invesmentory-VI-01

VI หรือ value investment ถือเป็นแนวทางการลงทุนอีกแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย นักลงทุนหลายคนเลือกการลงทุนวิธีนี้เป็นแกนหลักของตนเอง แต่ปรากฏว่าเมื่อเวลาผ่านไป หลายครั้งที่นักลงทุนหลายคนยังมองไม่เห็นความสำเร็จหรือความรวยที่ผลิดอกออกผลมาจากการลงทุนแบบวีไอสักที วันนี้ ลงทุนศาสตร์ได้สรุป 10 เหตุผลยอดฮิตที่ทำให้เครื่องยนต์การลงทุนของนักลงทุนไปไม่ถึงฝั่งฝันตามที่คาดหวังไว้

1.) คุณไม่เข้าใจธุรกิจอย่างแท้จริง

หลุมพรางแรกที่เจอมากที่สุด คือ นักลงทุนเข้าใจว่าการเลือกหุ้นแบบวีไอคือการเลือกซื้อหุ้นใหญ่ หุ้นดัง หรือหุ้นที่บริษัทเป็นที่รู้จัก หลายครั้งที่หุ้นบริษัทเหล่านี้พื้นฐานดี แต่หลายครั้งก็ไม่ใช่ ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนแนววีไอต้องทำคือการเข้าใจพื้นฐานบริษัทอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงการลงทุนซื้อเพราะคิดว่ามันน่าจะเป็นบริษัทที่ดีเท่านั้น เช่น หากจะลงทุนในบริษัทขุดเจาะน้ำมัน นักลงทุนควรจะเข้าใจกลไกราคาน้ำมันโลกโดยละเอียด โครงสร้างรายได้จากการขุดเจาะน้ำมัน รวมไปถึงรูปแบบราคาที่มีผลต่อรายได้ของบริษัท ไม่ใช่เพียงมองแต่ว่าบริษัทนั้นเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง มูลค่าตามราคาตลาดมาก ราคาลงมามาก ถือไว้ระยะยาวราคาก็น่าจะกลับไปที่เดิม

2.) คุณไม่วิเคราะห์ปัจจัยมหภาค

ถึงแม้ว่าการลงทุนแบบวีไอที่เน้นเจาะลึกไปรายบริษัทจะไม่เน้นภาพมหภาคมากเท่าไหร่นัก แต่การวิเคราะห์ปัจจัยมหภาคก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้อยู่ดี หลายคนมองข้ามเรื่องเหล่านี้ไปจากแผนการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทในอุตสาหกรรมที่มีความผูกพันกับปัจจัยมหภาคอย่างแยกไม่ออก การมองข้ามภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไป ย่อมถือเป็นความผิดพลาดในการลงทุนอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนมองว่าหุ้นธนาคารใหญ่น่าจะเป็นหุ้นที่ดี ซื้อและถือยาวได้ แต่ในความเป็นจริงหุ้นธนาคารมักจะมีผลประกอบการสัมพันธ์ไปกับ GDP อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พอเศรษฐกิจชะลอตัวก็ส่งผลประกอบการของธุรกิจออกมาต่ำกว่าที่คาด ซึ่งอาจจะทำให้การประเมินมูลค่าหุ้นที่ทำไว้ผิดไปจากความเป็นจริง

3.) คุณไปไม่ถึงแก่นของงบการเงิน

คนส่วนใหญ่เข้าใจอีกเช่นกันว่างบการเงินคือทุกอย่างของวีไอ แต่ในความจริงแล้ว งบการเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวีไอเท่านั้น นักลงทุนบางคนอ่านงบอย่างคร่าวเกินไป เช่น ROE ROA NPM GPM %yield สูง P/E P/BV ต่ำก็ซื้อเลย โดยลืมคิดไปว่างบการเงินมีความลึกซึ้งกว่านั้นมาก และยังสามารถหลอกกันได้อย่างง่ายดาย บางบริษัท ROE สูงเกิน 20 สวยงาม แต่พอไปดูแล้วขายเป็นเงินเชื่อทั้งนั้น แถมยังตั้งสำรองหนี้เสียอีกมหาศาล จนรายได้ที่ใส่มาในงบแทบจะเป็นแค่ตัวเลข เพราะขายของได้แต่ไม่มีเงินสดเข้ามาบริษัทเลย แบบนี้ก็ผิดพลาดได้อีกเช่นกัน นักลงทุนแนววีไอจึงต้องใส่ใจงบการเงินโดยละเอียด การลงทุนโดยดูจากอัตราส่วนทางการเงินเพียงคร่าวๆ นั้นก็ถือเป็นอีกกับดักหนึ่งเช่นกัน

4.)  คุณลืมวิเคราะห์ผู้บริหาร

นักลงทุนส่วนหนึ่งเข้าซื้อหุ้นจากธุรกิจและงบการเงิน แต่กลับลืมให้ความสำคัญกับคนที่จะมาขับเคลื่อนธุรกิจ การลงทุนในหุ้นก็เหมือนนำเงินไปฝากไปฝากไว้กับเพื่อนให้เพื่อนบริหารเงินให้ ถ้าเพื่อนนิสัยดี เพื่อนจะตั้งใจทำงานหาเงินมาคืนเป็นผลกำไรให้เรา แต่ถ้าเพื่อนนิสัยไม่ดี เพื่อนจะตั้งใจทำทุกวิถีทางเอาเงินไปจากกระเป๋าเรา ถึงแม้ว่าการวิเคราะห์ผู้บริหารจะไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่นัก แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าความพยายามอย่างแน่นอน อย่างน้อย การวิเคราะห์กลยุทธ์การทำธุรกิจ รวมไปถึงการตกแต่งบัญชีก็พอจะทำให้เห็นนิสัยของผู้บริหารคร่าวๆ ได้ ซึ่งถ้านักลงทุนฝึกฝนไปนานๆ นักลงทุนจะมองภาพผู้บริหารออกมาจากข้อมูลเชิงปริมาณได้เอง

5.) คุณเข้าซื้อแบบไม่ดูมูลค่าพื้นฐาน

อันที่เป็นเรื่องที่คนผิดพลาดกันบ่อยที่สุดเลยก็ว่าได้ นักลงทุนหลายคนวิเคราะห์พื้นฐานบริษัทละเอียดมาก แต่กลับไม่วิเคราะห์มูลค่าพื้นฐานบริษัทเลย อย่าลืมว่าการลงทุนในหุ้นนั้นจะเป็นการลงทุนที่ดีก็ต่อเมื่อซื้อบริษัทที่ดีในมูลค่าที่เหมาะสม หากซื้อที่ราคาแพงเกินไปแล้ว ต่อให้เป็นบริษัทชั้นเยี่ยมแค่ไหน การลงทุนก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ โดยการประเมินมูลค่าหุ้นก็เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่มีเนื้อหาให้เรียนรู้อยู่มาก แต่ในกรณีที่เริ่มต้นลงทุนในหุ้น แนะนำให้ประเมินมูลค่าด้วยวิธี P/E ที่เหมาะสม ซึ่งหากนักลงทุนยังไม่มีกรอบความคิดที่เหมาะสำหรับตัวเอง แนะนำให้อ่านบทความเรื่อง การประเมินมูลค่าอย่างง่ายสำหรับผู้เริ่มต้นลงทุนในหุ้น เพื่อนำไปปรับใช้กับการลงทุนของตนเอง

6.) คุณให้ส่วนเผื่อความปลอดภัยน้อยเกินไป

ส่วนเผื่อความปลอดภัยคือความห่างระหว่างราคากับมูลค่า มันคือส่วนเผื่อที่อนาคตจะไม่เป็นอย่างที่เราคาดการณ์ไว้ ตรงนี้แหละที่จะทำให้นักลงทุนไม่เจ็บหนักตอนพื้นฐานเปลี่ยนกะทันหัน นักลงทุนส่วนใหญ่ชอบซื้อที่ราคาแบบไม่มีส่วนลด ซึ่งนั่นถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งยวดอีกอย่างของการลงทุน เพราะนักลงทุนไม่เหลือโอกาสไว้ให้ผิดพลาดได้ ดังนั้น ลงทุนศาสตร์แนะนำให้มีส่วนเผื่อความปลอดภัยระหว่างราคากับมูลค่าทุกครั้งในการเข้าซื้อ อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ และยิ่งเพิ่มส่วนเผื่อความปลอดภัยมากเท่าไหร่ การลงทุนก็ยิ่งปลอดภัยและเพิ่มโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนมากเท่านั้น

7.) คุณมองอนาคตน้อยเกินไป

ความผิดพลาดข้อนี้ซับซ้อนขึ้นมาอีกเป็นลำดับ คนส่วนหนึ่งมองว่าธุรกิจดี งบการเงินดี ราคาไม่แพงก็ซื้อ แต่อย่าลืมอีกคำถามหนึ่งที่สำคัญคือ แล้วอีกห้าปีสิบปีข้างหน้ากิจการจะยังดีแบบเดิมไหม ผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนไปหรือเปล่า ปัจจัยนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการลงทุนคือการลงทุนในอนาคต ไม่ใช่ลงทุนไปในอดีต หุ้นบางตัวในอดีตดีมาก งบสวยมาก เป็นธุรกิจที่ชนะขาด แต่สิ่งที่ผ่านไปแล้วย่อมผ่านไป นักลงทุนต้องถามอนาคตว่ายังดีอยู่ไหม ถ้าไม่ดีแล้วก็ต้องผ่านไป ไม่ใช่หุ้นที่น่าลงทุน ถึงแม้ว่าอดีต บริษัทนั้นจะเป็นสุดยอดของกิจการมากแค่ไหนก็ตาม

8.) คุณคาดหวังผลตอบแทนมากเกินไป

หุ้นในระยะยาวในผลตอบแทนประมาณปีละ 12% คำถามคือนักลงทุนคาดหวังผลตอบแทนจากหุ้นปีละเท่าไหร่ อย่าลืมว่าผลตอบแทนที่ต้องการย่อมกำหนดการลงทุนในทุกส่วน ตั้งแต่รูปแบบการลงทุน กิจการที่เลือกลงทุน ไปจนถึงการประเมินมูลค่า แน่นอนว่าถ้านักลงทุนต้องการผลตอบแทนมาก รูปแบบการลงทุนย่อมจะวิ่งเข้าหาความเสี่ยงโดยอัตโนมัติ ลงทุนศาสตร์จึงมักจะแนะนำให้ใช้ผลตอบแทนที่คาดหวังใกล้เคียงกับผลตอบแทนของหุ้นในระยะยาวจะดีกว่า ส่วนที่จะได้มากกว่านั้น ให้ถือเป็นโบนัสจากความพยายามจากตลาดแล้วกัน

9.) คุณให้เวลามันน้อยไป

หลายคนบอกว่าลงทุนวีไอไม่เห็นรวย แต่เมื่อถามกลับไปว่าลงทุนมานานเท่าไหร่ บางคำตอบสั้นกว่าสามเดือนด้วยซ้ำ อย่าลืมว่าการลงทุนแนววีไอคือการลงทุนกับบริษัทระยะยาว แน่นอนว่าการที่บริษัทจะแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ย่อมไม่ใช่ภายในเวลาเดือนสองเดือนแน่ ดังนั้นนักลงทุนแนววีไอย่อมที่จะเรียนรู้ที่จะรอคอยเป็น รอเวลาที่ประสิทธิภาพของการลงทุนแสดงออกมาอย่างสูงสุด แต่ถ้าหากนักลงทุนมองว่าไม่สามารถรอคอยได้ การลงทุนแนววีไออาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับคุณ

10.) คุณมีทัศนคติที่ไม่แข็งแกร่งพอ

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการลงทุนคือการมีทัศนคติที่ถูกต้อง ในกรณีที่เลือกที่จะเดินมาในเส้นทางของวีไอแล้ว ย่อมจำเป็นที่จะต้องมีทัศนคติหรือมุมมองแบบวีไอที่ดี นักลงทุนหลายคนเลือกหุ้นแบบวีไอ แต่กลับยังคงใส่ใจในการเคลื่อนไหวของราคา และพยายามจะจับจังหวะทำกำไรจากความผันผวนของตลาด ซึ่งแน่นอนว่าความคิดแบบนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่การพยายามผสมหลายแนวทางการลงทุนอาจจะทำให้การลงทุนนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้นหากเลือกจะลงทุนในเส้นทางนี้แล้ว การสนใจในการราคาให้น้อยและสนใจในกิจการให้มากจะช่วยให้นักลงทุนผ่านความเลวร้ายจากความผันผวนของราคาไปได้อย่างอยู่รอดปลอดภัย ซึ่งนั้นหมายถึงผลดีต่อทั้งพอร์ตการลงทุนและความรู้สึกของนักลงทุนเอง

เหตุผลของความผิดพลาดด้านการลงทุนทั้ง 10 ข้อไม่ใช่เหตุผลทุกด้านที่ครบถ้วนที่สุด แต่ลงทุนศาสตร์ได้รวบรวมมาเพื่อแนะให้เห็นถึงความผิดพลาดที่นักลงทุนแนววีไอประสบกันอยู่บ่อยๆ สุดท้ายแล้วการลงทุนก็เหมือนการทำอาหารที่ชอบสักจาน เพราะถึงแม้ว่าสูตรการปรุงจะแน่นอนตายตัวขนาดไหน พ่อครัวแม่ครัวก็ย่อมต้องมาปรับรสชาติให้เข้ากันจริตของตนเองอยู่ดี

ลงทุนศาสตร์ – Investerest 

TSF2024