best-the-big-short-fb

The Big Short (2016) เป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาจากหนังสือชื่อเดียวกันซึ่งบอกเล่าวิกฤต subprime วิกฤตทางการเงินระดับโลกที่เกิดขึ้นในปี 2008

ในขณะนั้น การนำสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมาแปลงสภาพเป็นหลักทรัพย์เป็นที่นิยมเป็น อย่างมาก เนื่องจากเป็นคุณสมบัติที่ผลตอบแทนสูง และความเสี่ยงต่ำด้วยความเชื่อว่าคนต้องพยายามผ่อนบ้านเพื่ออยู่อาศัย ธนาคารใหญ่ในตอนนั้นทำการแปลงสินเชื่อของตนกลายเป็นหลักทรัพย์เพื่อจำหน่ายให้นักลงทุน โดยหวังค่าธรรมเนียมในการทำหลักทรัพย์

เมื่อธนาคารหนึ่งทำ ธนาคารต่างๆ ก็ทำมากขึ้นจนกลายเป็นว่าสินเชื่อในธนาคารก็เริ่มร่อยหรอลง ธนาคารจึงมองหาผู้กู้หน้าใหม่ ซึ่งอาจจะไม่มีคุณสมบัติดีเท่าเดิม บางคนไม่มีรายได้ บางคนไม่มีงาน แต่ก็ขอกู้ผ่าน หรือที่เรียกว่า “ลูกค้าเกรด subprime” นั่นเอง

Mortgaged backed securities (MBS) หรือหลักทรัพย์ที่เกิดจากการรวมกันของสินเชื่อบ้านนั้นเป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากความเชื่อที่ว่าผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงต่ำ เกิดกระแสการเก็งกำไรมากมาย รวมไปถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่มากมายที่ผูกอยู่กับ MBS นั้น ไม่ว่าจะเป็น CDO swop หรือประกันความเสี่ยงที่มี MBS เป็นหลักทรัพย์อ้างอิง

มองเผินๆ เหมือน MBS เป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง แถมยังได้เรตติ้งระดับ AAA ทำให้มีนักลงทุนเข้าไปลงทุนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อย กองทุนรวม ธนาคาร หลักทรัพย์ บริษัทประกัน หรือแม้กระทั่งกองทุนรวมเพื่อการเกษียณ

แต่โชคร้ายที่ MBS ไม่ได้ “ดี” ขนาดนั้น!!

เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว บ้านที่กู้เงินมาเพื่อซื้อเก็งกำไรจำนวนมากเริ่มขายไม่ได้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็ว สินเชื่อจำนวนมากถูกผิดชำระ MBS ที่เคยเป็นทองคำกลับกลายเป็นขยะในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน เงินลงทุนใน MBS กลายเป็นศูนย์ ถึงแม้ว่าบริษัทจัดความน่าเชื่อถือจะจัดให้มันมีความปลอดภัยระดับเกือบสูง สุดก็ตาม

วิกฤตมาเยือนเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็ว เพราะธนาคารทั่วโลกจำนวนมากถือ MBS และประกันของมันเอาไว้ ดังนั้นถ้ามันศูนย์ ธนาคารจะล้มละลาย ประชาชนจะศูนย์สิ้นเงินฝากทั้งหมดของตนเองไป ทุกอย่างจะกลายเป็นหายนะ เศรษฐกิจโลกจะหยุดชะงัก คนทั้งโลกอาจจะอดตายเพราะความละโมบโลภมากของคนเพียงกลุ่มเดียว

เมื่อไม่สามารถปล่อยให้ทุกอย่างพินาศไปกับตาได้ สหรัฐจึงจำใจใช้มาตรการผ่อนปรนทางการเงิน หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ quantitative easing (QE) ซึ่งหมายถึงการพิมพ์เงินใหม่เข้ามาในระบบ และรัฐนำเงินนั้นมาอุ้ม และจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทที่ถือสินทรัพย์ขยะเหล่านั้นไว้

ในช่วงเวลาแห่งวิกฤตนั้น มีคนกลุ่มหนึ่งสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของหายนะ และได้ทำการชอร์ต MBS ไว้เป็นจำนวนมาก (การชอร์ตคือการเก็งกำไรแบบหนึ่ง โดยผู้ชอร์ตจะได้กำไรจากมูลค่าสินทรัพย์ที่ลดลง) ด้วยความเชื่อว่าวันหนึ่งฟองสบู่จะต้องแตก และการลดลงของราคา MBS นั้นจะสร้างกำไรอย่างมากมายมหาศาลจากการชอร์ตนั้นที่สมควรจะได้รับชื่อว่า the big short นั่นเอง

และทำไมนักลงทุนถึงไม่ควรพลาดหนังเรื่องนี้?

นั่นเพราะหนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าโลกใบนี้ไม่มีอะไรปลอดภัยสัก อย่างเดียว ขนาดฝากเงินธนาคารอยู่แท้ๆ ถ้าธนาคารเอาเงินไปลงทุนพลาด เงินฝากทั้งหมดก็กลายเป็นศูนย์ได้ (ถึงแม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเงินฝาก แต่สุดท้าย หนี้เหล่านั้นก็กลายเป็นหนี้สาธารณะ ส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบเราอยู่ดี)

จงลงทุนอย่างระมัดระวัง เพราะสิ่งที่เราเห็นอาจจะเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนไว้ซึ่งความเสี่ยงมากมายมหาศาลอันไม่มีใครล่วงรู้ ไม่มีนักลงทุนคนไหนกำจัดความเสี่ยงได้จนหมด แต่เราสามารถลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด และสิ่งที่ลดความเสี่ยงได้ทรงประสิทธิภาพที่สุดก็คือความรู้ของนักลงทุนนั่นเอง

ลงทุนศาสตร์ – Investerest