สวัสดีครับ ปี ค.ศ. 2014 จัดว่าเป็นอีกปีที่กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือ FIF ได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยเป็นอย่างมาก หากพอจำกันได้กองทุน FIF นั้นเริ่มเกิดขึ้นในปี 2002 หรือเมื่อ 12 ปีที่แล้วโดยตอนนั้นมี บลจ. 5 แห่งเป็นผู้เสนอขายกองทุน FIF ในรุ่นแรกในวงเงินการเสนอขายที่ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มาจนถึงวันนี้จำนวนกองทุน FIF ในบ้านเรามีมากมายหลายร้อยกอง ถ้ารวมกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ระบุอายุเวลาด้วยผมคิดว่าอาจมีการออกกอง FIF ในเมืองไทยไปแล้วเป็นหลักพันกอง โดยล่าสุดกองทุนรวม FIF ในประเทศไทยมีขนาดใหญ่ถึงกว่า 8 แสนล้านบาท หรือกว่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าตลาดกองทุนรวมในประเทศไทย เรียกได้ว่ากว่าทศวรรษที่ผ่านมาการเติบโตของกองทุนรวม FIF ทั้งด้านอุปทานที่มีหลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และความรู้ความเข้าใจของนักลงทุนได้พัฒนาไปมากทีเดียวครับ
ในปี 2002 กองทุน FIF รุ่นแรกที่เสนอขายในตอนนั้นมีทั้งกองทุนหุ้นโลก กองทุนหุ้นกู้แปลงสภาพ กองทุนตราสารหนี้เอเชีย รวมถึงกองทุน Global Balance ในช่วงปีแรก ๆ กองทุน FIF ยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไรนักเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใหม่มาก และนักลงทุนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจมากนัก จนถึงช่วงปี 2004 – 2005 ที่ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างจะซบเซา ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกให้ตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นคือในปี 2005 – 2006 จึงกลายเป็นช่วงที่กองทุน FIF ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะกองทุน FIF ประเภทที่ลงทุนในหุ้นโลก หุ้นเอเชีย นอกจากนี้ยังมีกองทุน FIF ตราสารหนี้ที่ระบุอายุเวลาการลงทุนที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในปี 2008 ซึ่งมีวิกฤต Hamburger ในช่วงเวลานั้นสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกปรับตัวลงอย่างหนักไม่ว่าจะหุ้นไทย หรือหุ้นต่างประเทศ กองทุน FIF ต่างประเทศหลายตัวที่เคยสร้างผลกำไรกลับได้รับผลขาดทุนอย่างหนัก บางกอง NAV ลงมาเกินครึ่งก็มี เรียกว่าผลกระทบเกิดขึ้นระดับน้อง ๆ เมื่อเทียบกับการปรับตัวลดลงของกองทุนหุ้นบ้านเราในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเลยทีเดียว เมื่อวิกฤต Hamburger ผ่านพ้นไป ความนิยมในกองทุน FIF ประเภทเสี่ยงสูงอย่างหุ้นต่างประเทศก็ได้ลดลงไปมากพอสมควร ประกอบกับตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2009 – 2012 ทำให้นักลงทุนเริ่มหันกลับไปสนใจกองทุนหุ้นในประเทศมากกว่า
มาจนถึงปี 2013 ซึ่งตลาดหุ้นไทยกลับมาผันผวนอีกครั้ง โดยตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงไปประมาณ 7% รวมถึงมีปัญหาเรื่องวิกฤตการเมืองในประเทศ ขณะที่หุ้นต่างประเทศอย่างอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่นกลับสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่ามาก ส่งผลให้กองทุน FIF กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในปี 2014 โดยเฉพาะกองทุนหุ้นต่างประเทศ ที่เติบโตขึ้นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นกองทุนเปิด หรือกองทุนหุ้นต่างประเทศประเภททริกเกอร์ฟันด์
เล่าประวัติศาสตร์กันมาซะยาวถึงตรงนี้ ข้อสังเกตที่ผมอยากฝากไว้คือในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีหลายปีที่ผลตอบแทนของกองทุนหุ้นต่างประเทศ ไปในทิศทางตรงข้ามกับกองทุนหุ้นไทย ดังนั้นประโยชน์ของการลงทุนใน FIF นอกจากการสร้างโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีแล้ว ก็คือการกระจายการลงทุน (Diversification) หากนักลงทุนไทยมีกองทุนต่างประเทศในพอร์ตในปี 2004 หรือ 2013 ซึ่งตลาดหุ้นไทยติดลบ ขณะที่หุ้นต่างประเทศเป็นบวก การลงทุนในต่างประเทศจะสามารถช่วยรักษาเงินลงทุนโดยรวมของพอร์ตของท่านนักลงทุนได้อย่างมาก ขณะที่การพยายามจับจังหวะเข้าลงทุนในกองทุนหุ้น FIF ต่างประเทศกลับทำได้ค่อนข้างยาก เพราะบ่อยครั้งที่ผ่านมา นักลงทุนมักจะเข้าซื้อลงทุนหลังจากปีที่ตลาดปรับขึ้นไปพอสมควรแล้ว และขายขาดทุนหลังจากปีที่ตลาดปรับตัวลดลงมาก ๆ สรุปคือการจับจังหวะ “ซื้อถูก ขายแพง” ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ “พูดง่าย แต่ทำยาก” ในทางปฏิบัติ บ่อยครั้งที่เราเห็นตลาดใด ๆ ขึ้นต่อเนื่องมาซักช่วงเวลาหนึ่งก็มักจะอดไม่ได้ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดนั้น เช่นเดียวกันเมื่อตลาดใด ๆ ตกแรง ๆ นักลงทุนจำนวนมากก็มักจะถอดใจและถอนตัวออกจากตลาดนั้น แต่หากวิเคราะห์ดูให้ดีหากเราตัดสินใจตรงกันข้ามกับสิ่งที่ทำไปอาจกลายเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดก็เป็นได้ครับ
ประวัติศาสตร์12 ปีผ่านไป อนาคต 12 ปีต่อจากนี้ผู้เขียนเชื่อว่าตลาดการลงทุนในกองทุนรวม FIF จะมีขนาดใหญ่ขึ้นอีกมาก และมีความหลากหลายมากขึ้น จากความรู้ความเข้าใจของนักลงทุนที่มีมากขึ้น รวมถึงอนาคตที่จะมีการเปิดเสรีตลาดกองทุน ที่จะเปิดโอกาสให้มีกองทุน รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนอีกมากจากต่างประเทศเข้ามาเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนไทย ผู้เขียนหวังว่าประวัติศาสตร์เรื่องกองทุนรวม FIF ที่นำมาเล่าในวันนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนในการนำกองทุน FIF มาประยุกต์ใช้ในการจัดพอร์ตการลงทุนของท่านให้มีผลตอบแทนที่ดีขึ้น และมีความเสี่ยงที่ลดลงในระยะยาวครับ