส่งงบการเงินให้กับผู้สอบบัญชีตรวจสอบ และผู้สอบบัญชีจะต้องแสดงความเห็นต่องบการเงินนั้น โดยปรกติความเห็นของผู้สอบบัญชีจะมี 5 แบบ ได้แก่ (1) ไม่มีเงื่อนไข (2) ไม่มีเงื่อนไขแต่ให้ข้อสังเกต (3) มีเงื่อนไข (4) ไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินหรือไม่แสดงความเชื่อมั่น หรือ (5) งบการเงินไม่ถูกต้อง โดยนักลงทุนจะต้องอ่านความเห็นของผู้สอบบัญชีอย่างละเอียดถ้าความเห็นผู้สอบบัญชีไม่ใช่แบบที่ 1 หรือไม่มีเงื่อนไข ยิ่งหากนักสอบบัญชีแสดงความไม่เชื่อมั่น นักลงทุนยิ่งต้องระมัดระวังและควรหลีกเลี่ยงบริษัทเหล่านี้ไว้ เพราะผู้สอบบัญชีจะได้เห็นอะไรที่มากกว่านักลงทุนทั่วไป และวิธีที่จะ “แจ้งเตือน” นักลงทุนรายย่อยให้เข้าใจก็คือการให้ความเห็นผู้สอบบัญชีนั่นเอง
9. ผู้บริหารที่จัดงานประชุมสามัญประจำปีแบบไม่ปรกติ
วิธีการตรวจสอบผู้บริหารที่ดียิ่งอีกวิธีหนึ่งคือการไปงานประชุมสามัญประจำปี เนื่องจากเป็นงานที่ผู้บริหารจะต้องเข้าร่วมเพื่อพบผู้ถือหุ้น บริษัทหลายบริษัทนั้นผู้บริหารแทบไม่เคยออกสื่อเลย แต่การประชุมของบริษัทนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเราสามารถ “อ่าน” ผู้บริหารได้จากภาพรวม เช่น การตอบคำถาม การให้ข้อมูลรายย่อย รวมไปถึงลักษณะการจัดงาน โดยบางบริษัทมักแสดงความไม่บริสุทธิ์ใจในการจัด เช่น จัดสถานที่ไกลซึ่งเดินทางยากและไม่ใช่สถานที่ปรกติของบริษัท การกีดกันไม่ให้ผู้ถือหุ้นบางกลุ่มเข้างาน หรือไปจนถึงการล้มการประชุมโดยเลื่อนวันไปมาให้ผู้ถือหุ้นไปยาก และสุดท้ายก็ใช้คนกันเองเข้าประชุมในรอบใหม่เพื่ออนุมัติวาระที่ไม่เป็นธรรมกับรายย่อย
ข้อสังเกตทั้ง 9 ข้อนี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จในการวิเคราะห์ผู้บริหาร แต่ก็ค่อนข้างเป็นหลักการระวังตัวที่มีประโยชน์พอสมควร สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือผู้บริหารที่เข้าข่าย 9 นี้ข้อใดข้อหนึ่งก็น่าจะเป็นสาเหตุที่เพียงพอให้หลีกเลี่ยงหุ้นนั้นได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารที่ไม่เข้าข่ายไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้บริหารที่ “ดี” หรือ “น่าลงทุน” ด้วย เพราะมีผู้บริหารมากมายที่ไม่ได้ร้ายแต่ก็ไม่ได้ดี คือ ทำงานไปเรื่อย ไม่เห็นความสำคัญแก่รายย่อย ไม่มุ่งมั่นจะพัฒนาบริษัท แต่ก็ไม่ถึงกับ “โกง” แบบนี้ถ้าเลือกได้ก็ไม่ควรลงทุน แต่ในบางจังหวะบางสถานการณ์ก็พอจะลงทุนได้ แต่คงจะหลักผลเลิศเลอมากไม่ได้นัก
การวิเคราะห์ผู้บริหารนั้นเป็นอีกศาสตร์ของการลงทุนที่มีการพูดถึงน้อยแต่มีความสำคัญมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้บริหารนั้นเป็นคน และการวิเคราะห์คนนั้นยากที่จะจับต้องได้เป็นหลักการที่เข้าใจได้ง่าย ดังนั้น นักลงทุนคงต้องใช้ประสบการณ์และการฝึกฝนเป็นหลักในการจะวิเคราะห์บุคคลที่เราจะนำเงินไปฝากด้วยเหล่านั้น
ไว้โอกาสหน้าจะมาเล่าให้ฟังว่าแล้วผู้บริหารแบบไหนที่เรียกได้ว่า “ยอดเยี่ยมและน่าลงทุนด้วย”
ลงทุนศาสตร์ – Investerest