บทความตอนที่แล้วผมสัญญาไว้ว่า เราจะมาลองดูกันว่า ถ้าสหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ย จะมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนในไทยอย่างไรนะครับ
ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว
ช่วงกลางปี 2004 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งถือเป็นรอบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบล่าสุด (ก่อนที่โลกจะรู้จักกับวิกฤตซับไพรม์ในปี 2008) ในช่วงนั้น เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน พ.ย. ปี 2000
โดยเฟดค่อยๆประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากจุดต่ำสุดคือ 1.0% ขึ้นไปอยู่ที่ 2.25% กลางปี 2006 ใช้เวลาในรอบขาขึ้นของดอกเบี้ยรอบนั้น 2 ปีเต็ม ซึ่ง ณ กลางปี 2004 ค่าเงินบาทต่อดอลล่าร์อยู่ที่ระดับ 41 บาทต่อดอลลาร์ และใช้เวลาประมาณ 8 เดือน แต่เงินบาทยังแข็งค่าเรื่อยๆลงมาที่ 38 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าราวๆ 7% นับจากการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกไปแล้ว 1 ปี
ที่น่าสนใจคือ ตลาดหุ้นไทย ต้นปี 2004 ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 800 จุด จากการวิ่งขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2001 ที่ระดับต่ำกว่า 300 จุด หากคิดเป็นอัตราผลตอบแทนในช่วงเวลาดังกล่าว เท่ากับ ตลาดหุ้นไทย ใช้เวลา 2 ปีครึ่ง วิ่งขึ้นมามากกว่า 190% ทีเดียว ก่อนที่จะปรับฐานจาก 800 จุด ลงมาที่ระดับ 650 จุด ในช่วงกลางปี 2004 (ใช้เวลาปรับฐาน 8 เดือน ลงมาเกินกว่า -20%) แต่หลังจากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยดอกเบี้ยครั้งแรก กลับยังพบว่า เงินทุนยังไหลเข้าตลาดหุ้นไทย
โดยนับตั้งแต่ปี 2004 มาถึง ปี 2006 ตลาดหุ้นไทย เทรดในกรอบ 600 – 780 จุด ก่อนที่แบงก์ชาติจะประกาศมาตรการกันสำรอง 30% สำหรับเงินทุนนำเข้าระยะสั้น เป็นเหตุให้ในวันที่ 15 พ.ย. 2014 ตลาดหุ้นไทย ปรับฐานภายในวันเดียวมากกว่า 9%
นั่นแปลว่า จากข้อมูลในอดีต การขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดในปี 2004 นั้น แทบไม่มีผลลบในระยะสั้นต่อตลาดหุ้นไทยเลย กลับกลายเป็นว่า ตลาดหุ้นไทยทำจุดต่ำสุด ณ ตอนที่เฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยซ้ำ ซึ่งเมื่อย้อนมาดูสถานการณ์ปัจจุบัน ก็พบว่า มีความใกล้เคียงกัน กล่าวคือ เฟด ประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2015 SET Index ลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1,300 จุด แต่มา ณ วันนี้ ถึงจะปรับฐานมากว่า 100 จุด จากจุดสูงสุด ก็ยังสูงกว่า ณ วันที่เฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก
สำหรับตลาดตราสารหนี้ในไทย
ก็ตอบรับคล้ายๆกันครับ ผมลองกลับไปดูอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ในช่วงปี 2004 – 2005 ก็พบว่า ยังคงลดลงต่อเนื่องไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯที่แข็งค่าในช่วงนั้น แต่ Bond Yield ก็มีการกระชากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือน มิ.ย. ปี 2005 จาก 4% ไปถึง 6.8% ในเดือน พ.ย. ปีเดียวกัน
จุดที่ผมเห็นว่า เป็นข้อแตกต่างระหว่างปี 2004 กับ ปัจจุบัน ก็คือ รอบการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนั้น เฟดขึ้นดอกเบี้ยด้วยอัตราเร่งที่ค่อนข้างเร็ว ปรับขึ้นดอกเบี้ยแทบจะทุกครั้งในการประชุมนับตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปี 2007 แต่ในขณะที่ปัจจุบัน ผมยังไม่เห็นความเสี่ยงที่เฟดจะปรับขึ้นในอัตราเร่งเช่นนั้น
ซึ่งเมื่อลองเอาการเคลื่อนไหวของตลาดทุนในปี 2004 มาประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ผมก็ขอให้มุมมองว่า เฟดน่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยอัตราเร่งที่ช้ากว่าครั้งก่อนหน้า ผลต่อตลาดหุ้น จึงไม่น่าจะทำให้มี Fund Flow ไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วง 3-6 เดือนหลังจากนี้ เท่ากับว่า ค่าเงินบาท ยังไม่น่าจะอ่อนค่ารุนแรงจากปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป เฟดทยอยขึ้นดอกเบี้ยจนถึงจุดหนึ่ง (จุดที่ต้องพิจารณาคือ ตอนที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี เริ่มไม่มีความแตกต่างจากเงินปันผลที่ได้จากตลาดหุ้น) เมื่อนั้น นักลงทุนจะเริ่มโยกย้ายสินทรัพย์ จากที่ต้องโดนบังคับลงทุนในหุ้น เพราะดอกเบี้ยมันต่ำติดดิน ก็โยกกลับมาลงทุนในตราสารหนี้แทน ความผันผวนก็จะสูงขึ้นทันที
วิเคราะห์ได้ยังไม่ครบเลยครับ ตอนหน้า ผมจะมาอธิบายว่า ปัจจัยใดที่ทำให้ปี 2016 แตกต่างจาก 2004 อย่างสิ้นเชิง รอติดตามกันนะครับ
ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/638912