คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับคำว่า “Cash is king” ซึ่งแปลว่า “เงินสดคือราชัน” บางคนก็เรียกว่า “เงินสดคือพระเจ้า” ความหมายก็คือ ในยามที่กิจการหรือบุคคล “มีปัญหาทางการเงิน” เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ขาดสภาพคล่องหรือกำลังใกล้ล้มละลาย ซึ่งต้องการเงินสดมาใช้จ่ายหมุนเวียนนั้น เงินสดเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดที่จะเอาตัวรอดได้ และดังนั้น เงินจึงเปรียบเสมือนกับพระเจ้า ไม่มีเงินสดก็ “ตาย” Cash is king นั้นเป็นคำที่พูดกันมากในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศเกิดวิกฤตในช่วงปี 2540 ที่ทำให้กิจการส่วนใหญ่และบุคคลทั่วไปขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง ในช่วงนั้นใครที่ยังมีเงินสดหรือสภาพคล่องที่ดีอยู่จึงปลอดภัยและได้เปรียบมากในการทำธุรกิจ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในช่วงเร็ว ๆ นี้เปลี่ยนแปลงไปในทางตรงกันข้าม ธุรกิจและบุคคลธรรมดาส่วนใหญ่มีเงินสดและสภาพคล่อง “ล้น” อัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนจาก “เงินสด” ตกต่ำลง “ใกล้ศูนย์” เงินสดไม่เป็นสิ่งที่น่าพิสมัยในขณะที่การลงทุนอื่นโดยเฉพาะในหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กำลังวิ่งขึ้นให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีแล้วถึงกว่า 15% ดังนั้น ภาพของเงินสดในขณะนี้ก็คือ “Cash is trash” หรือเงินสดก็คือ “ขยะ” ที่ “ไม่มีค่า” ดังนั้น จึงอาจจะมีคำแนะนำสำหรับนักลงทุนว่าเราไม่ควรถือเงินสดมากนัก แค่พอมีไว้ใช้จ่ายหมุนเวียนก็พอแล้ว
เรื่องของการถือเงินสดนั้นเป็นประเด็นที่นักลงทุนและ VI จะต้องคิดและคำนึงถึงตลอดเวลา
โดยทางทฤษฎีแล้ว การถือเงินสดนั้นก็เพื่อเหตุผลใหญ่ ๆ 3 ประการนั่นก็คือ
หนึ่ง เอาไว้ใช้จ่ายหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน ส่วนนี้อาจจะถือแค่พอใช้จ่าย 3-6 เดือนก็พอแล้ว
สอง ถือไว้เผื่อในยามฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินโดยไม่คาดคิด เช่นถ้าเป็นบริษัทก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ผิดปกติเช่น คนงานประท้วงหรือเกิดภัยที่ไม่คาดคิดส่วนในคนธรรมดาก็อาจจะเป็นเรื่องของความเจ็บป่วยเป็นต้น เงินสดส่วนนี้จะมากหรือน้อยคงเป็นเรื่องของแต่ละคนแต่ส่วนใหญ่ก็ไม่มากมายนัก
และข้อสามสำหรับเหตุผลในการถือเงินสดก็คือ การ “เก็งกำไร” ในกรณีที่เกิด “โอกาสในการทำกำไร” ขึ้น ถ้าเป็นเรื่องของบริษัทก็อาจจะเป็นการซื้อวัตถุดิบที่อาจจะมีราคาต่ำลงมาตุนไว้ใช้หรือในกรณีบุคคลธรรมดาก็อาจจะเป็นเรื่องของการลงทุนในทรัพย์สินหรือหลักทรัพย์ที่มีราคาถูกที่ถูกเสนอขายหรือมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยที่จำนวนเงินสดที่ถือในส่วนนี้น่าจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของตลาดทรัพย์สินต่าง ๆ และหุ้นในตลาดว่าเป็นอย่างไร
วอเร็น บัฟเฟตต์ น่าจะเป็น “สุดยอด” ของนักลงทุนที่สามารถค้นหาการลงทุนโดยเฉพาะในหลักทรัพย์ได้มากมายกว่าคนอื่น แต่เขาเองกลับมักจะไม่ได้ลงทุน 100% ในหุ้น เขามีการลงทุนในตราสารการเงินอื่นโดยเฉพาะพันธบัตรไม่น้อยแม้ว่าพันธบัตรหลายชุดจะอิงอยู่กับหุ้นหรือแปลงเป็นหุ้นได้ สิ่งที่คนอาจจะไม่รู้ก็คือ บัฟเฟตต์เองนั้นมักจะถือ “เงินสด” เป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าเขาจะต้องถือเงินสดตลอดเวลาในปริมาณที่ไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือ 350,000 ล้านบาท เพื่อที่จะได้พร้อมที่จะเข้าซื้อกิจการหรือหุ้นที่เขาสนใจเพื่อลงทุนแม้ว่าเม็ดเงินสดจำนวนมหาศาลนี้มักจะให้ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนในหุ้นโดยทั่วไปมาก ดังนั้น ในสายตาของบัฟเฟตต์แล้ว เงินสดนั้นไม่ใช่ “ขยะ” แน่นอน บัฟเฟตต์เชื่อว่าโอกาสของการลงทุนที่ดีที่จะเข้ามานั้นมีอยู่ตลอดเวลา เขาจะต้องพร้อมที่จะฉกฉวยมันได้ทันที และนี่เป็นสิ่งที่คุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับการเสียโอกาสจากผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินสด
ส่วนตัวผมเอง และอาจจะรวมถึง VI จำนวนมาก
ในช่วงที่ผ่านมาเกือบ 20 ปีนั้น ผมแทบจะไม่ได้ถือเงินสดเลย ตั้งแต่เข้าลงทุนในตลาดเต็มที่จนถึงเมื่อ 2 ปีก่อน โดยส่วนใหญ่แล้วผมถือเงินสดไม่เกิน 1% เพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเผื่อเหตุฉุกเฉิน ที่เหลืออยู่ในหุ้นเกือบทั้งหมดและมีทรัพย์สินที่จับต้องได้อื่นเช่นที่ดินและรถยนต์น้อยมาก ผมคิดว่าหุ้นที่มีราคาถูกมีมากและ “หาได้ง่าย” บางช่วง “เต็มตลาด” ทุกครั้งที่มีเงินสดเพิ่ม อาจจะเนื่องจากรายได้จากการทำงานประจำ เงินจากปันผล หรือการขายหุ้นบางตัว ผมก็จะรีบซื้อหุ้นตัวใหม่ได้ทันที ว่าที่จริงผมเรียกมันว่าเป็นการ Switch หุ้น หรือเปลี่ยนตัวหุ้นมากกว่า แต่เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ผมก็รู้สึกว่าการหาหรือเลือกหุ้นลงทุนที่ถูกมากหรือคุ้มค่าและไม่เสี่ยงเกินไปนั้นยากขึ้นทุกที
ดังนั้น เมื่อผมได้รับปันผลหรือขายหุ้นบางตัวไปและได้เงินสดมา ผมก็ไม่ได้ใช้มันในการซื้อหุ้นใหม่เท่าที่ควร เงินสดผมก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผลก็คือ ภายในเวลา 2 ปี เงินสดของผมก็สูงขึ้นจนถึงเกือบ 40% ของพอร์ตโดยรวม
เงินสดจำนวนมากที่ให้ผลตอบแทนเพียง 1-2% ต่อปีนั้นไม่ได้เป็นปัญหากับผมในปีที่แล้วที่ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนติดลบประมาณ 11% รวมปันผล และพอร์ตหุ้นโดยรวมของผมก็ให้ผลตอบแทนเพียง 1-2% เช่นเดียวกัน แต่ในปีนี้สถานการณ์กลับเปลี่ยนแปลงไป ตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นมากกว่าที่ผมคิด ไม่มีช่วงหุ้นลงหนักที่จะทำให้ผมสามารถช้อนซื้อหุ้นได้ในราคาถูก พอร์ตเกือบ 40% ของผมอยู่ในเงินสดซึ่งให้ผลตอบแทนเหลือ 1% ในขณะที่ตลาดให้ผลตอบแทนไปแล้วกว่า 15% ดังนั้น ถ้าผมจะเอาชนะตลาดได้ในปีนี้ พอร์ตหุ้นของผมจะต้องทำได้ดีกว่าตลาดมาก อาจจะต้องทำให้ได้ถึงเกือบ 30% เพื่อที่ผลตอบแทนรวมของผมจะได้เท่ากับผลตอบแทนของตลาด และนี่ก็คือความเสี่ยงของการถือเงินสด นั่นก็คือ ถ้าตลาดหุ้นดีไปเรื่อย ๆ การถือเงินสดจะเป็นการถือ “ขยะ” หรือ Cash is trash
ถ้าจะถามว่าหุ้นโดยส่วนรวมในช่วงเร็ว ๆ นี้มีราคาแพงเกินพื้นฐานหรือไม่ ที่ทำให้ผมไม่ซื้อหุ้น?
คำตอบของผมก็คือ “ไม่ใช่” ผมเองคิดว่าหุ้นในขณะนี้มีราคาที่ “ยุติธรรม” โดยเฉพาะถ้าเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนจากหลักทรัพย์อื่น ๆ ในตลาดและอสังหาริมทรัพย์ แต่ถ้ามองจากมุมมองระยะยาวแล้ว ราคาหุ้นในระดับนี้ก็ต้องถือว่าแพงด้วยค่า PE ประมาณ 20 เท่าเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ระดับ 10 เท่าต้น ๆ และดังนั้นการลงทุนซื้อหุ้นในช่วงนี้แล้วถือระยะยาวสำหรับผมแล้วมันอาจจะไม่มี Margin of Safety หรือไม่มีความปลอดภัยเท่าที่ควร มีโอกาสขาดทุนได้ในสถานการณ์ที่เลวร้าย ถ้าจะสรุปในภาพใหญ่ก็คือ ผมคิดว่าทรัพย์สินทุกอย่างในช่วงเวลานี้ล้วนแต่แพงเหมือน ๆ กัน และดังนั้นผมจึง “รอ” รอโอกาสที่จะได้ซื้อของถูกเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน พูดอีกแบบหนึ่ง ผมกำลัง “เก็งกำไร” ซึ่งโอกาสถูกและผิดพอ ๆ กัน
เงินสด ยังทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือมัน ช่วยรักษามูลค่าความมั่งคั่งของเราให้ “คงที่” ไม่ลดลงโดยเฉพาะในช่วงเวลาไม่ยาวมาก หลังจากที่ลงทุน “เต็มตัว” มา 20 ปี และมีความมั่งคั่งในระดับที่ “ไม่อาจคาดคิดได้ในชีวิต” ผมเองก็รู้สึกว่านั่นอาจจะเป็นเพราะผม “โชคดี” ที่เกิดถูกที่ถูกเวลาประกอบกับมีความรู้ความสามารถที่พอใช้ได้ แต่โอกาสแบบนี้อาจจะสิ้นสุดลงแล้ว ผมจะหวังทำได้ซ้ำนั้น “เป็นไปไม่ได้” สิ่งที่ผมควรจะทำมากกว่าก็คือพยายามรักษาระดับความมั่งคั่งนี้ไว้ซักระยะหนึ่งก่อนที่จะเริ่มเดินทางต่อไปในเส้นทางที่ไม่ได้ “โรยด้วยกลีบกุหลาบ” แต่ “เต็มไปด้วยก้อนกรวด” ซึ่งก็เป็นเส้นทางที่ปกติสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมถือเงินสดมากในช่วงนี้ นั่นก็คือ รักษาความมั่งคั่งที่น่าพึงพอใจไว้ให้ปลอดภัย จนกว่าสถานการณ์จะเอื้ออำนวยต่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่าจริง ๆ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรแต่ก็คิดว่าวันหนึ่งมันก็จะเกิดขึ้น
คำถามสุดท้ายที่ผมเองก็ยังไม่สามารถตอบได้ล่วงหน้าก็คือ ถ้าหุ้นไทยยังคงขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ และอัตราดอกเบี้ยก็ยังไม่ขึ้นซักทีผมจะทำอย่างไร? คำตอบก็คือ ผมคงต้องประเมินสถานการณ์และราคาหุ้นที่ผมสนใจไปเรื่อย ๆ บางทีถ้าผมยังไม่พอใจกับราคาของหุ้นไทย ผมอาจจะต้องพิจารณาตลาดหุ้นต่างประเทศเพิ่มขึ้น การตัดสินใจนั้นอาจจะเร็วมาก การ “เปลี่ยนใจ” อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สิ่งที่ผมต้องตระหนักเสมอก็คือ เราต้องไม่ถูก “บีบ” ให้ตัดสินใจด้วยอารมณ์และความรู้สึก ทุกอย่างควรมีเหตุผลเป็นหลัก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ดูเหมือนว่าไม่มีใครเห็นด้วยกับเรา
ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/cash-is-trash/