dr-niwes---everythings-changed-but-not-gene

ผู้คนต่างก็คิดว่าโลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากมาย เราทำในสิ่งที่ไม่เคยทำและทำไม่ได้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไม่ต้องพูดถึงคนในยุคก่อน ยิ่งถ้าเรานึกถึงคนในยุคก่อนอารยะธรรมที่ยังอาศัยอยู่ในถ้ำเมื่อกว่าหมื่นปีที่แล้วก็แทบจะเรียกว่าชีวิตและกิจกรรมของคนเปลี่ยนไปจาก “หน้ามือเป็นหลังมือ” ทีเดียว

แต่ถ้าเราคิดลึกและศึกษาชีวิตของคนจากพื้นฐานจริง ๆ แล้วก็จะพบว่า สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนหรือเปลี่ยนน้อยมากในช่วงกว่าหมื่นปีมานี้ก็คือ “ยีนส์” ของมนุษย์ ยีนส์ซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่อยู่ในตัวเราทุกคนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก มันมีหน้าที่หรือภารกิจที่สำคัญเพียงสองสามประการนั่นก็คือ เอาตัวให้รอดและเผยแพร่ยีนส์ของมันต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุดในโลกที่ “เต็มไปด้วยอันตรายและอยู่ได้อย่างยากลำบาก” ในช่วงกว่าหมื่นปีที่ผ่านมา ยีนส์ได้สร้าง “ร่างกาย” ของคนขึ้นมาเพื่อที่จะเป็น “ยานพาหนะ” ที่จะนำพาให้ยีนส์บรรลุภารกิจนั้น ร่างกายมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมานับล้านปีมาแล้วและวิวัฒนาการมาจนเป็นคนอย่างที่เรารู้จักในวันนี้ เป็นร่างกายที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่จะเอาตัวรอดและเผยแพร่เผ่าพันธุ์มาตั้งแต่หลายหมื่นปีมาแล้วที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เหนือกว่าสัตว์อื่นทั้งมวลและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ คนเอาตัวรอดและสามารถขยายจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีสมองที่ใหญ่โตและคิดเก่งกว่าสัตว์อื่น คนมีอารมณ์ของความรัก โลภ โกรธ หลง ดีใจ เสียใจ กล้า กลัว และอื่น ๆ อีกมากที่เป็น “สัญชาตญาณ” ที่จะทำให้เขาสามารถเพิ่มโอกาสในการเอาตัวรอดและเผยแพร่พันธุ์ได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ คนสามารถคิดและสร้างเครื่องมือรวมถึงสร้างวัฒนธรรมในการร่วมมือกันเพื่อหาอาหารและปัจจัยต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสของความอยู่รอดและการเผยแพร่เผ่าพันธุ์ในขณะที่สัตว์อื่นทำไม่ได้ ประวัติศาสตร์มนุษย์ที่เพิ่งเริ่มมาซักประมาณแค่หมื่นกว่าปีบอกให้เรารู้ว่ากิจกรรมทุกอย่างหรือพฤติกรรมของมนุษย์ตลอดมานั้นก็คือความพยายามที่จะ “เพิ่มโอกาส” การอยู่รอดและเผยแพร่พันธุ์ของตนหรือของแต่ละคน

การติดต่อสื่อสาร

ภารกิจการ “เพิ่มโอกาส” เอาตัวรอดและเผยแพร่พันธุ์นั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับหลักการที่เป็นพื้นฐานก็เหมือนเดิม เพียงแต่วิธีการอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตาม “เทคโนโลยี” ที่ก้าวหน้าขึ้นซึ่งมักจะเป็นเรื่องของการทำได้แม่นยำขึ้น เร็วขึ้น และที่สำคัญ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ตัวอย่างเช่นในเรื่องของการเรียนรู้ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการเอาตัวรอดนั้น การสื่อสารระหว่างคนเป็นสิ่งพื้นฐานที่จำเป็นและมันไม่เคยเปลี่ยนไป สิ่งที่เปลี่ยนก็คือการมีตัวอักษรและภาษาเขียนที่ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ต่อมาการมีกระดาษและเครื่องพิมพ์ก็ทำให้การเรียนรู้ทำได้กว้างขวางรวดเร็วและประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก จนกระทั้งล่าสุดที่มีการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตที่ทำให้การสื่อสารด้านนี้ขึ้นสู่ “จุดสูงสุด”

เช่นเดียวกับการเรียนรู้ การสื่อสารเองนั้นเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญมากต่อการเอาตัวรอดและเผยแพร่พันธุ์ ในอดีตเราก็อาศัยเสียงพูดหรือเสียงร้องเป็นส่วนสำคัญแทบจะประการเดียว การติดต่อกันทำได้แค่ในรัศมีแคบ ๆ ไม่กี่เมตร ต่อมาเราก็มีกลอง อาจจะมีนกพิราบที่จะส่งสัญญาณติดต่อที่ไกลมากขึ้น ต่อมาก็ใช้สายไฟและคลื่นวิทยุและสุดท้ายที่แพร่หลายกันไปทั่วโลกก็คือโทรศัพท์มือถือที่เป็น “สุดยอดของการสื่อสาร” ของมนุษย์

ซื้อขาย แลกเปลี่ยน

การแลกเปลี่ยนสินค้ากันระหว่างคนนั้น เป็นหลักสำคัญของการเอาตัวรอดและเผยแพร่พันธุ์ มนุษย์น่าจะทำมาตั้งแต่เริ่มต้นเผ่าพันธุ์และมันก็เป็นภารกิจที่เป็นพื้นฐานที่ไม่เปลี่ยน เริ่มต้นคนก็อาศัยวิธีการ “ยื่นหมูยื่นแมว” เอาสิ่งที่ตนเองมีมากเกินไปแลกกับสิ่งที่ตนเองมีน้อยเกินไปโดยการส่งมอบให้กันและกัน ต่อมาก็มีระบบ “เงินตรา” ตั้งแต่สินค้าที่เป็นของกลางเช่นข้าวหรือใบยาสูบไปจนถึงเปลือกหอยถึงโลหะมีค่าเช่นแร่เงินจนถึงธนบัตรและในที่สุดก็กลายเป็น “ตัวเลข” เงินในธนาคาร และในที่สุดก็อาจจะเป็นตัวเลขเงินในอากาศเช่น “บิทคอย” ที่จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในการคิดอัตราแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างคน นอกจากนั้น การยื่นหรือกระจายสินค้าแลกเปลี่ยนเองก็มีวิวัฒนาการตั้งแต่การตั้งแผงในตลาดสดไปจนถึงการเปิดร้านค้าแบบดั้งเดิม ต่อมาก็เป็นการค้าปลีกสมัยใหม่ และล่าสุดก็คือเรื่องของ E-Commerce หรือการค้าขายผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็เป็นระบบที่ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในปัจจุบันสำหรับสินค้าจำนวนมาก

การเดินทาง

การชอบเดินทางไปไกล ๆ เพื่อค้นหาสิ่งใหม่ ๆ นั้นเป็นสิ่งที่อยู่ในยีนส์มนุษย์ นี่ก็วิวัฒนาการมาตั้งแต่การใช้ขาไปจนถึงการใช้ล้อเช่นเกวียนและรถม้าจนถึงรถไฟ เรือ รถยนต์ เครื่องบิน ทั้งหมดทำให้การเดินทางเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับความปลอดภัยและถึงที่หมายตรงเป้าที่เดิมอาจจะต้องดูดาวหรืออาศัยเข็มทิศซึ่งต่อมาพัฒนาขึ้นจนสามารถกำหนดจุดพิกัดโดยระบบ GPS ที่เป็น “ความแม่นยำสุดยอด” ที่มาจากการพัฒนาระบบดาวเทียมที่ถูกยิงขึ้นสู่วงโคจรของโลก พูดถึงเรื่องการเดินทางนั้นผมเห็นจะต้องพูดถึงเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าส่วนตัวที่กำลังเริ่มเข้ามา “แทนที่” รถยนต์ที่ใช้น้ำมันในอนาคตที่ไม่ไกลนัก เพราะนี่ก็จะเป็นอีกหนึ่งวิวัฒนาการที่เกิดจากเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการเดินทางที่เป็นภาระกิจของมนุษย์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง และรถยนต์ไฟฟ้าก็น่าจะกำลังกลายเป็น “เมก้าเทรนด์” ในเร็ว ๆ นี้

การมีคู่

ความต้องการเพิ่มโอกาสเผยแพร่เผ่าพันธุ์ของยีนส์มนุษย์นั้นทำให้คนเราต้องการมีคู่และอยู่กันเป็นคู่ การเพิ่มโอกาสหาคู่ที่เหมาะสมนั้น สำหรับเพศหญิงและชายอาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง รูปร่างหน้าตาที่ดีนั้น แน่นอน เป็นสิ่งที่พึงประสงค์ของทั้งสองเพศ ร่างกายที่เพศหญิงชอบนั้นก็คือชายที่มีรูปร่างสูงใหญ่และมีกล้ามเนื้อแข็งแรงประเภท “ซิกแพ็ค” ส่วนผู้ชายนั้นชอบผู้หญิงที่หน้าตา “สวย” ผิวขาวเนียนและแก้มเป็นสีชมพู ผมสลวยสวยเก๋มีน้ำหนักไม่แตกปลาย ส่วนรูปร่างที่ผู้ชายชอบก็คือ ผู้หญิงที่มีหน้าอกโตเอวคอด สะโพกผาย นอกจากร่างกายแล้ว ผู้หญิงมักจะอยากได้ผู้ชายที่เก่ง ใจดีและที่สำคัญ “รวย” ซึ่งมีความสำคัญบางทียิ่งกว่าร่างกาย ทั้งหมดนั้นมีที่มาที่ไปในเรื่องของการอยู่รอดและการเผยแพร่พันธุ์ที่ผมไม่มีเนื้อที่พอที่จะอธิบาย แต่ประเด็นก็คือ การเพิ่มโอกาสในการแพร่พันธุ์หรือหาคู่ที่มนุษย์ทำมาตลอด เริ่มตั้งแต่การแต่งหน้าและแต่งตัวของหญิง การ “โชว์พลัง” และการแข่งกีฬาของผู้ชาย ต่อมาก็มีเรื่องของเครื่องสำอางสารพัดตั้งแต่ศีรษะจดเท้า จนถึงเรื่องของศัลยกรรมพลาสติกที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์

ที่เขียนมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยนิดของกิจกรรมและพฤติกรรมของคนที่ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ และดูสลับซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้ามองลึกลงไปแล้วมันมีขึ้นเพื่อเสริมภารกิจหลักเพียงสองเรื่องใหญ่ ๆ ของยีนส์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงดังที่กล่าว สิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นและจะกลายเป็น “เมก้าเทรนด์” นั้น ดูไปแล้วก็จะเป็นเรื่องของการทำ “ภารกิจเดิม” ด้วยวิธีที่แม่นยำมีประสิทธิผลขึ้น เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก โดยอาศัยเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ที่มี Economies of Scale ที่ทำให้ประหยัดขึ้นมากจากปริมาณการผลิตหรือให้บริการที่มากขึ้น

ก่อนที่จะจบ ผมเองอยากจะเตือนให้เราตระหนักว่า ในเรื่องของอารมณ์ซึ่งติดมากับยีนส์นั้น ในช่วงกว่าหมื่นปีที่ผ่านมาก็มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก พฤติกรรมและปฏิกิริยาตอบสนองของเราต่อสิ่งแวดล้อมที่เข้ามากระทบก็ยังคล้ายกับของเดิมเมื่อคนเรายังอยู่ในป่า เราวิ่งหนีไม่คิดชีวิตเมื่อเจอสัตว์ร้ายในยุคนั้น ถึงปัจจุบันเราก็ยังรู้สึกต้องรีบ “หนี” หรือขายหุ้นทันทีเมื่อหุ้นตกหนัก เพราะนี่คือสัญชาตญาณที่ช่วย “เพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของคน”

แต่ในกรณีของหุ้นนั้นอาจจะไม่ถูกต้อง เพราะหุ้นที่ตกนั้นอาจจะไม่ใช่เวลาขาย และนี่ก็เป็นประเด็นที่ต้องระวังว่า เวลาลงทุน เราจะต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงเหตุผลมากกว่าอารมณ์ เพราะโอกาสในการเอาตัวรอดของเราจะสูงกว่า

ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/สรรพสิ่งเปลี่ยน