สวัสดีครับ ผู้ต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดาทุกท่าน เราลงทุนใน LTF กันมาก็นมนาน แต่จะมีใครรู้บ้างว่าควรมีระบบคัดกรองอย่างไร เพื่อให้ได้กองทุนลดหย่อนภาษีที่เหมาะกับเรา และมีประสิทธิภาพสูงสุด? ผมขออนุญาตใช้บทความนี้พาทุกท่านกลับมาค้นหาอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เงินลงทุนของเราคร้ังนี้ จะดีที่สุด ณ จุดที่เราตัดสินใจลงทุนครับ
4 ปัจจัยที่ต้องพิจารณาเพื่อคัดกรองกองทุน LTF ที่ดี
1. ดูผลตอบแทนระยะยาว
ยาวในที่นี้ เอา 3 ปี 5 ปี เลยนะครับ ส่วนตัวแล้ว ผมมีความเชื่อว่า ยิ่งกองทุนเปิดมานานเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีอดีตให้เราลองศึกษามากเท่านั้น ว่าแล้ว เราก็เรียงอันดับกองทุน LTF ที่ผลตอบแทนดีที่สุดในรอบ 5 ปีออกมาให้หมด เราจะเลือกแค่ 20 กองแรกที่มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปีดีที่สุดมาวิเคราะห์ต่อ
แต่ข้อที่ต้องรู้ก็คือ วิธีนี้ จะทำให้เหล่ากองทุนเปิดใหม่ที่ยังไม่มีผลการดำเนินงานระยะยาว จะไม่เข้าเงื่อนไขในระบบคัดกรองนะครับ
2. ดูผลตอบแทนระยะสั้น
3 เดือน 6 เดือน 1 ปี คือระยะสั้นที่ผมว่า สั้นกว่า 3 เดือน ไม่ต้องไปดูครับ ไม่ได้บอกอะไรเรามาก สาเหตุที่ต้องดูผลตอบแทนระยะสั้นประกอบ ถึงแม้ว่า ระยะเวลาการลงทุนน LTF ของเราจะยาวมากกว่า 5 ปีปฏิทินก็เพราะ มันสามารถทำให้เราเข้าใจสไตล์การบริหารของผู้จัดการกองทุนมากขึ้น ยิ่งในช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา ที่ตลาดหุ้นไทยผันผวนแบบนี้ ถ้าผลตอบแทนระยะสั้นของกองทุนไหนชนะดัชนี และผันผวนต่ำ ก็แสดงว่า มีการบริหารความเสี่ยงได้ดีทีเดียว
3. ดูผลตอบแทนเปรียบเทียบความเสี่ยง
ในที่นี้ ที่นิยมใช้กันก็คือ Sharpe Ratio นั้นเองครับ โดยค่า Sharpe Ratio นี้ ยิ่งมากยิ่งแปลว่า ผลตอบแทนคุ้มกับความเสี่ยง ดังนั้น เวลาดูว่ากองไหนดีกว่ากองไหน ก็ให้ดูกองทุนที่ค่า Sharpe Ratio สูงกว่า เช่นเดียวกัน ผมแนะนำให้ดู Information Ratio (IR) ควบคู่กันไปด้วย โดยในส่วนของ IR นั้นคำนวนคล้ายๆกับ Sharpe Ratio โดย Information Ratio หาได้จาก Return – Benchmark เเละหารด้วย Standard deviation (ในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ โดยส่วนตัว ผมแนะนำให้ดูค่า Sharpe Ratio และ Information Ratio ที่ระยะยาวหน่อย 3 ปี และ 5 ปี ขึ้นไปครับ)
4. เข้าไปดูนโยบายการลงทุน
กองทุนที่ติดใน List หลังจากที่เราเปรียบเทียบทั้ง 3 ข้อข้างต้น คือ ผลตอบแทนระยะยาว ระยะสั้น และดู Sharpe Ratio แล้ว เราก็เลือกกองทุนที่เราคิดว่าน่าสนใจออกมาซัก 5 กอง มาศึกษาต่อว่า นโยบายการลงทุนเป็นอย่างไร ลงทุนในหุ้นประเภทไหน ค่าธรรมเนียมแพงหรือเปล่า เพื่อดูว่ามันเหมาะกับเราที่จะฝากผีฝากไข้ในระยะยาวได้จริงๆหรือเปล่า
เมื่อเราก็ทำการบ้านผ่านการคัดกรอง 4 ข้อข้างต้นมาแล้ว ได้กองทุน 6 กองตามนนี้ครับ
รูปที่ 1 : กองทุน LTF ที่ FINNOMENA คัดกรอง (ข้อมูล ณ วันที่ 18 พ.ย. 2559)
แหล่งที่มา : Bloomberg
อ่าน “เจาะลึก 5 สิ่งที่ต้องรู้เพื่อเลือก LTF & RMF ที่เยี่ยมยอด” คลิ๊กที่นี่
เราไล่ไปดูทีละกองทุน
กองทุนเปิด บรรษัทภิบาล หุ้นระยะยาว (CG-LTF)
นโยบายการลงทุนของผู้จัดการกองทุน มีนโยบายว่า จะคัดสรรเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่มีอัตราการเติบโตที่ดีสม่ำเสมอ โดยจะต้องเป็นบริษัทที่มีธรรมมาภิบาล บริหารกิจการเป็นระบบและโปร่งใส และได้รับคัดเลือกให้เป็น Good Corporate Governance หรือ CG จาก สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD
ตรงนี้ละ ที่อาจจะทำให้ผลการดำเนินงานในระยะสั้นอาจดูไม่หวือหวา เพราะว่า หุ้นที่ปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อาจขึ้นมาไม่ใช่เพราะปัจจัยพื้นฐานที่ดี แต่เพราะมี Fund Flow ไหลเข้ามาลงทุนในระยะสั้น แต่ถ้าหวังผลตอบแทนในระยะยาวแล้ว การเป็น Good Corporate Governance จะทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข็งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และแสดงออกมาผ่านผลตอบแทน ปัจจุบัน CG-LTF ถือเป็นกองทุนที่มีผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี ดีที่สุดในตลาด (ข้อมูลถึงวันที่ 18 พ.ย. 2559)
ปล. CG-LTF มีค่าธรรมเนียมการขาย (Front-end) อยู่ 1% นนั่นหมายความว่า ถ้าอยากลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี 100,000 บาท จะต้องซื้อ 101,000 บาท เพราะ 1,000 บาท จะเป็นค่าธรรมเนียมซื้อกองทุนนะครับ
กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว (B-LTF)
เน้นเลือกหุ้นแบบ Bottom-up และลงทุนระยะยาวในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียน ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งมีศักยภาพสูงในการให้ผลตอบแทนจากการลงทุน ปัจจุบันนี้ ขนาดกองทุน B-LTF ค่อนข้างใหญ่ (มากกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท) ซึ่งถือว่าเป็นกองทุน LTF ที่ใหญ่ที่สุดในระบบคัดกรองของเรา ทำให้พอร์ตอยู่ในหุ้นขนาดใหญ่ในดัชนี SET50 ไม่มีหุ้นขนาดเล็ก
ความน่าสนใจของกองทุนนี้คือ ในปีนี้ที่ Fund Flow ต่างชาติผันผวน แต่กองทุนกลับสามารถทำผลการดำเนินงานได้ดีทั้งๆที่มีหุ้น Big Cap เป้นส่วนใหญ่ ทำให้เราเห็นความสามารถในการเลือกหุ้น และการจัดการความเสี่ยงของผู้จัดการกองทุนได้เป็นอย่างดี กอง B-LTF ถือเป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินงานสม่ำเสมอที่สุดกองหนึ่งในตลาดเลยทีเดียว
กองทุนเปิดภัทร หุ้นระยะยาวปันผล (PHATRA LTFD)
มีนโยบายการลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานและผลประกอบการดี มีแนวโน้มการเจริญเติบโตสูง และมีความมั่นคงในฐานะการเงิน เป็นอีกหนึ่งกองทุนที่ถือว่าผลการดำเนินงานระยะสั้นในปีนี้น่าพอใจ ในขณะที่ผลการดำเนินงานระยะยาว 5 ปี ก็อยู่ในอันดับ 3 ของตาราง ผู้จัดการกองทุน PHATRA LTFD เลือกลงทุนในหุ้นทั้ง Growth และ Value โดยพอร์ตการลงทุนเน้นในหุ้นขนาดใหญ่
จุดเด่นอีก 2 อย่างของกองทุนนี้ก็คือ ค่าธรรมเนียมการจัดการถือว่าถูกที่สุดในบรรดา 6 กองทุนที่ FINNOMENA เลือกมา และสำหรับคนที่อยากลดความเสี่ยงของพอร์ต และต้องการกระแสเงินสดระหว่างทางที่ลงทุนได้ เพราะ PHATRA LTFD มีนโยบายจ่ายปันผลปีละไม่เกิน 2 ครั้ง ซึ่งเมื่อดูย้อนหลัง กองทุนก็สามารถจ่ายผลตอบแทนได้ทุกปีมา 8 ปีติดต่อกัน
กองทุนเปิด แวลูพลัส ปันผล หุ้นระยะยาว (VALUE-D LTF)
เป็นอีกหนึ่งกองทุนจาก บลจ.ยูโอบี ที่ติดอยู่ในระบบคัดกรองของ FINNOMNENA โดย VALUE-D LTF มีนโยบายการลงทุนคือ เป็นนโยบายเชิงรุก แบบ Bottom up จะคัดเลือกบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานและผลประกอบการดี มีแนวโน้มการเติบโตที่สม่ำเสมอ และมีเสถียรภาพทางการเงิน พอร์ตการลงทุนส่วนใหญ่ จะอยู่ในหุ้นขนาดใหญ่ในดัชนี SET50 แต่ไม่ได้ลงทุนหรือให้น้ำหนักใกล้เคียงกับดัชนี
ข้อแตกต่างของ VALUED-LTF กับ CG-LTF คือ ทาง CG-LTF จะมีการลงทุนในหุ้นขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก ซึ่งมีคุณลักษณะเป็น Growth Stock บ้างในพอร์ต แต่ VALUE-D LTF ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า เน้น VALUE และมีจุดเด่นอีกข้อคือ มีนโยบายจ่ายปันผล ปีละไม่เกิน 1 ครั้ง (ปกติ กองทุนจะจ่ายปันผลในช่วงเดือน พ.ค. ของทุกปี)
กองทุนเปิดวรรณเอเอ็มซีเล็คทีฟโกรทหุ้นระยะยาว (1SG-LTF)
กองทุนนี้มีนโยบายคือ ลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียน หรือหุ้นที่กำลังจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (พวกหุ้น IPO กองนี้ก็สามารถลงทุนได้นะ) โดยคัดสรรเฉพาะหุ้นของบริษัทที่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานดี อัตราการเติบโตสูง หรือมีแนวโน้มการจ่ายเงินปันผลดี แต่ถึงหุ้นจ่ายปันผลออกมาดี แต่กองทุน 1SG-LTF ก็ไม่มีนโยบายจ่ายปันผลออกมานะครับ
ชื่อของกองทุนก็บอกอยู่แล้วว่า Selective Growth แสดงว่า กองทุนเลือกหุ้นโดยมองที่ Growth หรือ อัตราการเติบโตในอนาคตเป็นสำคัญ ลักษณะของหุ้นที่คัดเลือกเข้าพอร์ต ก็ถือว่าใกล้เคียงกับ 5 กองที่ผ่านระบบคัดกรองของเรา แต่ใช้วิธีการบริหารแบบ Active Management ปรับพอร์ตให้เหมาะกับสถานการณ์ ทำให้ ถึงกองทุนจะไม่ได้ทำผลตอบแทนสูงจนเป็นที่สนใจของนักลงทุน แต่ก็ถือว่า ได้ความสม่ำเสมอ และก็ติดกลุ่ม TOP 10 LTF ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี 7 ปี หรือ 5 ปี ก็ตาม
กองทุนเปิด แมนูไลฟ์ สเตร็งค์ คอร์ หุ้นระยะยาว (MS-CORE LTF)
กองทุนนี้มีนโยบายชัดเจนเลยคือ ลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียน หรือหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50 Index หรือหุ้นขนาดใหญ่ 50 ตัวเท่านั้น จะไม่มีการเอาหุ้นขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก เข้ามาสมในพอร์ตเลย แต่ก็ยังคัดเลือกหุ้นและบริหารพอร์ตแบบ Active Management Portfolio หรือ กลยุทธ์ลงทุนแบบเชิงรุก โดยมีเป้าหมายคือชนะดัชนี SET50 Index ในระยะยาว ทั้งนี้ นอกจากหุ้น
จริงๆ เทียบผลการดำเนินงานกองทุน MS-CORE LTF ไม่ยากครับ ผมมักจะเทียบกับ SET50 Index ไปเลยตรงๆ เพราะนโยบายการลงทุนของกองทุนก็กำหนดไว้ชัดเจนแล้ว จุดเด่นอีกข้อของ MS-CORE LTF คือ เป็นกองทุนที่มีค่า Information Ratio 3 ปี และ 5 ปี สูงสุด แสดงให้เห็นว่า มีผลตอบแทนสูงเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงหรือความผันผวนของกองทุนเอง กองทุนนี้จึงเป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากได้กองทุนที่ราคา NAV ผันผวนน้อย แต่ยังได้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาว
รูปที่ 2 : กองทุน LTF ที่ FINNOMENA คัดกรอง (ข้อมูล ณ วันที่ 18 พ.ย. 2559)
แหล่งที่มา : Bloomberg
นี่คือ 6 กองทุนที่ผ่านระบบคัดกรองของ FINNOMENA
แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่า กองทุนที่เหลือจะมีโอกาสให้ผลตอบแทนน้อยกว่า หรือมีประสิทธิภาพน้อยกว่านะครับ นักลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาใน Fund Fact Sheet และหนังสือชี้ชวน เพื่อให้ได้ความรู้และความเข้าใจในกองทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่า จะทำให้เราได้ลงทุน + ใช้ิทธิลดหย่อนภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า”LTF”
คำเตือน
• การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
• ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันผลการดำเนินในอนาคต
• การนำเสนอข้อมูลข้างต้น มิใช่การให้คำแนะนำการลงทุน
• การลงทุนใดๆ ต้องเกิดจากการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจลงทุน บนความเสี่ยงที่รับได้ของนักลงทุนเอง
• ทางผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิ์ ไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสียในทุกกรณีที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ข้อมูลข้างต้น