ตอนนี้กระแสที่กำลังมา คงหนีไม่พ้น “การทำเหมือง Bitcoin” จนถึงขนาดมีข่าวว่าการ์ดจอกำลังขาดตลาด เพราะคนซื้อเอาไปทำเหมืองกันหมด
อะไรคือการทำเหมือง? อะไรคือ Bitcoin? Bitcoin มีค่าเท่าไร?
เรามาดูมูลค่าของ Bitcoin ย้อนหลังกัน..
สิ้นปี 2015: 1 Bitcoin มีมูลค่า 15,050 บาท
สิ้นปี 2016: 1 Bitcoin มีมูลค่า 34,398 บาท
ปี 2017 เดือน 3: 1 Bitcoin มีมูลค่า 37,298 บาท
ปี 2017 เดือน 4: 1 Bitcoin มีมูลค่า 45,881 บาท
ปี 2017 เดือน 5: 1 Bitcoin มีมูลค่า 78,152 บาท
ปี 2017 ตอนนี้: 1 Bitcoin มีมูลค่า 93,581 บาท
จะเห็นได้ว่ามูลค่าของ Bitcoin เพิ่มขึ้นเรื่อยมา เร็วกว่าตลาดหุ้น และ ทองคำเสียอีก
โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนนี้ มูลค่า Bitcoin ได้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า
พอเรื่องเป็นอย่างนี้คนก็แห่ไปซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับการขุดเหมือง Bitcoin เพราะเมื่อขุดได้จะนำ Bitcoin มาขายได้ราคาดี
ที่น่าสนใจคือเครื่องมือที่จะช่วยในการประมวลผลในการทำเหมืองให้รวดเร็วมากขึ้น คือ “การ์ดจอ”
พอเรื่องเป็นอย่างนี้ราคาหุ้นของบริษัทที่ขายการ์ดจอทั้ง NVIDIA และ AMD ก็พุ่งกระฉูดไม่แพ้ Bitcoin
ที่ผ่านมานอกจากการ์ดจอจะถูกใช้มากขึ้นในวงการ AI หรือ Artificial Intelligence และ วงการเกมส์ที่ Sport Game กำลังเป็นที่นิยมแล้ว
พอมีเรื่องการขุด Bitcoin เข้ามาอีก ก็กลายเป็นว่าการ์ดจอผลิตไม่ทันความต้องการกันเลยทีเดียว
ใครอยากเข้าใจว่า Bitcoin และ Blockchain คืออะไร? ให้ไปตามอ่านบทความเก่าของลงทุนแมนได้ที่บทความหมายเลข 6
สรุปแล้วตอนนี้ เรากำลังเอาเงินของโลกจริงไปซื้อเงินที่ไม่มีอยู่จริงในโลกเสมือน
ถึงตอนนี้คงมีหลายคนบอกว่าแล้วมันจะต่างอะไรกับทองคำ?
ทองคำก็เป็นสิ่งที่คนสมมติขึ้นมาว่าเป็นของมีค่า
ทองคำมันก็เป็นแค่ธาตุหมายเลข 79 ชื่อ Au (Aurum) ไม่ต่างจากธาตุ ออกซิเจน หมายเลข 8 ที่อยู่ในอากาศ
แต่จริงๆแล้วที่ต่างกันก็คือ ออกซิเจน หาได้ง่ายกว่า ใครๆก็สูดอากาศได้ ทองคำเป็นสิ่งมีค่าเพราะมีจำกัด และหายาก
ถ้าเราไปอยู่ดาวอังคาร ผมเชื่อว่า ออกซิเจนก็น่าจะมีค่ามากกว่าทองคำ
แล้วทำยังไงให้อากาศมีค่า? ทำยังไงให้อากาศมีจำกัดบนโลกนี้?
ใครจะไปคิดว่า มนุษย์ได้เสกสิ่งที่อยู่บนโลกดิจิตอล ขึ้นมาให้เป็นของจำกัดได้แล้ว
ตอนนี้ Bitcoin ไม่ต่างอะไรกับ “อากาศ” ที่มีค่า มากกว่าทองคำที่จับต้องได้เสียอีก
ราคาทองคำวันนี้ ทองคำหนัก 1 บาท มีค่าเท่ากับ 20,350 บาท
ราคา Bitcoin วันนี้ 1 Bitcoin มีค่าเท่ากับ 93,581 บาท..
“ผมสามารถคำนวณการเคลื่อนที่ของดวงดาวได้ แต่ผมไม่สามารถคำนวณความบ้าคลั่งของมนุษย์ได้”
เซอร์ ไอแซค นิวตัน ได้กล่าวไว้หลังเหตุการณ์ฟองสบู่บริษัท South Sea แตกในปี 1720..
ที่มาบทความ : http://longtunman.com/1023