D

ถ้าหุ้นมีการเพิ่มทุน แจกหุ้นปันผล แจก warrant ผลสุดท้ายเหมือนกันคือทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น ถ้ากำไรในอนาคตโตไม่ทันหุ้นที่เพิ่มเข้ามาจะทำให้ กำไรต่อหุ้น (EPS) ลดลง หุ้นจะตก คนจะติดดอย เพื่อช่วยในการตัดสินใจ ผมได้ทำเครื่องมือในการคำนวณ Dilution effect ไว้ครับ ใช้ง่ายมากเปลี่ยนตัวเลขในช่องเหลืองๆ ได้เลย


การเพิ่มทุน

จากสมการทุนจดทะเบียน = ราคาพาร์ x จำนวนหุ้น การเพิ่มทุนมีสาเหตุมาจากบริษัทต้องการเงิน อาจจะเพื่อลงทุนโครงการใหม่ ลดภาระหนี้ เป็นเงินทุนหมุนเวียน ฯลฯ ก็ประการเรียกเพิ่มทุน โดยเพิ่มจำนวนหุ้นและให้นักลงทุนใส่เงินเพิ่มเข้ามาในทุนจดทะเบียนชำระแล้ว

ถ้าหุ้นมีการเพิ่มทุน ราคาจะตกวันขึ้นเครื่องหมาย XR ในการตัดสินใจว่าจะใส่เงินดีหรือไม่ เราต้องสามารถคำนวณ Control dilution และ Price dilution ให้ได้ โดยกรอกข้อมูลในตารางดังนี้

  • ราคาก่อน XR เป็นราคาสุดท้ายก่อนวันขึ้นนเครื่องหมาย ต้องประมาณราคาเอา
  • ราคาเพิ่มทุน
  • สัดส่วนการเพิ่มทุน เขาจะบอกเป็นสัดส่วนหุ้นเดิมต่อหุ้นใหม่
ตารางจะคำนวณผลกระทบดังนี้

1 Control dilution

บอกว่าหลังการเพิ่มทุนถ้าเราไม่ใส่เงินเพิ่มทุนสัดส่วนการถือหุ้นของเราลดลงไปเท่าไร แต่ถ้าเราใส่เงินเพิ่มทุนตามสัดส่วน สัดส่วนการถือหุ้นก็ยังไม่หาย สูตรการคำนวณคือ
Control dilution = หุ้นใหม่/(หุ้นเดิม+หุ้นใหม่)*100

2 มีหุ้นเพิ่ม?

สูตรคือ หุ้นเพิ่ม = หุ้นใหม่/หุ้นเดิม*100 จะบอกว่าเพิ่มทุนแล้วมีหุ้นเพิ่มมากี่ %

3 ราคาวัน XR

สูตรการคำนวณคือ ราคาวัน XR = ((ราคาก่อน XR x หุ้นเดิม) + (ราคาเพิ่มทุน x หุ้นใหม่)) / ( หุ้นเดิม + หุ้นใหม่)

4 price dilution

บอกว่าราคาวัน xr จะตกไปกี่ %
price dilution = (ราคาวัน xd – ราคาก่อน xd)/ราคาก่อน xd * 100

การตัดสินใจ

ช่วงก่อนคณะกรรมการมีมติเพิ่มทุนราคามักจะขึ้น ตามขั้นตอนคือต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้น ขอมติที่ประชุม 3 ใน 4 แต่หลังจากนั้นราคาจะไปได้ทั้งสองทาง คือราคาขึ้นต่อให้คนใส่เงินเพิ่มทุนแล้วมีกำไร กับราคาลงแบบไร้แนวรับเพื่อให้คนจำใจใส่เงินเพิ่มทุนเพื่อถัวขาดทุน

วันที่ขึ้นเครื่องหมาย XR ราคาเปิดจะตกมาที่ตาม “ราคาวัน XR” หรือคิดเป็น % ที่ price dilution ซึ่งเป็นราคาที่เท่ากับต้นทุนของคนที่ใส่เพิ่มทุน ซึ่งคือราคาถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามสัดส่วนหุ้นเดิมและหุ้นใหม่นั่นเอง ถ้าราคาปิดสูงกว่าราคานี้แสดงว่าคนใส่เงินเพิ่มทุนแล้วคุ้ม แต่ถ้าราคาหล่นเกิน “ราคาวัน XR” แสดงว่าคนที่ซื้อหลัง XR มีต้นทุนถูกกว่าคนใส่เงินเพิ่มทุน

เมื่อเพิ่มทุนแล้วทิศทางของราคาในอนาคตจะเป็นอย่างไรให้พิจารณาจากช่อง “มีหุ้นเพิ่ม” จะบอกว่าหลักเพิ่มทุนแล้วมีหุ้นใหม่เพิ่มมากี่ % ถ้าวิเคราะห์แล้วกำไรในอนาคตโตไม่ทันจำนวนหุ้นที่เพิ่ม EPS จะลดลง แต่ถ้ากำไรอนาคตโตมากว่าหุ้นที่เพิ่ม EPS ก็จะสูงขึ้น ราคาหุ้นก็จะขึ้นต่อ โดยปกติถ้าเป็นการเพิ่มทุนเพื่อลงทุนธุรกิจใหม่มักมีรายงานที่ปรึกษาการเงินอิสระทำประมาณการกำไรให้อ่าน หน้าที่เราคือเข้าไปวิเคราะห์ความน่าจะเป็นว่ามีโอกาสเป็นไปได้แค่ไหน ถ้ามั่นใจว่าโตแน่ๆก็ใส่เงินเพิ่มได้

หุ้นปันผล

หลายบริษัทที่ มีโครงการใหญ่ต้องลงทุนอีกมาก มักไม่จ่ายปันผลเป็นเงินสด แต่จะจ่ายปันผลเป็นหุ้นแทน (สินทรัพย์ = หนี้ + ทุน(ทุนจดทะเบียนเพิ่ม,กำไรสะสมลด) ) เมื่อจ่ายหุ้นปันผลแล้วทิศทางราคาในอนาคตจะเป็นอย่างไรให้พิจารณาจากช่อง “มีหุ้นเพิ่ม” ถ้าวิเคราะห์แล้วกำไรอนาคตโตมากว่าหุ้นที่เพิ่ม EPS ก็จะสูงขึ้น ราคาหุ้นก็จะขึ้นต่อ แต่ถ้ากำไรโตไม่ทันก็แปลว่าบริษัทกำลังทำลายมูลค่าหุ้นตัวเองเพราะ EPS จะต่ำลง

แจก warrant

warrant ตราสารที่คนถือ warrant สามารถใช้สิทธ์แปลงเป็นหุ้นได้ในอนาคต โดยจ่ายเงินเพิ่มเท่ากับราคาใช้สิทธ์ ผลกระทบเหมือนการเพิ่มทุนคือมีหุ้นเพิ่มในอนาคตถ้ากำไรในอนาคตโตไม่ทันจำนวนหุ้นที่เพิ่มราคาหุ้นก็จะตกในอนาคต จากตารางเป็นการคำนวณหุ้น warrant ของ Jas ที่ warrant มีอายุ 5 ปี ถ้าใน 5 ปีมีหุ้นเพิ่มมา 50%  แสดงว่า jas ต้องทำกำไรเติบโตเฉลี่ย 50/5=10% ต่อปีเพื่อให้กำไรโตทันหุ้นที่เพิ่ม

warrant กับการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน ในภาวะสมดุล ราคา warrant + ราคาใช้สิทธ์จะเท่ากับ ราคาหุ้นแม่  ถ้าแม่ขยับ 1 บาท หุ้นลูกก็จะขยับ 1 บาทเช่นกัน เพื่อห้ราคาสมดุล เช่น ราคา warrant 1 บาท ราคาหุ้นแม่ 5 บาท ราคาใช้สิทธื 4 บาท ราคาจะอยู่สภาวะสมดุลพอดี (1 + 4 = 5) ถ้าราคาแม่ขยับจาก 5 ไป 6 ราคาหุ้นลูกจะขยับจาก 1 ไป  2 เพือให้ราคาสมมดุลเนื่องจากราคาใช้สิทธ์ จะไม่ขยับ (2 + 4 = 6) ยิ่งราคาตัวลูกห่างจากตัวแม่มากเท่าไร อัตราทดยิ่งสูงครับ จากตัวอย่างอัตราทด (gearing ratio) คือ 5/1 =5 แสดงว่าถ้าแม่ขยับ 1 หน่วย ราคา warrant จะขยับมากกว่าตัวแม่ 5 เท่า ไม่รวยก็จนไปเลย

วิธีลงทุนในตัวลูกให้ปลอดภัย ต้องดู 3 เรื่องคือ 1. หุ้นแม่ต้องมี upside อีกไกล 2. ราคา warrant + ราคาใช้สิทธ์ ต้องไม่ห่างจากราคาหุ้นแม่มาก สามารถเข้าไปดูได้ที่ siamchart.com/stock/W ซึ่งทางเว็บจะคำนวณราคาให้ว่ามีส่วนต่างมากน้อยเพียงไร 3. หุ้นลุกต้องมีอายุเหลืออีกยาวๆ เพราะถ้า warrant หมดอายุก่อนที่จะขึ้น เราต้องลำบากหาเงินเพิ่มเพื่อแปลงเป็นแม่อีก ถ้าครบ 3 เงือนไขก็ลงทุนได้ครับผม

ช่วงที่ warrant ใกล้ๆหมดอายุเป็นวันวัดใจครับ ถ้า ราคา warrant + ราคาใช้สิทธ์ มากกว่า ราคาแม่ ก็จะไม่มีคนแปลง ถ้าบริษัทต้องการเงินจากการแปลง warrant มาใช้จะเกิดสิ่งมหัศจรรครับ ราคาแม่จะวิ่งแบบหูดับตับไหม้จนคุ้มที่จะแปลง บริษัทก็จะได้เงิน แต่ในบางครั้ง บริษัทไม่ต้องการเงินจาก warrant ก็กดราคาแม่จนคนไม่คุ้มที่จะแปลงก็ไม่มีคนแปลงจาก warrant เป็นหุ้นแม่ บริษัทก็จะไม่มีหุ้นเพิ่ม กำไรต่อหุ้นก็ไม่ลด

ปัจจุบันมีกระแสแปลกๆ หลายบริษัทมองการแจก warrant เหมือนเงินปันผลก็มี ถ้าผู้ถือหุ้นได้ warrant มาก็ขายในตลาดทิ้ง ได้เงินสด แถมขายในตลาดไม่ต้องเสียภาษีเหมือนเงินปันผล เทคนิคของบริษัทเหล่านี้คือแจก waarrant โดยตั้งราคาใช้สิทธ์สูงๆ กะว่าวันที่ warrant หมดอายุ ไม่มีใครใช้สิทธ์แน่ๆ จำนวนหุ้นก็ไม่เพิ่ม เช่นราคาในตลาด 6 บาท ออก warrant ที่ราคาใช้สิทธ์ 30 บาทเป็นต้น