สวัสดีครับ กลับมาพบกับผม TAXBugnoms อีกครั้งกับบทความภาคต่อของ LTF และ RMF กันอีกครั้ง ใน ตอนที่แล้ว เรารู้กันไปแล้วใช่ไหมครับว่า การซื้อ LTF และ RMF ให้ดีนั้น ต้องอย่าทำผิด และให้ทำตามเงื่อนไขภาษี แต่ตอนนี้เราจะมารู้และล้วงลึกกันต่อไปครับว่า ถ้าทำผิดแล้ว ชีวิตจะเป็นยังไงต่อไป และจะเดินต่อไปทางไหนดี?
โดยในตอนนี้ผมขอเริ่มจาก LTF ก่อนครับ ซึ่งความผิดสำหรับนั้นจะมีอยู่ 2 เรื่องนั่นคือ ซื้อเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ และ ขายก่อนตามที่กฎหมายกำหนด
ซื้อเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้
ขอทวนอีกครั้งครับสำหรับเงื่อนไขของ LTF ว่าโดยปกติแล้วกฎหมายกำหนดเงื่อนไขในการซื้อไว้ที่ 15% ของเงินได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท นั่นคือ ในแต่ละปีนั้น เราควรจะรู้โดยประมาณก่อนว่า เรามีรายได้ทั้งปีเท่าไร เพื่อที่จะได้ประมาณการซื้อไว้ถูกต้อง
สมมุตินายเก่าคนดีคนเดิม มีรายได้ต่อปีคือ 1,000,000 บาท นั่นคือ นายเก่าจะสามารถซื้อ LTF ได้สูงสุดจำนวน 150,000 บาท (เพราะสูงสุดคือ 15% ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อชนเพดานแล้วก็ไม่สามารถจะไปต่อได้)
แต่ถ้าหากเป็นนายใหม่ ที่มีรายได้ต่อปีคือ 4,000,000 บาท (โหววว พ่อคนรวย) จะสามารถซื้อ LTF ได้สูงสุดเพียง 500,000 บาท (เพราะ 15% ของ 4,000,000 คือ 600,000 บาท ซึ่งเกินกว่าสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนด)
แต่จากตัวอย่างที่ว่า ส่งผลไปถึงปัญหาชีวิตจริง คือ นายเก่าคนดีคนเดิมบางทียังเพิ่มเติมโดยการซื้อเกินสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนด นั่นคือซื้อไปที่ 200,000 บาท จากที่กฎหมายกำหนดให้ซื้อเพียง 150,000 บาท ทีนี้สิ่งทีเกิดขึ้นจะเป็นตามนี้ครับ
1.) ถ้านายเก่าเพิ่งซื้อ LTF เป็นครั้งแรกในปีนี้ และยังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี (ยังไม่ยื่นแบบแสดงรายการ) คำแนะนำที่ผมมีให้นายเก่านั้นคือ “ขายมันซะ” และกรุณานำกำไรจากการขายมายื่นภาษีด้วย
เช่น จากกรณีนี้นายเก่า จะขายส่วนเกิน (ต้นทุน) 50,000 บาททิ้ง สมมติว่าได้กำไรมา 10% คือ 5,000 บาท นายเก่าก็มีหน้าที่นำกำไร 5,000 บาท มายื่นเสียภาษีสำหรับปีนี้ (การขายก่อน LTF ครบกำหนด โดยปกติจะถูก บลจ.หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 3% ครับ) และนำส่วนที่เหลือ 150,000 บาทมาลดหย่อนภาษีตามปกติ
หลายคนอ่านถึงตรงนี้ คงจะสงสัยว่าทำไมต้องขายด้วยฟะ!! กะอีแค่นำมาลดหย่อนภาษีแค่สิทธิ ส่วนที่เกินก็มุบมิบไม่บอกใคร ใครเล่าจะรู้? เอาล่ะ..เรามาดูกันต่อดีกว่าครับ
2.) ถ้าหากครั้งนี้ไม่ใช่ปีแรกที่ซื้อ และนายเก่าเลือกที่จะปล่อยสิทธิ์ที่เกินจำนวน 50,000 บาททิ้งไว้ โดยเลือกใช้ลดหย่อนภาษีแค่ 150,000 บาท และอยู่เงียบๆต่อไปจนถึงวันครบกำหนดขายได้ตามที่กฎหมายกำหนด (5 ปีปฎิทิน และเปลี่ยนเป็น 7 ปีปฎิทินตั้งแต่ปี 2559) แล้วขายพรวดเดียวมาเลยทั้งจำนวน 200,000 บาท สิ่งที่เกิดขึ้นในทางทฤษฏีก็คือ ทางบลจ.จะต้องหักภาษีส่วนที่ไม่ได้ใช้สิทธิไว้ (3% เหมือนกรณีแรก) เพราะถือว่ากำไรส่วนที่ไม่ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายต้องนำมาเสียภาษีด้วยครับ
อ้างอิงจากข้อ 5 ในหัวข้อ ค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF : เนื่องจากถือหน่วยลงทุนไม่ครบ 5 ปี จึงไม่เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 169) เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ (Capital Gain) จากการขายหน่วยลงทุนคืนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับ (ส่วนต่างราคาขายหน่วยลงทุนคืนหักราคาทุน) เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเงินได้ที่เกิดจากการกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่า ซึ่งมิใช่การขายสินค้า แต่เป็นการให้บริการ ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ
ซึ่งตรงนี้เน้นนะครับว่า “ส่วนต่างราคาขายหน่วยลงทุนคืนนั้น” ถือเป็นเงินได้ทีต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ และผมขออธิบายเพิ่มเติมในส่วนนี้อีกนิดนึงครับว่า ในกรณีที่เราไม่ได้ใช้สิทธิ์ลงทุนนั้น ย่อมถือว่าเราจะไม่ได้รับสิทธิในการยกเว้นกำไรจากส่วนนี้ตาม กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ (67) ซึ่งระบุไว้ว่า
“(67) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่เงินหรือ ผลประโยชน์ดังกล่าวคำนวณมาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตาม (66) และผู้มีเงินได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดปีปฏิทิน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย”
นั่นแปลว่า กรณีที่เราไม่ได้แจ้งยอดไว้ในสิทธิการลดหย่อนภาษีประจำปีนั้น เราจะไม่ได้สิทธิในการยกเว้นผลประโยชน์ตรงนี้ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีที่ขายหน่วยลงทุนที่เกินสิทธิ์ดังกล่าวครับ
ประกอบกับกำไรจากการขายหน่วยลงทุน LTF และ RMF นั้น ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เหมือนกองทุนรวมทั่วไป ตามข้อ กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ (32) ซึ่งระบุไว้ว่า
“(32) เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่รวมถึงเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์”
นั่นแหละฮะ จึงเป็นเหตุผลที่ว่า การซื้อหน่วยลงทุนส่วนเกินกว่าสิทธิ์นั้น ไม่สามารถยกเว้นกำไรจากการขายหน่วยลงทุนได้ แม้ว่าจะถือครองเกินกว่า 7 ปีปฏิทินตามที่กฎหมายกำหนดก็ตามครับ
(อ้างอิง : ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมและความเห็นของคุณ จริณย์ จาเมศร์ จาก Status ในเพจ TAXBugnoms ที่ ลิงค์นี้ ด้วยนะครับ)
แต่ในทางปฎิบัติของการซื้อเกินสิทธิที่ถือเกินกำหนด ก็คือ ทางบลจ. จะไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้หรอกครับ เนื่องจาก บลจ. ไม่ได้ทราบสิทธิในการซื้อ LTF ของเรา เพราะมันยุ่งยาก บางคนอาจซื้อหลาย บลจ และก็คงไม่มีใครอยากบอก “รายได้” ของตัวเองสักเท่าไรด้วยใช่ไหมครับ
เมื่อ บลจ. ไม่ได้หัก ภาษีไว้ โดยส่วนใหญ่เรามักจะเข้าใจว่าสรรพากรคงจะไม่รู้ เมื่อครบกำหนดเราเลยขายส่วนเกินออกมาซะเลย ชิชะ นายเก่าเลยตัดสินใจขายทั้งก้อนเมื่อครบกำหนดตามกฎหมาย
ผมพบความจริงอยู่ข้อหนึ่งว่า สรรพากรอาจจะรู้ได้ครับ เมื่อขายแล้วแจ้งข้อมูลไม่ตรงกับการหักลดหย่อนในปีที่ใช้สิทธิ์ เช่น นายเก่าใช้สิทธิลดหย่อนในปี 150,000 บาท แต่เวลาขายแจ้งยอดต้นทุนเป็น 200,000 บาทไป แบบนี้ก็อาจจะเป็นปัญหาได้เหมือนกันครับ
เรื่องราวพวกนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นปลีกย่อย ของการซื้อ LTF เกินสิทธิ์ที่หลายคนคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่จริงๆแล้วอยากบอกว่ามันมีอะไรซับซ้อนมากมายแบบนี้เลยล่ะครับผม
ยังไม่จบครับ ยังเหลืออีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือเรื่องของการ ขายก่อนตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตัวนี้จะทำให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกันครับ แต่ก่อนจะอธิบายว่าปัญหานั้นเป็นยังไง ผมขอแนะนำให้รู้จักกับ แนวคิดที่เรียกว่า FIFO กันก่อนครับ
แนวคิดของการซื้อขาย LTF นั้นจะไม่ได้เหมือนกับการซื้อขายตามปกติ แต่จะใช้หลัก “เข้าก่อน ออกก่อน” หรือที่เรียกว่า “FIFO” นั่นเองครับ โดยหลักการจะเป็นแบบนี้ครับผม
จากตัวอย่างซื้อขายในปี 2559 – 2565 เมื่อใช้หลักการของ FiFO มาพิจารณาแล้ว จะเห็นว่าจริงๆยอดคงเหลือจะเป็นแบบนี้ครับ
โดยยอดที่ขายไปในปี 2560 และ 2562 นั้น จะพิจารณาตามการซื้อแบบเข้าก่อนออกก่อน โดยถือว่าการขายนั้นจะเป็นการขายยอดที่เข้ามาก่อน นั่นคือ ยอดที่ซื้อในปี 2559 จะถูกขายไปจำนวน 100,000 บาท แทนที่จะเป็นภายในปีนั้นๆครับ
ทีนี้ปัญหามันไม่จบแค่นี้ครับ เพราะถ้าหากเราซื้อกองทุนที่แตกต่างกันไป เช่น ปี 2559 ซื้อกองทุน A ต่อมาปี 2560 ซื้อกองทุน B และขายกองทุน B ออกไป (อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง) แต่กฎหมายจะมองจากยอดขาย คือ 50,000 บาทซึ่งเป็นของกองทุน A แทน (ตามแนวทางกฎหมาย) ดังนั้นความสับสนวุ่นวายมันจะเกิดขึ้นอีกกี่ต่อละครับ ลองคิดดูเล่นๆก็ปวดหัวแล้วครับ
เรามาดูกันต่อครับว่า การ ซื้อเกิน และ ขายก่อน นั้น จะมีผลทางภาษีอยู่ 2 เรื่อง นั่นคือ กำไรจากการขายต้องเสียภาษี และ สิทธิ์ที่ใช้เกินไป (ถ้ามี) ต้องเอามาจ่ายภาษีคืนสรรพากร ดังนี้ครับ
- กรณีซื้อเกินนั้น จะเสียภาษีเฉพาะเมื่อมีกำไรเกิดขึ้นตอนขายเท่านั้น เพราะเราไม่ได้ใช้สิทธิมาลดหย่อน ดังนั้นแปลว่ามันไม่ได้ผิดอะไรครับ ดังนั้นเสียภาษีแค่ตอนขายทีเดียวจบ หรือจะวัดใจกับพี่สรรพากรก็ได้นะครับ ไม่ได้ว่าอะไรครับผม
- กรณีขายก่อนนั้น จะต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีของปีที่ขายครับ (ตรงนี้ต้องมาดูกันครับว่าผิดหนักขนาดไหนด้วยครับ) ซึ่งอาจจะต้องเสียภาษีเพิ่มพร้อมกับเงินเพิ่มอีก 1.5% ตามตัวอย่างที่อธิบายไปในตอนที่แล้ว (สามารถอ่านได้ที่นี่ครับ) และยังรับภาษีที่เกิดขึ้นจากกำไรที่ได้รับอีกด้วย ซึ่งตรงนี้วัดใจไม่ได้ครับ เพราะเรามักจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามที่ บลจ. กำหนดไว้ อันนี้คงได้แต่ทำใจอย่างเดียว
มาถึงตอนนี้ คงมีหลายคนมีคำถามว่า “ถ้าขายขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษีใช่ไหม” คำตอบคือใช่ครับ เว้นแต่เป็นการขายก่อนครบกำหนด อาจจะมีเรื่องของสิทธิ์ที่ต้องเสียภาษีคืนพร้อมเงินเพิ่มเท่านั้น แต่คำถามที่ผมจะถามต่อก็คือ แล้วจะไปลงทุนทำไมให้ขาดทุน เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่าไหมคร้าบบบบ
สำหรับบทความตอนที่ 2 ก็จบลงแต่เพียงเท่านี้ครับ เดี๋ยวพบกันใหม่ในบทความต่อไป สำหรับวันนี้ลาไปก่อนครับ มีอะไรสงสัยหรืออยากพูดก็เชิญได้ที่แฟนเพจ TAXBugnoms เลยนะครับ สวัสดีคร้าบ
พิเศษ!! ฟินโนมินา ขอแนะนำ “NTER RL” ปัจจุบันท่านสามารถซื้อ LTF/RMF ผ่านทาง NTER ได้แล้วฟรี!! โดยคลิ๊ก ที่นี่ หรือคลิ๊กที่รูปด้านล่างได้เลย
ติดตาม สภาวะการลงทุนและรับบริการ NTER Alert ได้ที่ Add line ID = @nter หรือ คลิ๊ก ที่นี่ ด้วยมือถือ หรือ เพื่อความกระจ่างในการใช้งาน อ่านต่อได้เลยที่ ทำไมใครๆ ก็ใช้ NTER ซื้อกองทุน RMF LTF?