มาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ผมคิดว่าคลอบคลุมมุมมอง ทั้งรูปแบบและเสถียรภาพทางการเงิน ของวงการฟินเทคในอังกฤษได้ดีมากๆ ดังนี้
ธนาคารโดยทั่วไป จะผสมผสานหน้าที่ของการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่าน Customer Relationship การกู้และฝากของเงินฝากทั้งรายย่อยและรายใหญ่ รวมถึงกิจกรรมทางการเงินต่างๆผ่านตลาดเงินตลาดทุน โดยแบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่
ระดับแรก บริการการจ่ายเงินโดยส่วนใหญ่พึ่งพาเงินสด เดบิตและเครดิตการ์ด รวมถึงการโอนเงินผ่านธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิคส์ โดยปัจจุบัน บริษัทด้านฟินเทคได้ให้บริการการโอนเงินผ่าน “digital wallets” ซึ่งบริษัทด้านการเงินได้รับรายได้ส่วนหนึ่งจากค่าบริการให้กับลูกค้ากลุ่มดังกล่าว
ระดับสอง ได้แก่ ด้าน customer relationship ที่เคยมีพนักงานธนาคารหรือ Teller ถูกแทนที่โดยหน่วยที่เรียกว่า Aggregators หรือการใช้ Application Programme Interfaces (APIs) ในการเป็นตัวช่วยให้กับลูกค้าสำหรับการเข้าถึงการเปรียบเทียบทางด้านราคาของผู้ให้บริการของสินค้าและบริการรายต่างๆ นอกจากนี้ ยังมี “robo advisors” ที่ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ผ่านโปรแกรมที่ช่วยในการเทรดตราสารทางการลงทุนหรือ algorithms เพื่อช่วยให้คำแนะนำด้านการลงทุนให้กับลูกค้ารายย่อย ให้มีการตัดสินที่เฉียบคมมากขึ้น
ระดับที่สาม ได้แก่ การปล่อยกู้ของสินเชื่อรายย่อยและรายใหญ่ ในบรรดาประเทศ G-20 โมเดลทางธุรกิจใหม่ๆมักจะมาจากในส่วนของ Big Data และการวิเคราะห์ถึงความต้องการด้านบริการการเงินและคุณภาพของลูกค้าแบบที่เป็นรายบุคคลเฉพาะตัว หรือที่เรียกว่า peer-to-peer (“P2P”) lending ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ร้อยละ 14 ของสินเชื่อสำหรับลูกค้าที่เป็นธุรกิจรายเล็กของอังกฤษ โดยกว่าครึ่งจะไม่สามารถมีการกู้ยืมเกิดขึ้นหากไม่บริการแบบ P2P
ระดับที่สี่ ได้แก่ บริการ Wholesale Banking และตลาดทุน ทั้งผ่านตัวกลางอย่าง dealer กับไม่ผ่านตัวกลางที่เป็นการส่งคำสั่งทางเล็คทรอนิกส์แบบเต็มตัว โดยที่การเทรดหุ้นและฟิวเจอร์สผ่านทางตลาดอิเล็คทรอนิคส์ และการเทรดแบบใช้การตั้งโปรแกรมคำสั่งล่วงหน้าชนิด Real time อาทิ High-Frequency Trading มีสัดส่วนราว 3 ใน 4 ของปริมาณการเทรดทั้งหมดของตลาดทุนและราวร้อยละ 40 ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในอังกฤษ
ท้ายสุด สถาปัตยกรรมทางด้านการเคลียร์ริ่งและ Settlement ของการชำระเงินของลูกค้ารายใหญ่ๆนั้น ต้องการความเที่ยงตรงจากเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ distributed ledger ที่ช่วยให้การเคลียร์ริ่งทางด้านการจ่ายเงิน สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดเงินเพิ่มขึ้น
ในแง่ของประเด็นของนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับฟินเทค ได้แก่ การจะทำให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ในระบบบริการทางการเงินให้มากยิ่งขึ้นหรือ Financial Inclusion และเพิ่มระดับการแข่งขันให้สูงขึ้น สามารถทำผ่านสิ่งที่เรียกว่า digital identities อาทิ การเปิดเผยและใช้อัตลักษณ์ของตนเองผ่าน biometrics และ cryptography จะช่วยคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการทางดารเงินให้สามารถใช้ได้ ในปี 2010 ใอินเดียสามารถทำให้คนราว 800 ล้านคนหรือ สี่ในห้าคนของประชากรในอินเดียสามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน
คราวนี้ หันมาพิจารณาความเสี่ยงในมุมของกลยุทธ์หรือผลกระทบของ Fintech ต่อเสถียรภาพด้านการเงินกันบ้าง โดยการเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์มการจ่ายเงินและความสัมพันธ์ของลูกค้าอาจจะมีผลต่อปัจจัยพื้นฐานในการวิเคราะห์เช่นกัน ความเสี่ยงหลักแบ่งออกตามธุรกรรมการเงิน Fintech ดังนี้
หนึ่ง ความหลากหลายของการหาแหล่งเงินสำหรับบริษัทแนว peer-to-peer lending ผ่านตลาดทุน อย่างเช่นบริษัท Lending Club ของอเมริกา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับแบงก์รายย่อย นั่นคือการกู้ยืมของธุรกิจขนาดเล็กและผู้บริโภคบางกลุ่ม จากเดิมที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินจากแบงก์รายย่อย ก็สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้จากบริษัทแนว peer-to-peer lending อย่างไรก็ดี ทางด้านเสถียรภาพของแหล่งเงินแนวใหม่นี้ ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะทนทานต่อช่วงเศรษฐกิจซบเซาได้ ตรงนี้ จำเป็นต้องรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
สอง ในแง่ของความเสี่ยงเชิงระบบของบริษัทแนว peer-to-peer lending ต่อระบบเศรษฐกิจ น่าจะพอโล่งใจได้ว่ายังไม่รุนแรงมาก เนื่องจากขนาดของธุรกรรมดังกล่าวยังถือว่าเล็กอยู่ แต่ก็ยังต้องจับตาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึง หลายคนยังตั้งข้อสงสัยไว้ว่าธุรกิจการเงินที่มิได้มี ‘การกู้สั้นเพื่อให้ยืมยาว’ ‘การใช้หนี้เป็นตัวเพิ่มกำไร’ หรือ ‘การออกตราสารทางการเงินที่มีหลักทรัพย์หนุนหลังอย่าง Securitization’ จะเติบโตต่อไปได้อย่างไร ซึ่งในอนาคตหาก P2P lending ดำเนินธุรกิจมาในแนวทางเหล่านี้ ก็ต้องระมัดระวังความเสี่ยงดังกล่าว
สาม ทางฝั่งตลาดทุน การให้คำปรึกษาแบบใช้หุ่นยนต์หรือ AI ก็อาจทำให้เกิดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในตลาดเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการใช้ชุดคำสั่งหรือ Algorithm ในการเทรดหุ้น ก็มีส่วนทำให้สภาพคล่องของตลาดที่แท้จริงผิดเพี้ยนไป โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดอยู่ในช่วงที่เงียบเหงา บรรดาชุดคำสั่งดังกล่าวจะเทรดในตลาดบ่อยขึ้นเพื่อทำกำไร ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าตลาดมีสภาพคล่องรองรับได้ดีเมื่อเกิดวิกฤต ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตจริง จะไม่มีสภาพคล่องรองรับแต่อย่างใด
ท้ายสุด จุดที่เป็นไฮไลต์ของการกำกับวงการ Fintech แบ่งได้เป็นวิธีหลักๆ ดังนี้
หนึ่ง การใช้สนามทดลองที่เรียกว่า regulatory sandboxes สามารถที่จะให้ผู้ประกอบการ Fintech รายใหม่ๆทดลองแนวคิดนวัตกรรมใหม่ๆของตนเองในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเสมือนจริง รวมถึงมีการกำกับจากหน่วยงานภาครัฐด้วย
สอง กระบวนการ authorisation หรือการรับรองความถูกต้องที่ใช้กับสถาบันการเงินในปัจจุบัน สามารถประยุกต์ใช้กับธุรกรรม Fintech โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อโมเดลธุรกิจหรือวิธีทางธุรกิจใหม่ๆ โดยตอนนี้หน่วยงานกำกับของอังกฤษได้ร่วมมือกับบริษัทการเงินของอังกฤษอยู่ในตอนนี้
สาม ธนาคารกลางอังกฤษได้หันมาให้บริษัทแนว Fintech สามารถใช้บริการหักบัญชีและตัดเงินกับระบบของแบงก์ชาติอังกฤษได้ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับแบงก์พาณิชย์ได้ รวมถึงเสริมสร้างให้มีนวัตกรรมใหม่ๆในวงการเงินได้
ผมมองว่านายคาร์นีย์ให้ความสนใจต่อการกำกับ Fintech ในอังกฤษแบบเปิดใจกว้างมากๆและเข้าใจธุรกิจนี้ดีมากครับ
ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/640775