Ask-guru-pick-19-Dec

จากที่ FINNOMENA เราได้มีการเปิดให้เพื่อนสมาชิกแบบ Premium เข้ามาสอบถามประเด็นสงสัยเกี่ยวกับการลงทุนได้ทุกเรื่อง ใน Function “Ask Guru” ของเรานั้น ที่ผ่านมามีคำถามยิงเข้ามามากมาย ซึ่งเหล่า กูรู เรนเจอร์ของเราก็สับเปลี่ยน หมุนเวียนกันมาคลายข้อข้องใจกันตามความถนัดของแต่ละท่าน ถือได้ว่า Unlock Your Investment Potential กันไปค่อนข้างครบถ้วน และตอบโจทย์ แก้คัน นักลงทุนได้พอสมควร ฟินแอดมึนจึงถือโอกาส ยกคำถามที่อาจตรงใจ หลายๆคน มานำเสนอให้เพื่อนๆที่ยังไม่เคยได้เข้าไปสัมผัส ได้ลองอ่านกัน ถือเป็นการแชร์สาระการลงทุนให้เป็นประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้น ต้องขอขอบคุณคำถามของคุณ Kittichon และกูรู A-Academy ที่ตอบได้อย่างเมามันแต่ชัดเจนมากๆ

>>>>>>>เริ่มกันด้วยคำถาม

“นักวิเคราะห์บางที่บอกว่าตัวเองจะรอวิกฤติ แต่ก็แนะนำว่าพอลงทุนได้ แถมแนะนำหุ้นด้วย ผม DCA อยู่ก็ชักจะไขว้เขวครับ เพราะถ้าให้รอวิกฤติค่อย DCA ก็พร้อมรอครับ ขอคำแนะนำด้วยครับ? (Warren Buffet ก็บอกให้เราซื้อหุ้นที่ดี ในราคาที่เหมาะสม แต่ไม่ได้บอกให้ DCA นะครับ)”

 

>>>>>>>มาฟังคำตอบจาก กูรู A-Acadamy กันเลยคับ

ก่อนตอบคำถาม ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมก่อนนะครับ
Buffett แนะนำให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนแบบ DCA จริงครับ แต่ไม่ได้ให้ DCA กับหุ้นรายตัว

ข้อความด้านล่างนี้เป็นข้อความที่เขียนโดย Buffett เป็นคำแนะนำที่เค้าให้กับนักลงทุนทั่วไป

The best way in my view is to just buy a low-cost index fund and keep buying it regularly over time, because you’ll be buying into a wonderful industry, which in effect is all of American industry. If you buy it over time, you won’t buy at the bottom, but you won’t buy it all at the top either

ที่ Buffett บอกให้ “Keep buying it regularly over time”
ก็คือการลงทุนตามวิธี DCA หรือ Dollar-Cost Averaging นั่นเอง

ทีนี้กลับมาที่คำถามว่า “ควรรอวิกฤติแล้วค่อยซื้อหุ้นดีหรือไม่ ?”
คำถามนี้ ถามสั้นตอบยาว ขั้นแรกต้องตอบให้ได้ก่อนว่าเราตั้งใจจะลงทุนแบบไหน
เพราะวิธีการลงทุนแต่ละแบบ มีวิธีการตัดสินใจต่างกัน ให้ผลลัพธ์ต่างกัน และก็เหมาะกับคนแต่ละกลุ่มต่างกันเช่นกัน

กลุ่มที่ 1 : ไม่มีความรู้/ไม่มั่นใจ/ไม่เชื่อ ว่าจะสามารถจับจังหวะลงทุนได

เป็นกลุ่มหลักที่ผมและผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่านแนะนำให้ลงทุนแบบ DCA
คือค่อยๆ ทยอยลงทุนด้วยเงินจำนวนเท่าๆ กัน ในระยะเวลาที่ค่อนข้างยาว
ซึ่งจะได้ซื้อทั้งช่วงที่หุ้นขึ้น (ดังเช่นช่วงปี 2009-2013)
และทั้งในช่วงที่หุ้นลง (เช่น ปี 2008 รวมถึงปีนี้ 2015)
ถ้าเราเป็นคนกลุ่มนี้ ซึ่งชื่อกลุ่มก็บอกอยู่ว่าเรา “ไม่จับจังหวะ”

ผมก็คิดว่า เราก็ยังคงสามารถเดินตามแผนการลงทุนเดิมต่อไป
คือทยอยซื้อลงทุนไปเรื่อยๆ แม้ว่ามันจะขึ้นหรือมันจะลงก็ตาม
ตราบใดที่เรายังเดินทางไปไม่ถึงเป้าหมายการลงทุนของเรา
เพราะวิธีการนี้ก็จะให้ผลตอบแทน “กลางๆ” แต่ช่วยให้เรามีวินัยและอยู่กับตลาดได้นานพอ
นานพอที่เราจะได้ Enjoy ผลตอบแทนเฉลี่ยๆ ของตลาดที่แถวๆ 10-12% ต่อปีในระยะยาวได้

แต่ถ้าเราไม่มีเป้าหมาย หรือมาลงทุนวิธี DCA นี้แบบมึนๆ
ก็ให้ย้อนกลับไปคิดใหม่ก่อนครับ ว่าเรามาใช้วิธีนี้ทำไมตั้งแต่แรก
มันอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะกับเราก็ได้

ผมอยากให้ลองอ่านบทความนี้ เพื่อทบทวนตัวเองถึงแก่นเรื่องการตัดสินใจลงทุน
https://www.finnomena.com/a-academy/investor-oasis/2015/11/16/20/core_investment_decision/

และอยากให้ดูวีดีโอนี้ เพื่อทบทวนหลักการลงทุนแบบ DCA อีกสักรอบ
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/18-buy-dca/

สิ่งที่คนกลุ่มที่ 1 จะต้องเช็คเพิ่มเติมก็คือ

1) ระยะเวลาการลงทุนเรายังเหลืออีกอย่างน้อยซัก 5-7 ปีหรือไม่
เพราะถ้าเหลือน้อยกว่านี้ การลงทุนหุ้นด้วยวิธี DCA อาจไม่เหมาะ มันสั้นเกินไป
คือลงสั้นแล้วได้กำไรก็มี แต่จะเอาแบบที่อุ่นใจได้ ขอเผื่อไว้ยาวดีกว่า

2) หุ้นหรือกองทุนหุ้นที่เราเลือกลงทุนมันโอเคมั๊ยในอนาคตข้างหน้า
เพราะ DCA เป็นแค่หลักในการ Input เงินเข้าไปในตราสารที่เราเลือกไว้
ถ้าหุ้นหรือกองทุนหุ้นนั้นมันไม่ดี DCA ไปก็จะยิ่งซวย เพราะจะยิ่งเฉลี่ยขาลงไปเรื่อยๆ
โดยเฉพาะหุ้นรายตัวต้องระวังมากๆ เพราะไม่มีกลไกการกระจายความเสี่ยงเหมือนกับกองทุนรวม
อย่างในกองทุนหุ้นกองหนึ่งมีหุ้นหลายสิบตัว และตัวไหนห่วยเค้าก็มีการเปลี่ยนตลอดเวลา
แต่การ DCA หุ้นรายตัว เรามั่นใจรึเปล่า ว่าเราเลือกหุ้นที่ดี ?

ย้ำอีกที DCA มีขึ้นเพื่อให้คนที่เลือกเส้นทางที่จะ “ไม่เก็งทิศทางตลาด”
ถ้าเริ่มเก็งเมื่อไร มันก็ไม่ใช่ DCA ครับ

กลุ่มที่ 2 : มีความรู้/มั่นใจ/เชื่อ ว่าจะสามารถจับจังหวะลงทุนได

ถ้าเราเป็นคนกลุ่มนี้ คำถามนี้ตอบง่ายมากคือ “ต้องรอให้หุ้นตกลงไปมากก่อนแล้วจึงหาจังหวะซื้อ”
เพราะการซื้อได้ถูก ย่อมช่วยเพิ่มโอกาสทำกำไรได้อยู่แล้ว

แต่เราต้องเช็คตัวเองให้ดี ว่า “ที่คิดว่าเรารู้นั่น เรารู้จริงๆ”
ขั้นแรกถามตัวเองก่อนว่าเราเป็นนักลงทุนแนวไหน แนวปัจจัยพื้นฐาน/VI หรือ แนวเทคนิค หรือแนวอื่นๆ
เพราะแต่ละวิธีการก็มีข้อบ่งชี้สภาวะตลาดที่แตกต่างกัน

ในมุมปัจจัยพื้นฐาน เราอาจจะกลับเข้ามาลงทุนเมื่อระดับราคา หรือ ความถูกแพง (Valuation) ของตลาดหุ้นอยู่ในระดับที่ถือว่าถูก
ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะใช้ตัววัดไหน บางคนมอง P/E บางคนมอง P/BV บางคนมองที่ Dividend Yield หรือบางคนมอง Earnings Yield Gap

หรือถ้าใครวิเคราะห์หุ้นเป็นรายตัว เวลานี้ก็เป็นเวลาที่ต้องประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นกันใหม่
เพราะสมมติฐานหลายอย่างเปลี่ยน เช่น สมมติฐานการเติบโต จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และต่างประเทศที่ไม่สู้จะดี
สมมติฐานด้าน P/E ที่เหมาะสมในการซื้อขาย ซึ่งภาวะที่คนกังวลแบบนี้ คนอาจไม่ยินดีซื้อหุ้น ในราคาเดิมกับที่เคยยอมซื้อตอนที่เศรษฐกิจดี
ใครที่ใช้โมเดลประเมินมูลค่าตระกูล DCF (Discounted Cash Flow) อาจต้องปรับ Discount Rate ใหม่
ให้สะท้อนระดับความเสี่ยงที่กำลังจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน

เมื่อประเมินราคาใหม่ออกมาได้ แล้วพบว่าตลาดหุ้น หรือ หุ้นรายตัวที่เลือก มี Upside อยู่ในระดับที่น่าสนใจ
เราก็สามารถทยอยเข้าซื้อได้ ซึ่งการที่ Upside จะสูง ก็จะเกิดหลังจากที่หุ้นต้องตกลงมาซักระยะแล้ว
มันก็คือการซื้อเมื่อตกนั่นเอง แต่ไม่ได้ดูแต่ราคาที่ตก เพราะเราดูเทียบกับ Fair Price หรือมูลค่าที่เหมาะสมด้วย

อย่าลืมว่าเราซื้อเพราะหุ้นนั้นจะขึ้น ไม่ใช่ซื้อเพราะหุ้นนั้นตกมาเยอะ!

ในมุมเทคนิค ซึ่งผมอาจไม่เชี่ยวชาญเท่าไร ก็จะมีวิธีการตัดสินใจที่แตกต่างไปจากสายปัจจัยพื้นฐานสิ้นเชิง
แต่ที่แน่ๆ ณ ตอนนี้หุ้นไทยอยู่ใน Down Trend แน่นอน ถ้าเชื่อ Dow Theory ก็ต้องไม่ไปขวาง Trend
แต่ต้องหาจุดที่เริ่มมีการเปลี่ยน Trend โดยใช้รูปแบบราคา (Price Pattern) หรือตัวชี้วัด (Indicator) แบบต่างๆ
และอาจดูปริมาณการซื้อขาย (Volume) เพื่อยืนยันการกลับตัวของราคาอีกทีหนึ่ง
ซึ่งก็เป็นการซื้อหลังจากที่ตกอีกนั่นเอง

ยิ่งถ้าใครอยากจะใช้หลายแนบทางประกอบกัน
เช่นอาจจะใช้ทั้ง Valuation ที่ดี คู่กับจังหวะจากกราฟที่ดี ก็จะยิ่งต้องศึกษามากขึ้นไปอีก
โดยเฉพาะกับท่านที่อ่านศัพท์เทคนิคต่างๆ ข้างบนแล้วยังมึนๆ งงๆ (ซึ่งผมจงใจเขียนให้มึนๆ)

ถ้าเรามึน ก็แสดงว่าเรายังไม่รู้จักมันเท่าไร ดังนั้น ที่เราคิดว่าเราเป็นคนกลุ่มที่ 2
จริงๆ เราอาจจะไม่ใช่ก็ได้ ถึงพยายามย้ำว่าต้องทบทวนตัวเองดีๆ ว่าเราเป็นคนกลุ่มไหน แล้วตัดสินใจไปตามนั้น

แต่ก็อย่าลืมว่า ยังไงเสียความไม่แน่นอนก็เกิดขึ้นได้เสมอ
เขียนไปข้างบนเหมือนจะมีวิธีเก็งได้ชัวร์ๆ จริงๆ มันก็ไม่ชัวร์หรอกครับ
บางทีรอให้หุ้นตกมาบางราคา มันไม่ยอมตก ปรากฎมันขึ้นไปแพงกว่าเดิมมาก
พอถึงราคานั้นก็ไม่กล้าซื้อ หรือพอซื้อมันก็ดันตก ก็มีถมไป

สรุปแบบสั้นๆ 
1. เก็งไม่เป็น เวลาสั้น อย่ามาลงทุนหุ้น
2. เก็งไม่เป็น เวลายาว ลงทุนแบบ DCA ต่อไป ทำความเข้าใจหลักการดีๆ อดทนทำต่อไป
3. เก็งเป็น ตัดสินใจตามวิธีการที่ตั้งใจจะใช้ รอซื้อในเวลาที่หลักการที่เราใช้บอกว่าน่าซื้อ

ฟินแอดมึนอ่าน สรุปข้อแรกแล้ว สะอึกเลยทีเดียว เรียกว่าโดนเตือนสติให้กลับมาแบบ เบาๆ

ยังมีคำถาม และคำตอบที่เชื่อว่าจะช่วยให้ความสงสัยของคุณคลายลงไม่มากก็น้อย ใน Premium Function ของ Finnomena

ขออนุญาตเปิดวาร์ป ให้ตามไปเสพกันโดยพลัน >> https://www.finnomena.com/ask-guru/