การเป็นนักลงทุนนั้น ทักษะหรือวิชาอย่างหนึ่งที่ต้องฝึกฝนหรือใช้ประสบการณ์หรือบางทีก็เป็นสิ่งที่ “ได้มาเอง” จากการที่ได้คลุกคลีกับหุ้นและตลาดหุ้นมายาวนานก็คือสิ่งที่ผมอยากจะเรียกว่า “เกมหุ้น”
เกมหุ้น คืออะไร?
เกมหุ้นนั้นก็คือสิ่งที่นักลงทุนใช้ในการที่จะเล่นหุ้นหรือลงทุนในหุ้นแต่ละตัวเพื่อที่จะได้เปรียบและ/หรือได้ “ชัยชนะ” นั่นก็คือ ทำกำไรได้งดงามจากการซื้อขายหุ้นในตลาดโดยเฉพาะในระยะสั้น ในระยะยาวแล้ว การ “เล่นเกม” ก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ และผลกำไรขาดทุนจากการลงทุนก็อาจจะขึ้นอยู่กับผลประกอบการมากขึ้นเรื่อย ๆ และสำหรับคนที่ “ถือหุ้นตลอดชีวิต” เกมก็จะไม่มีความหมาย แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นน้อยมาก เพราะแม้แต่ วอเร็น บัฟเฟตต์ เอง เขาก็ยังขายหุ้นอยู่เนือง ๆ ดังนั้น การรู้จักว่าเกมหุ้นนั้นเขาเล่นกันอย่างไรจึงน่าจะมีประโยชน์ไม่น้อย เพราะนั่นจะทำให้เราเป็นผู้เล่นที่ “ชนะ” ในกรณีที่เราเข้าไปเล่น หรือเราก็จะ “ไม่แพ้” เพราะว่าเรา “ไม่เล่น” กับมัน
ถ้าเข้าไปดูในเวบบอร์ดสาธารณะเกี่ยวกับหุ้น สิ่งที่เราจะได้พบเห็นทุกวันทำการก็คือ “เกิดอะไรขึ้นกับหุ้น A ทำไมขึ้นแรง?” หรือ “ทำไมลงหนักอย่างนั้น?” บ่อยครั้งก็จะมีคนหรือ “ผู้รู้” มาอธิบายหรือคอมเม้นท์ว่ามันเป็นเพราะอะไร เช่น กำไรเพิ่มขึ้นมาก ขาดทุนหนัก หรือบริษัทชนะหรือแพ้ประมูลงาน เป็นต้น แต่บ่อยครั้งมากอีกเช่นกันที่จะมีคนเขียนว่าเป็นเพราะ “จ้าว” หรือนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาซื้อหรือขาย แน่นอนว่าสิ่งที่พูดกันนั้นก็จะจริงบ้างไม่จริงบ้าง ว่าที่จริงก็ไม่มีใครรู้ว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้มันขึ้นไปจริง ๆ นอกจากการที่มี “คนซื้อมากกว่าคนขาย” หรือ “คนขายมากกว่าคนซื้อ” ซึ่งก็เป็นคำพูดที่ไม่มีความหมายอะไรในการที่จะนำไปใช้ในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่จะทำให้ “ชนะ” ในอนาคตต่อไป
เวลาที่ผมพบว่าหุ้นตัวไหนปรับตัวขึ้นหรือตกลงมาแรงในช่วงเร็ว ๆ นี้จนเป็นที่สังเกตนั้น ผมมักจะพยายามคิดหรือตั้งคำถามว่ามันเป็นเพราะอะไรที่ทำให้คนแห่กันเข้ามาซื้อหรือขายซึ่งทำให้ราคาขึ้นหรือลงมาแรง โดยสิ่งที่ผมอยากจะรู้ก่อนก็มักจะอยู่ในข้อมูลเช่น ราคาที่ปรับตัวขึ้นหรือลดลง ปริมาณการซื้อขายที่มักจะมากขึ้นมาก ผลประกอบการของบริษัทย้อนหลัง อุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่บริษัททำอยู่หรือมีแผนที่จะทำ และที่สำคัญที่สุดก็คือ สตอรี่หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ผมจะดูไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นก็คือ ใครคือ “เจ้าของบริษัท” และผู้ถือหุ้นที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่โดยเฉพาะที่เพิ่งเข้ามาถือหุ้นในเร็ว ๆ นี้ และสุดท้ายของสุดท้ายก็คือ ค่าความถูกความแพงของหุ้นที่คิดจากค่า PE PB ปันผลตอบแทน และ Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นของทั้งบริษัทรวมถึงหนี้ที่มีอยู่และดู Free Float หรือปริมาณหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดหุ้น หลังจากนั้น ผมก็จะพยายาม “อ่านเกม” ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับบริษัทหรือหุ้นตัวนั้นในสายตาของนักเล่นหุ้นที่เข้ามา “เล่นเกมหุ้น” กันอยู่ในขณะนั้น
บ่อยครั้งผมพบว่าหุ้นขึ้นแรงมาก
แต่ดูจาก “ข้อมูลพื้นฐาน” ที่เกี่ยวกับผลประกอบการและฐานะการเงินรวมถึงความเข้มแข็งทางธุรกิจที่เกิดจากความได้เปรียบทางการแข่งขันทางการตลาดนั้นก็ไม่ได้แตกต่างกับรายอื่น ราคาและ Market Cap. ก็บอกว่าเป็นหุ้นที่มีราคาแพง สิ่งที่เป็นข่าวหรือสตอรี่ก็คือการที่บริษัทซึ่งทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่กำลังน่าจะมีโอกาสได้งานจากภาครัฐมากขึ้นเนื่องจากมีการประกาศว่าจะเริ่มประมูลกันจริงจังหลังจากชะลอโครงการมานาน ในกรณีแบบนี้ผมก็จะ “อ่าน” หรือวิเคราะห์ว่า หุ้นขึ้นเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดคิดว่าบริษัทจะมีโอกาสได้งานสูง และการได้งานจะทำให้มีงานในมือมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น และจะทำกำไรได้มากขึ้น และจะทำให้มีปันผลมากขึ้นในอนาคต และจะทำให้คนเข้ามาซื้อหุ้น และจะทำให้หุ้นขึ้น และดังนั้นเขาจึงรีบเข้าซื้อหุ้นตอนนี้ก่อนที่มันจะขึ้น และดังนั้นหุ้นจึงขึ้นตั้งแต่ตอนนี้
นั่นคือความคิดหรือการเล่นเกมของนักลงทุนส่วนใหญ่ สิ่งที่ผมจะคิดก็คือ สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นจะเป็นความจริงไหม? เป็นไปได้ว่าโครงการอาจจะไม่เกิดแม้ว่าจะมีโอกาสน้อย เพราะผมคิดว่ารัฐบาลจะพยายามทำสิ่งนี้ นั่นคือเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น ผมเชื่อตามนักลงทุนส่วนใหญ่แต่คิดว่าอาจจะเพิ่มขึ้นไม่เท่ากับสิ่งที่ตลาดคิด เพราะเม็ดเงินที่รัฐจะใช้นั้นดูเหมือนว่าจะเน้นที่งบประมาณประจำปีและไม่กู้มาก ประเด็นต่อมาก็คือ บริษัทจะได้กำไรมากขึ้น เรื่องนี้ผมคิดว่ามีโอกาสแต่ก็อาจจะไม่จริงก็ได้ เหตุผลก็เพราะธุรกิจรับเหมาโดยเฉพาะที่เป็นสาธารณูปโภคนั้นดูเหมือนว่ารายได้กับกำไรไม่ใคร่จะแน่นอน บ่อยครั้งเช่นในอดีตนั้น บริษัทมีรายได้มากแต่กำไรกลับไม่มา บางทีก็ขาดทุน ดังนั้น ความไม่แน่นอนสูง และนี่ก็เป็นสิ่งที่ผมมองต่างจากคนในตลาด แต่สมมุติว่ามีกำไรดีขึ้น คำถามต่อมาก็ยังเป็นปัญหานั่นก็คือ กำไรที่จะได้มานั้นเพียงพอที่จะทำให้ค่า PE ลดลงมาจนคุ้มค่าน่าลงทุนหรือไม่? และถ้าคำตอบของผมก็คือค่า PE ก็ยังสูงเกินไป ก็ไม่มีเหตุผลที่จะลงทุนในหุ้นตัวนั้น นอกจากนั้น ถ้าค่า PE จะลดลงมาต่ำพอในวันหนึ่ง ปัญหาก็คือบริษัทจะรักษารายได้และกำไรนั้นไว้ได้ไหม หากคำตอบก็คือ ไม่ได้! เนื่องจากหลังจากนั้นประเทศคงไม่มีโครงการเมกาโปรเจคต่อแล้ว ราคาหุ้นก็จะไม่สามารถยืนอยู่ได้ ดังนั้น ข้อสรุปของผมก็คือ ผมเห็นต่างกับตลาดและคิดว่าราคาที่ขึ้นไปนั้นไม่น่าจะยืนอยู่ได้ในระยะยาวและดังนั้นผมก็จะไม่เล่นเกมนี้
ในกรณีของหุ้นขนาดเล็กและ/หรือมี Free Float ต่ำแม้ว่าจะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ สิ่งหนึ่งที่ผมจะต้องระมัดระวังมากก็คือ หุ้นอาจจะโดนนักลงทุนรายใหญ่เข้ามา “เล่นเกม” ไม่ว่าจะเป็นการตั้งใจ “ปั่นหุ้น” หรือเชื่ออย่างบริสุทธิใจในความเห็นหรือการวิเคราะห์ของตนเองว่าหุ้นตัวนั้นกำลังจะมีสตอรี่และ/หรือมีผลประกอบการที่ดี อยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ร้อนแรงและเติบโตเร็ว และบริษัทมีความได้เปรียบ รวมทั้งผลงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ได้ชี้ไปในทิศทางนั้น ดังนั้น เขาจึงเข้าไปซื้อหุ้นอย่างหนักส่งผลให้แรงซื้อมากกว่าแรงขายมหาศาลเพราะหุ้นมีปริมาณน้อย ผลก็คือ ราคาหุ้นวิ่งขึ้นแรงมากอย่างต่อเนื่อง อาจจะเนื่องจากมีนักลงทุนคนอื่นตื่นเต้นและเข้ามาร่วมซื้อด้วยอย่างมาก ทำให้ค่า PE สูงเกิน 50 เท่าและมูลค่าตลาดของหุ้นขึ้นไปแบบมโหฬารเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่มานานในอุตสาหกรรมเดียวกัน ในกรณีแบบนี้ นอกจากจะต้องวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ตามมาตรฐานแล้ว ผมก็มักจะนำ “ประวัติศาสตร์” หรือแม้แต่ “ปรัชญา” เข้ามาใช้ประกอบด้วย เช่น เคยมีบริษัทแบบนี้ในโลกไหมที่มีขนาด Market Cap. ใหญ่มากโดยธุรกิจที่ทำไม่ได้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่มากและเป็นกิจการที่ขายสินค้าที่ไม่จำเป็นและไม่ได้มีอำนาจทางการตลาดที่จะปกป้องสินค้าจากคู่แข่ง เป็นต้น ถ้าไม่มี ผมก็จะไม่เข้าไปเล่นเกมนี้
โดยทั่วไปถ้าผมมีความคิดแบบเดียวกับตลาด
ผมก็มักจะไม่เข้าไปเล่นในเกมเพราะผมคิดว่าถ้าคนอื่นก็รู้เท่า ๆ กับที่ผมเข้าใจ โอกาสที่จะได้กำไรจากหุ้นก็จะน้อย ผมสนใจหุ้นที่ผมเห็นต่างกับตลาดโดยเฉพาะที่ความเห็นต่างนั้นจะก่อให้เกิดโอกาสในการซื้อหุ้นที่ถูกกว่าพื้นฐาน แต่นี่เป็นเรื่องที่หาได้ยาก ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่พบมักจะเป็นหุ้นที่ผมเห็นต่างกับตลาดแต่เป็นหุ้นที่มีราคาแพงกว่าความเป็นจริงซึ่งผมก็จะไม่เข้าไปเล่นเกมนั้น หลาย ๆ ครั้งผมเองเห็นด้วยกับความเชื่อของนักลงทุนในตลาดในเรื่องต่าง ๆ แทบทั้งหมดว่าหุ้นตัวนั้นเป็นกิจการที่ดีเยี่ยม แต่พบว่าราคาหุ้นนั้นสูงเกินกว่าที่จะคุ้มค่าหรือไม่มี Margin of Safety ที่ทำให้ผมไม่สามารถผิดพลาดได้เลย ดังนั้น ผมก็จะไม่เข้าไปเล่น ผมไม่เล่นชอร์ตเซล ด้วยเหตุดังกล่าว ผมจึงเล่นเกมหุ้นน้อยมากแม้ว่าจะเป็นคนที่ “ดูเกมหุ้น” มากมายตลอดเวลา
การใช้ชีวิตอยู่กับหุ้นและตลาดหุ้นนั้น ผมต้องเจอกับ “เกมหุ้น” แทบจะทุกเมื่อเชื่อวันแม้ว่าผมเองจะเข้าไปเล่นหรือเกี่ยวข้องน้อยมาก แต่ “กรณีศึกษา” ของผมนั้นต้องถือว่ามีมาก เรียกว่า “เห็นจนเบื่อ” ส่วนใหญ่หลังจากเวลาผ่านไปก็มักจะพบว่าความคิดเห็นของนักลงทุนในตลาด “ครั้งนั้น” ก็ ไม่จริง! แต่คนลืมไปแล้ว “เกมใหม่” ที่กำลังเล่นก็ “เหมือนเดิม” มันคงจะคล้าย ๆ กับคำพูด “อมตะ” ของ เบน เกรแฮม ที่ว่า “It’s the same old tyres” หรือมันก็ “เรื่องเดิม ๆ แบบละครน้ำเน่า” ที่คนดูไม่รู้จักเบื่อเท่านั้นเอง
ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/อ่านเกมหุ้น