บทความตอนที่แล้ว ถ้าเฟดลดขนาดงบดุล ตอนที่ 1 ผมพูดสิ่งที่นักลงทุนและนักกลยุทธ์ต้องเตรียมการปรับพอร์ตการลงทุน และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ จากเหตุการณ์ที่เรียกว่า “การปรับลดขนาดงบดุล” ของธนาคารกลาง ซึ่งหลักๆ แล้ว ภายใน 1-3 ปีข้างหน้า ผมเชื่อว่า จะมีธนาคารกลางซักแห่ง ใน 3 ที่นี้ ที่จะเริ่มดำเนินการดังกล่าว นั้นก็คือ ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งต่างเป็นธนาคารกลางที่ดำเนินการนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ และเข้าซื้อสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร ตราสารหนี้ค้ำประกันสินเชื่อ ตราสารหนี้เอกชน หรืออาจเป็นสินทรัพย์เสี่ยง มาอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤติซับไพรม์
แต่ที่ที่น่าจะมีโอกาสสูงสุดก็คือ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด นั่นเอง
สำหรับวิธีการลดขนาดงบดุลนั้น ผมจะลองวิเคราะห์ และมองภาพกว้างๆ เพื่อเป็นแนวทางไปศึกษากันต่อว่า จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และตลาดเงินอย่างไร ตามนี้นะครับ
1. ลดขนาดงบดุลทันทีภายใน 6-12 เดือนข้างหน้า และชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย
วิธีนี้ หากเฟดเลือกที่จะดำเนินการ แสดงว่า คณะกรรมการ FOMC มองว่า ปัญหาขนาดงบดุลที่ใหญ่เกินไป เป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขในทันที ซึ่งจริงๆ แล้ว ประธานเฟดสาขาย่อยบางสาขา ก็ได้ให้ความเห็นกับสื่อในสหรัฐในทำนองว่า ต้องการให้ลดขนาดงบดุลได้แล้ว เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดสะท้อนความเป็นจริงในทันที ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ ทำให้เกิดการแข่งขันในภาคเอกชนอย่างเป็นธรรมในทันที แต่เพื่อลดผลกระทบเชิงลบ และพยายามไม่ทำให้ตลาดทุนตอบรับด้วยการเทขายสินทรัพย์การลงทุนด้วยความกังวล เฟดน่าจะเลือกส่งสัญญาณ หรือสื่อสารกับนักลงทุนว่า จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายออกไปก่อน ผลต่อตลาดเงินคือ เงินน่าจะไหลเข้าตราสารหนี้ระยะสั้น และไหลออกจากตราสารหนี้ระยะยาวในทันที นี่คือในสหรัฐขณะที่ตราสารหนี้ทั่วโลก ก็จะมีเงินไหลออก และไหลกลับเข้าสหรัฐทำให้ค่าเงิน USD แข็งค่าขึ้นจากระดับปัจจุบันในช่วงสั้น ตรงนี้เอง น่าจะเป็นปัญหาที่รัฐบาลของนายทรัมป์ ต้องไปคิดต่อ เพราะตั้งแต่ 3 เดือนแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐทรัมป์เอง รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาว ก็เคยได้ให้ความเห็นในทำนองว่า ค่าเงิน USD แข็งค่าเกินจริง และลิสต์ประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐมา เพื่ออาจจะยกระดับมาตรการป้องกัน และกีดกันการค้า ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วยเช่นกัน
2. ยังไม่ทำการลดขนาดงบดุลในตอนนี้ และขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปก่อนซักระยะ
หากเฟดดำเนินนโยบายบนเส้นทางนี้ อาจแสดงได้ว่ายังไม่ถึงเวลาของการขายสินทรัพย์ออกมา ซึ่งก็เท่ากับ เฟดยอมรับว่า ผลกระทบที่จะตามมาจากการลดขนาดงบดุล อาจเป็นผลลบมากกว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐโดยรวม แต่เลือกใช้วิธีคือ ไม่ต่ออายุ หรือ Roll Over ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดในพอร์ต ไม่ต้องถึงกับเร่งขายออกจากพอร์ต ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดผันผวนเกินไป โดยความเห็นส่วนตัว เชื่อว่า เฟดมีโอกาสเลือกดำเนินนโยบายข้อ 2 นี้มากที่สุด สาเหตุเป็นเพราะ เราต้องไม่ลืมว่า ตราสารหนี้สหรัฐถูกใช้เป็นเงินทุนสำรองของหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเหตุผลก็คือ ประเทศเหล่านี้ ได้ดุลจากสหรัฐมาอย่างต่อเนื่อง หากเฟดดำเนินนโยบายที่เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป บวกกับนโยบายการคลังที่เห็นแก่สหรัฐ (American First) มากเกินไป ก็จะเป็นผลเสียต่อประเทศเหล่านี้ และมีความเสี่ยงที่จะมีการขายสินทรัพย์ในสกุล USD ออกจากเงินทุนสำรอง เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการพึ่งพิง ซึ่งผมเชื่อว่า ทั้งเฟด รัฐบาลสหรัฐไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงนี
3. ไม่พูดถึงเรื่องการลดขนาดงบดุล หรือยังไม่เริ่มดำเนินการภายใน 1-2 ปีข้างหน้า
ถ้าดำเนินการทางนี้ อาจมองได้ว่า เฟดเห็นความเสี่ยงของการลดขนาดงบดุลว่ารุนแรง และยังไม่เหมาะสมที่จะทำ แต่การที่ยังมีขนาดงบดุลที่ใหญ่ขนาดนี้ ยังไงก็มีผลต่อวินัยทางการคลังของสหรัฐเอง และรวมถึงความเสี่ยงในการถูก Government Shutdown จากกรณีที่ไม่ผ่านสภาเรื่องการขยายเพดานหนี้ หรือ Debt Ceiling อีกทางหนึ่งก็คือ สภาพคล่องในระบบก็จะยังมีปริมาณที่สูง ซึ่งบีบบังคับให้นักลงทุนลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นจนเป็นความชินชา ทั้งๆ ที่แท้จริง อาจจะรับความเสี่ยงไม่ได้ แต่ก็ต้องจำใจเนื่องจากสินทรัพย์การลงทุนเสี่ยงต่ำมันให้ผลตอบแทนที่ต่ำเกินไปจริงๆ แน่นอนว่า ฟองสบู่ในสินทรัพย์เพื่อการลงทุนโดยเฉพาะตราสารทุน หรือ หุ้น จะปรับตัวสูงขึ้นไปอีก ทำให้ฟองสบู่ลูกนี้ใหญ่มากขึ้นกว่าวงจรเศรษฐกิจในรอบก่อนๆ
จะเห็นว่า หากลดขนาดงบดุลเร็วไป ก็ไม่เป็นผลดี ช้าไป ก็ยิ่งมีความเสี่ยง แต่โอกาสที่จะรีบลดขนาดงบดุล น่าจะมีโอกาสน้อยกว่าอีก 2 ทางเลือก ดังนั้น ในมุมของกลยุทธ์การลงทุน หากใครกังวลว่า ประเด็นเรื่องการลดขนาดงบดุลของเฟด จะเกิดขึ้นในปีนี้ และทำให้ตลาดปั่นป่วน ผมมองว่า น่าจะเป็นแค่การคาดการณ์ หรือการโยนหินถามทางจากเฟด แต่ยังไม่ดำเนินการจริงครับ
ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/641353