Work Point จะใหญ่กว่า ช่อง 3

เชื่อหรือไม่ครับว่า ณ วันนี้ มูลค่ากิจการของ WORK กับ BEC เหลือห่างกันอีกไม่มาก ทั้งที่เมื่อ 4 ปีที่แล้วก่อนการประมูลทีวีดิจิตอลนั้น มูลค่ากิจการ (Market Cap) ของ BEC เคยใหญ่กว่า WORK ถึงร่วม 10 เท่า เรื่องนี้สอนอะไรหลายอย่าง ทั้งเรื่องการทำธุรกิจ และเรื่องการลงทุนในหุ้น ก่อนอื่นไปทำความรู้จักกับ Market Cap กันก่อนครับ

Market Cap คืออะไร สำคัญอย่างไร

Market Cap ย่อมาจาก Market Capitalization หมายถึง มูลค่ากิจการคำนวณตามราคาตลาดในตลาดหุ้นของบริษัทนั้น ๆ เป็นตัวสะท้อนว่าตลาดให้มูลค่าหุ้นกับบริษัทนั้นเท่าไร

screenhunter_32-mar-24-23-25

รูปที่ 1: Market Cap ของ WORK ณ วันที่ 23 มี.ค. 60 | ที่มา: www.set.or.th

ที่ประจำที่ผมใช้ดู Market Cap ของหุ้น ก็คือเวบตลาดหลักทรัพย์เรานี่เองครับ เพียงใส่ชื่อหุ้นในช่อง Get Quote ช่องมุมบนขวามือในเวบ www.set.or.th แล้วเลือกไปที่ “งบการเงิน/ผลประกอบการ” กวาดตาลงไปล่าง ๆ หน่อยก็จะเจอ Market Cap (มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด) แล้วล่ะครับ ผมชอบดูจากหน้านี้มากก็ตรงที่เราจะสามารถเห็น Market Cap ของหุ้นแต่ละตัวย้อนหลัง 4 ปีด้วยครับ

สิ่งที่ต้องระวังคือ อย่างกรณีของ WORK ตามรูปที่ 1 การที่ Market Cap เพิ่มขึ้นจาก 6,813 ล้าน มาเป็น 24,207 ไม่ได้หมายความว่าราคาหุ้นขึ้นมา 24,207 / 6,813 = 3.55 เท่า เสมอไป ถ้าบริษัทมีการเพิ่มทุน จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น ก็ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไม่แรงเท่ากับการเติบโตของ Market Cap ได้เหมือนกัน ดังนั้นหุ้นในอุดมคติก็คือหุ้นที่มูลค่ากิจการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีการเพิ่มทุน คือสามารถเอากระแสเงินสดที่กิจการสร้างได้ ไปใช้ในการสร้างกำไรให้เติบโต โดยไม่ต้องรบกวนผู้ถือหุ้นด้วการเพิ่มทุน

screenhunter_31-mar-24-23-15

รูปที่ 2: Market Cap ของ BEC Vs WORK ณ วันที่ 24 มี.ค. 60 | ที่มา: Bloomberg

กลับมาที่เรื่องของเรากันบ้าง วันก่อนผมประชุม Investment Committee ที่ บลน.อินฟินิติ ทีมงานได้บอกผมว่า “พี่ ๆ รู้มั้ย Market Cap ของ WORK ใกล้จะเท่ากับ ช่อง 3 แล้ว” เลยอดไม่ได้ต้องลองมาพล็อตออกมาเป็นกราฟยาว ๆ ดู เมื่อก่อนยังจำได้อยู่เลยว่า BEC นี่จัดเป็นหนึ่งในยอดหุ้น Blue Chip มูลค่ากิจการเป็นแสนล้านที่เป็นที่นิยมของเหล่าบรรดากองทุน มักจะซื้อขายกันที่ P/E ค่อนข้างแพง และเป็นหุ้นห่านทองคำจ่ายปันผลดีสม่ำเสมอ

ณ ต้นปี 2013 BEC มี Market Cap 149,500 ล้านบาท ขณะที่ WORK มี Market Cap 11,184 ล้านบาท เล็กกว่าช่องสามกว่าสิบเท่าตัว

ณ วันที่ 24 มี.ค. 2016 BEC มี Market Cap 32,600 ล้านบาท ขณะที่ WORK มี Market Cap 23,789 ล้านบาท เล็กกว่าช่องสามเหลือไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาทแล้ว

ฤา Workpoint กำลังจะใหญ่กว่าช่อง 3 เรื่องนี้สอนอะไรให้เราหลายอย่าง

1. กลยุทธ์สำคัญมากในยามอุตสาหกรรมเปลี่ยน

เรากำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลง การกำหนดกลยุทธ์ที่ถูกต้อง มีผลเป็นตายต่อธุรกิจ ในวันประมูล TV Digital ช่อง 3 คือผู้ชนะการประมูลมากที่สุดคือ 3 ช่อง ทั้ง HD, SD และ Family แต่สิ่งที่ตามมาคือต้นทุนการผลิตรายการที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ผู้ผลิตรายการเจ้าสำคัญ ๆ อย่าง Grammy RS WORK ต่างกันหันไปมีช่องของตัวเองทำให้ส่งรายการมาให้ช่อง 3 น้อยลง ในฝั่งของผู้ชมเองพฤติกรรมการดูทีวีเปลี่ยนไปสิ้นเชิง โดยคนไทยและคนทั่วโลกต่างใช้เวลาว่างในแต่ละวันกับการอยู่ในโลกอินเตอร์เนทโดยเฉพาะ Social Media มากกว่าการดู TV ไปแล้ว หรือกระทั่งทีวีเองก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นทีวีอินเตอร์เนท อย่าง Android TV ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เจ้าของ Social Media หลักที่เป็นที่นิยมของคนไทยก็เริ่มมี Video Content เป็นของตัวเอง ทั้ง Youtube, Facebook Live และ LINE TV การมีช่องเป็นของตัวเองไม่ใช่คำตอบสุดท้ายอีกต่อไป ! สิ่งสำคัญคือการตอบโจทย์คนดูผลิตเนื้อหาที่ใช่ต่างหาก ! ชนิดของรายการที่นิยมดูของคนไทยก็เปลี่ยนไป Ratings Game Show ดัง ๆ เริ่มสูงกว่าละครหลังข่าวเป็นครั้งแรก การมีทีวีหลาย ๆ ช่องเหมือนจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่ถูกต้อง หากเทียบกับการมีทีวีช่องที่ปัง ๆ ไปเลยช่องเดียว

om4vf6hjhy6u5jexxof-o

รูปที่ 3: เรตติ้งทีวีดิจิตอลไทยเดือน ก.พ. 60

จากภาพจะเห็นว่า Ratings ของ Workpoint ปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นมามากขึ้นเรื่อย ๆ และในบาง Segment ถึงกับแซงช่อง 3 ไปได้แล้วก็มีในบางเดือน

2. Be humble หรือ การเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมต้น

ผมจำได้ดีเลยประโยคที่คุณปัญญาพูดว่า ช่อง 3 เป็นระดับครูบาอาจารย์ Workpoint ไม่เคยคิดที่จะไปทาบรุ่นแข่งแน่นอน สะท้อนถึงการเป็นคนอ่อนน้อมของผู้บริหาร รู้จักรักษาความสัมพันธ์อันดี และตั้งใจทำสิ่งที่ตนถนัดให้ดีที่สุด ขณะที่ผู้บริหารหลาย ๆ ช่อง ผมจำได้ว่าจะค่อนข้างมั่นใจในตัวเอง วางเป้าหมายจะเติบโต ยิ่งใหญ่ แต่จนถึงวันนี้ผมว่าผลลัพธ์มันพิสูจน์ชัดในตัวมันเองเรียบร้อย

screenhunter_38-apr-04-15-23

ที่มา: มติชน 10 ธ.ค. 57 (หลังประมูลทีวีดิจิตอลเสร็จใหม่ ๆ)

3. หุ้นดีราคาขึ้นเรื่อย ๆ หุ้นแย่ก็ราคาลงเรื่อย ๆ

อย่าหลงรักหุ้น เพราะหุ้นไม่เคยหลงรักเรา หุ้นที่พื้นฐานแย่ลงเรื่อย ๆ กำไรแย่ลงเรื่อย ๆ ยิ่งถัวก็ยิ่งเจ็บ (ลองดูตัวอย่าง SSI สิครับ) ขณะที่หุ้นที่พื้นฐานดีขึ้น กำไรดีขึ้น ระยะยาวราคาก็ขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน พฤติกรรมที่ว่านี้ “ปีเตอร์ ลินซ์” เปรียบเทียบว่าเป็นการ “เด็ดดอกไม้ แล้วรดน้ำวัชพืช” คือแทนที่จะเก็บหุ้นที่มีแนวโน้มที่ดีและมีโอกาสทำกำไรสูงๆเอาไว้ กลับรีบขายออกไป เปรียบเหมือนการ “เด็ดดอกไม้” ทิ้ง ทั้งๆที่ควรจะปล่อยให้มันเติบโตงอกงาม ส่วนหุ้นที่แย่ๆและขาดทุนซึ่งน่าจะขายทิ้งไป กลับยังถือเก็บไว้ในพอร์ต เปรียบเหมือนการ “รดน้ำวัชพืช” ทั้งๆที่มันไม่ได้ให้ประโยชน์หรือสร้างผลตอบแทนใดๆให้เลย “ปีเตอร์ ลินซ์” กล่าวว่า ในการลงทุนนั้น “คุณจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี จากการเด็ดดอกไม้และรดน้ำวัชพืช” (ที่มา Thaivi.org)

ทั้งหมดก็เป็น 3 สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเรื่องนี้ ทั้งในมุมมองของการทำธุรกิจ มุมมองสำหรับการเป็นนักลงทุนหุ้นที่ดี ไปจนถึงมุมมองของการวางตัวในสังคม สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ

FundTalk รายงาน