DIV-FUND1

ถ้าเราวางแผนว่าจะเลือกวัตถุประสงค์ในการซื้อกองทุนเพื่อเป็น “รายได้ประจำ”
แสดงว่าเรา จำเป็น ที่จะต้องเลือกกองทุนที่มีการ “จ่ายปันผล” ใช่ไหมครับ?


คำตอบ

ไม่จำเป็นต้องเลือกกองที่จ่ายปันผล ด้วยเหตุผลต่อไปนี้ครับ

1. กองที่จ่ายเงินปันผล เราต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ของเงินปันผลที่ได้รับ
ทำให้เงินที่ควรจะได้นำมาใช้เป็นรายได้ มันไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

2. กองที่จ่ายปันผล แม้จะมีรายได้เข้ามาให้เราอัตโนมัติ
แต่ก็ไม่สามารถเลือก “ปริมาณเงิน” และเลือก “ความถี่” ได้เอง
เช่นเราอาจต้องการรายได้ทุกเดือน แต่อาจไม่มีกองที่จ่ายปันผลทุกเดือนให้เลือก

3. แม้จะมีกองบางกองที่มีวิธีจ่ายผลตอบแทน
ด้วยการ “ขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (Auto-Redemption)
ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย แต่ก็ยังติดปัญหาตามข้อ 2
คือกำหนดปริมาณเงิน และกำหนดความถี่ของรายได้ ไม่ได้อยู่ดี


สำหรับการลงทุนเพื่อ “รายได้ประจำ”
ผมอยากให้พิจารณาประเด็นเหล่านี้เป็นหลักครับ

1. สินทรัพย์ที่กองทุนลงทุน ต้องเป็นสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสม่ำเสมอในรูปของเงินสด
เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า เงินปันผล เพื่อที่กองจะได้รับรายได้นั้นเข้ามาในกอง (รอให้เราเอาไปใช้)

2. กระบวนการนำรายได้มาใช้นั้น เราสามารถใช้วิธี “สั่งขาย” เอาเองได้
เพื่อให้สามารถเลือก “ปริมาณเงิน” และ “ความถี่” ได้เอง โดยไม่ต้องเสียภาษี หัก ณ ที่จ่าย เหมือนเงินปันผลด้วย

3. บาง บลจ. เราสามารถสั่งขายอัตโนมัติ “เป็นประจำ” ได้ด้วย
เช่น สั่งขาย รายเดือน เดือนละ 5,000 บาท เพื่อนำมาเป็นรายได้ โดยให้ขายทุกวันที่ 25 เป็นต้น
(สามารถสร้างเงินเดือนจำลอง ให้เข้าบัญชีออมทรัพย์ทุกสิ้นเดือน คล้ายกับมีนายจ้างจ่ายให้)

4. เราต้องเป็นผู้บริหารการใช้รายได้นี้เอง 
เงินในพอร์ตก็เหมือน “แม่ไก่” ที่ออก “ไข่ทองคำ”
ไข่ทองคำคือรายได้ ที่ถ้าเราขายออกมาใช้มากเกินไป (ขายออกมา มากกว่าดอกผลที่กองทุนได้รับมา)
แม่ไก่ก็จะอ่อนแอ และตายลงได้ครับ (เงินต้นลดจนหมดในที่สุด)

ตัวอย่างการบริหารแบบนี้ เช่น เลือกกองทุนที่ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวๆ ประมาณ 5-6%
แต่ถอนออกมาใช้ไม่เกิน 4.5% ต่อปีเป็นต้น

5. กรณีที่ต้องการเลือกกองที่จ่ายปันผล ก็ยังสามารถเลือกได้
เพียงแต่ต้องรู้ข้อจำกัดต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น คือ ภาษี ปริมาณเงิน และ ความถี่ ครับ