Market Indicators

ผมว่าปัญหาหนักใจอย่างหนึ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่อยากรู้เวลาที่จะตัดสินใจลงมือซื้อขาย คือ ตอนที่ตลาดหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลง เราจะเชื่อถือได้อย่างไรว่าการปรับตัวขึ้นหรือลงของตลาดหุ้นมีความน่าเชื่อถือขนาดไหน และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าตลาดจะไม่ได้ส่งสัญญาหลอก ๆ ออกมา

แนวทางในการหาคำตอบข้างต้นคงต้องบอกว่าไม่มีวิธีในการหาคำตอบได้แม่นยำถูกต้อง 100% แต่แนวทางของการวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้น จะนิยมวิเคราะห์ Indicators เพื่อช่วยเสริมความมั่นใจหรือใช้เป็นสัญญาณเตือน ในช่วงที่กำลังตัดสินใจลงมือซื้อขาย โดยส่วนใหญ่ Indicators ที่ใช้กันอยู่จะเป็น Indicators ประเภท Technical Indicator แต่สำหรับบทความนี้ผม Daddy Trader หนึ่งในทีมของ TFEX Station จะมาแนะนำให้รู้จักกับ Indicators อีกประเภทหนึ่งที่ใช้ในการวิเคราะห์ตลาด ที่เรียกว่า “Market Indicators” 

Market Indicators เป็น Indicators ที่ใช้ในการเจาะลึกพฤติกรรมองค์ประกอบของตลาด ซึ่งสามารถนำมาใช้งานได้ดีในการวิเคราะห์สำหรับซื้อขาย SET50 Index Futures ในตลาด TFEX และผมเห็นว่ายังไม่ค่อยมีใครแนะนำเกี่ยวกับ Indicators ประเภทนี้มากนัก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้ให้บริการโปรแกรมวิเคราะห์กราฟในประเทศไทยยังไม่มี Market Indicators ให้ใช้บริการ (ถ้าผู้ให้บริการเจ้าไหนสนใจให้บริการรีบทำเลยนะครับ เดี๋ยว TFEX Station จะช่วยเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนได้รู้จักอีกแรง)

Market Indicators เปรียบเทียบกับ Technical Indicators

Technical Indicators เป็น Indicators ส่วนใหญ่ที่เรารู้จักและใช้งานกันอยู่ การคำนวณค่าของ Indicators ประเภทนี้ จะใช้ข้อมูลราคาและ/หรือปริมาณการซื้อขายของหุ้นหรือดัชนีอ้างอิง โดยจะนำค่า Indicators ที่ได้ มาวิเคราะห์แนวโน้ม (Trend) โมเมนตัม (Momentum) หรือความผันผวน (Volatility) 

ยกตัวอย่าง Technical Indicators เช่น การคำนวณ Simple Moving Average (SMA) จะใช้ข้อมูลราคาของหุ้นหรือดัชนีอ้างอิงเพียงตัวเดียวมาคำนวณค่าเฉลี่ยตามระยะเวลาย้อนหลังที่สนใจ และแสดงค่าออกมาในรูปของกราฟต่อเนื่อง เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ Trend ส่วนการคำนวณ Relative Strength Index (RSI) ก็จะใช้ราคาของหุ้นหรือดัชนีอ้างอิงเพียงตัวเดียวมาคำนวณด้วยสูตรของ RSI และแสดงออกมาในรูปกราฟต่อเนื่อง เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ Momentum เป็นต้น

การใช้ Technical Indicators กับหุ้นรายตัวจะไม่มีประเด็นต้องพิจารณามากนัก เนื่องจากข้อมูลราคาและปริมาณการซื้อขายจะเป็นของหุ้นตัวนั้นเดี่ยว ๆ เพียงตัวเดียว แต่สำหรับดัชนีตลาดหลักทรัยพ์ซึ่งเป็นค่าที่คำนวณมาจากราคาหุ้นหลาย ๆ ตัวที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี การใช้ Technical Indicators ที่คำนวณจากค่าดัชนี หรือปริมาณการซื้อขายของดัชนีเพียงอย่างเดียว อาจให้ผลที่คลาดเคลื่อนได้ ในกรณีที่การเปลี่ยนแปลงของดัชนีมีผลมาจาการเปลี่ยนแปลงราคาหรือปริมาณการซื้อขายของหุ้นที่เป็นองค์ประกอบเพียงไม่กี่ตัว โดยที่ราคาหุ้นตัวอื่น ๆ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

ยกตัวอย่างกรณีที่มีความน่าสงสัยเกี่ยวกับการปรับตัวขึ้นลงของดัชนี SET50 เช่น ช่วงเวลาที่เรากำลังสนใจตลาดหุ้นอยู่นั้น ดัชนี SET50 มีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้น แต่เมื่อเราเข้าไปดูข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมของหุ้นทุกตัวที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี SET50 แล้วพบว่า การที่ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น มาจากการที่หุ้นขนาดใหญ่หรือหุ้นที่มูลค่าตลาด (Market Cap.) สูง มีการปรับตัวสูงขึ้น แต่หุ้นขนาดใหญ่ที่ราคาเพิ่มขึ้นเหล่านี้มีปริมาณการซื้อขายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนกลุ่มของหุ้นที่มีการปรับตัวลดลงมีมากกว่า และมีปริมาณการซื้อขายเป็นสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายรวมของหุ้นใน SET50 ทุกตัว ซึ่งจากข้อมูลที่เจาะลึกไปยังหุ้นแต่ละตัว ช่วยให้ตีความได้ว่า การปรับตัวขึ้นของดัชนี SET50 มีข้อชวนสงสัย หรือเตือนว่าการปรับตัวขึ้นน่าจะไม่ยั่งยืน เป็นต้น

Market Indicators เสริมมุมมองเชิงลึก

Market Indicators จะเป็น Indicators ที่ใช้ในการเจาะลึกเพื่อดูพฤติกรรมของหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของตลาดนั้น ๆ ด้วย โดยสูตรที่ใช้ในการวิเคราะห์จะใช้ ข้อมูลราคา และ/หรือ ปริมาณการซื้อขายของหุ้นหรือสินค้าทุกตัวที่เป็นองค์ประกอบของตลาดมาคำนวณ ดังนั้น เมื่อเราวิเคราะห์ Market Indicators จะได้ข้อมูลว่า การปรับตัวขึ้นหรือลงของตลาดโดยรวมมีคุณภาพมีความแข็งแกร่งน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด สามารถใช้เป็น Indicators ที่ช่วยเสริมความมั่นใจในการวิเคราะห์ทางเทคนิคสำหรับดัชนีตลาดได้เป็นอย่างดี

ขอทำความเข้าใจกับผู้อ่านอีกสักรอบครับว่า Market Indicators ไม่ใช่ Indicators ที่สร้างขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์หุ้นหรือสินค้าตัวใดตัวหนึ่ง แต่จะสร้างขึ้นมาสำหรับวิเคราะห์ตัวตลาดโดยรวมทั้งตลาด โดยใช้ข้อมูลจากหุ้นหรือสินค้าทุกตัวในตลาดมาเป็นส่วนประกอบของสูตรในการคำนวณด้วย

ตัวอย่าง Market Indicators

จากที่ได้เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ว่า Market Indicators จะคำนวณจากข้อมูลของหุ้นหรือสินค้าทุกตัวที่เป็นองค์ประกอบของตลาดที่เราสนใจ ตัวอย่างของข้อมูลที่มักถูกนำมาใช้คำนวณ Market Indicators เช่น

  • จำนวนหุ้นที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • จำนวนหุ้นที่ราคาปรับตัวลดลง
  • จำนวนหุ้นที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง
  • มูลค่าการซื้อขายรวมของหุ้นที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • มูลค่าการซื้อขายรวมของหุ้นที่มีการปรับตัวลดลง
  • จำนวนหุ้นที่ทำ New High ในรอบ x วัน หรือ x สัปดาห์
  • จำนวนหุ้นที่ทำ New Low ในรอบ x วัน หรือ x สัปดาห์ เป็นต้น
  • มูลค่าการซื้อขายแยกตามประเภทหรือกลุ่มนักลงทุน

ส่วน Market Indicators ที่นิยมใช้ในการเจาะลึกพฤติกรรมของตลาด โดยมากมักจะคำนวณแล้ววาดออกมาเป็นกราฟต่อเนื่องเพื่อดูทิศทางแนวโน้มของค่า Market Indicators หรือความสอดคล้องระหว่าง Market Indicators กับดัชนีตลาด ซึ่งตัวอย่าง Market Indicators ที่ได้รับความนิยม เช่น

  • New High – New Low
  • จำนวนหุ้นที่มีราคาตลาดสูงกว่า Moving Average x วัน
  • Arms Index (TRIN)
  • Advance Decline Line
  • Advance-Decline Volume Line
  • Put/Call Ratio
  • Volatility Index (VIX) เป็นต้น

ตัวอย่าง Market Indicators เพื่อเสริมความเข้าใจ

ในที่นี้ผมจะไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ Market Indicators ครบทุกตัว แต่จะลองยกตัวอย่าง สูตรคำนวณและแนวทางในการวิเคราะห์ตลาดรวมโดยใช้ Advance-Decline Volume Line เพื่อให้ไอเดีย ว่าการใช้ข้อมูลของหุ้นทุกตัวที่เป็นองค์ประกอบของตลาดมาคำนวณนั้นเป็นอย่างไร เพื่อเสริมให้เพื่อน ๆ มีความเข้าใจเกี่ยวกับ Market Indicators มากยิ่งขึ้น

Advance-Decline Volume Line จะเริ่มจากการคำนวณค่า Net Advance Volume โดยการเอามูลค่าการซื้อขายของหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้น (Advance Trading Value) ลบด้วยมูลค่าการซื้อขายของหุ้นทุกตัวที่เป็นองค์ประกอบของตลาดที่ปรับตัวลดลง (Decline Trading Value) สมมติตลาดที่เราสนใจ คือ SET50  ในวันนั้นมีหุ้น 30 ตัวที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมีมูลค่าการซื้อขาย 20,000 ล้านบาท ส่วนหุ้นอีก 20 ตัวที่ปรับตัวลดลงมีมูลค่าการซื้อขาย 12,000 ล้านบาท เราจะคำนวณค่า Net Advance Volume ได้เท่ากับ 20,000-12,000 = 8,000 ล้านบาท

การพิจารณา Market Indicators เพียงค่าเดียวอาจให้มุมมองในการวิเคราะห์ได้ไม่มากนัก จึงนิยมนำค่าของ Indicators หลาย ๆ ตัวมาวาดออมาในรูปของกราฟต่อเนื่อง สำหรับกราฟ Advance-Decline Volume Line จะแสดงเป็นค่าของผลรวมสะสมไปเรื่อย ๆ โดยค่า Advance Volume Line ของวันนี้ จะเท่ากับค่า Advance Volume Line ของเมื่อวาน บวกด้วย Net Advance Volume ของวันนี้

จากแนวทางการคำนวณค่า Advance Decline Volume Line ของดัชนี SET50 จะช่วยให้เห็นว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงของดัชนี SET50 มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด โดยดูว่ามูลค่าการซื้อขายของหุ้นทั้ง 50 ตัวสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ เช่น ถ้าดัชนี SET 50 ปรับตัวเพิ่มขึ้น และ Net Advance Volume มีค่าเป็นบวก (มูลค่าการซื้อขายของหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่ามูลค่าการซื้อขายของหุ้นที่ปรับตัวลดลง) ก็แสดงให้เห็นว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนี SET50 มีความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าดัชนี SET50 ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ Net Advance Volume มีค่าติดลบ (มูลค่าการซ้อขายของหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นน้อยกว่ามูลค่าการซื้อขายของหุ้นที่ปรับตัวลดลง) ก็จะเป็นสัญญาณชวนให้สงสัยว่าการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนี SET50 ว่าจะเป็นของจริงหรือไม่ 

สรุป

Market Indicators เป็น Indicators ที่ช่วยในการวิเคราะห์ตลาดหรือดัชนีต่าง ๆ โดยใช้ข้อมูลราคาหรือปริมาณการซื้อขาย หรือพฤติกรรม ของหุ้นทุกตัวที่เป็นองค์ประกอบมาใช้ในการคำนวณค่า ดังนั้น Market Indicators น่าจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการซื้อขาย SET50 Index Futures ซึ่งมีสินค้าอ้างอิงเป็นดัชนี SET50 โดยการพิจารณาข้อมูล Market Indicators ร่วมกับการปรับตัวขึ้นลงของดัชนี SET50 น่าจะช่วยให้นักลงทุนได้มุมมองที่ลึกขึ้นในการวิเคราะห์ทิศทางของดัชนี SET50 ครับ….

เขียนโดย Daddy Trader
เผยแพร่ในนามของ TFEXStation ฝากติดตาม Facebook Page กันด้วยนะคร้าบบบบ