ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM
ในยุคสมัยที่การลงทุนในหุ้นไม่จำเป็นต้องใช้เหตุผลมากนักก็สามารถทำกำไรจากตลาดหุ้นได้ง่ายๆ เช่นตลาดขาขึ้นในปัจจุบัน ก็คงเป็นธรรมชาติที่นักลงทุนจะเริ่มผ่อนคลายความระมัดระวังในการลงทุนลง เพราะจับหุ้นตัวไหน ขายเมื่อไรก็ได้กำไรหมดหากระมัดระวังมากเกินไปอาจไม่ทันการณ์ไล่หุ้นกันไม่ทันไปซะอีก ผมเริ่มสังเกตเห็นความหย่อนยานในความคิดเชิงวิเคราะห์ของนักลงทุนบางท่าน หนึ่งในนั้นคือการใช้แนวคิดเชิงวิเคราะห์ที่ใช้หลักการง่ายๆ ที่เรียกกันว่า บัญญัติไตรยางศ์ในการประเมินอนาคตของกิจการ (Linear projection)
ยกตัวอย่างเช่น หากมีบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่งประกาศขยายกำลังการผลิตอีก 100% นักลงทุนบางส่วนจะคิดง่ายๆว่า ถ้าขยายกำลังการผลิตเท่าตัว รายได้ของบริษัทก็ต้องเพิ่มขึ้นเท่าตัวทันทีที่การขยายกำลังการผลิตเสร็จสิ้น กำไรขั้นต้นของบริษัทก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ค่าใช้จ่ายการขายและบริหารก็คงเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนกับยอดขายที่เพิ่มขึ้น ถ้ากู้เงินมาลงทุนเพิ่มก็ต้องมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกนิด เสียภาษีเพิ่มอีกหน่อย แต่สุดท้ายแล้วกำไรต่อหุ้นก็จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเท่าตัว เพราะผลจากการเพิ่มของยอดขาย และ Leverage effect จากการกู้เงิน พอปีต่อๆไปก็ขยายกำลังการผลิตได้อีก แหม่…อนาคตธุรกิจนี้ช่างสวยหรูจะช้าอยู่ไย รีบซื้อหุ้นเลยดีกว่า
ชีวิตมันง่ายดายขนาดนั้นเชียวหรือ? นักลงทุนท่านนั้นมองข้ามอะไรไปหรือเปล่า
ความจริงแล้วสิ่งที่ผมกล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นกรณีที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ของการขยายกิจการ ทฤษฏีเศรษฐศาสตร์จุลภาคก็ได้เคยระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่ากำไรสุทธิทุกบาทที่เพิ่มขึ้นนั้นมันจะยิ่งยากขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งกำไรปีก่อนเคยเติบโตมากเท่าไรกำไรปีต่อๆไปก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก ทุกคนรู้ดี แต่ทุกก็อาจมองข้ามมันไป
การขยายกำลังการผลิตไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะสามารถผลิตได้เต็มที่ตั้งแต่วันแรกที่การขยายเสร็จสิ้น การผลิตในช่วงแรกจะประสบกับปัญหามากมาย เช่น เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ไม่เข้าที่เข้าทาง คนงานขาดประสบการณ์ การบริหารจัดการยังสับสน กว่าที่การผลิตจะได้เต็มประสิทธิภาพก็ต้องกินเวลาพอสมควร ส่วนมากประมาณ 3-6 เดือนนับจากวันเริ่มเดินเครื่องจักร การขยายกำลังการผลิตจึงจะเสร็จสมบูรณ์
ยอดขายจะไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้เท่าตัว ถ้าสินค้าที่ผลิตออกมาเพิ่มไม่มีผู้ซื้อมัน การขยายกำลังการผลิตไม่ได้หมายความว่าผู้ซื้อสินค้าจะต้องอยากซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นหากบริษัทคู่แข่งก็คิดเหมือนกันขยายกำลังการผลิตเหมือนกัน ก็อาจทำให้สินค้าล้นตลาดได้และทำให้สินค้าที่บริษัทผลิตมาเพิ่มขายไม่หมดได้
ต้นทุนการผลิตก็จะมีแนวโน้มสูงขึ้นในอัตราเร่ง ยิ่งผลิตมากขึ้นความต้องการวัตถุดิบ แรงงานก็จะยิ่งสูงขึ้น คู่แข่งและแรงงานก็จะมีอำนาจต่อรองสูงขึ้น ทำให้กำไรขั้นต้นก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่ายอดขาย ถ้าบริษัทคู่แข่งเองก็คิดเหมือนกันกำไรขั้นต้นก็ยิ่งเพิ่มขึ้นช้าลงไปอีก
พอผลิตสินค้ามากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารก็จะยิ่งสูงขึ้นในอัตราที่มากขึ้น เพราะบริษัทต้องเสนอโปรโมชั่นเพื่อจูงใจผู้ซื้อ เลือกซื้อของที่บริษัทผลิตมามากขึ้น ดารา นักร้อง นักแสดงก็ดูจะเริ่มมีความจำเป็นในการจัดหามาเพื่อช่วยในการขายสินค้า
ครั้นไปดูด้านการจัดหาเงินทุนก็จะยิ่งยากขึ้น ไม่มีสถาบันการเงินไหนหรอกที่อยากจะเพิ่มวงเงินให้กับบริษัทที่มี D/E ratio สูงขึ้นทุกปีๆ หรือถ้ามีดอกเบี้ยก็จะต้องสูงขึ้นเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น บริษัทอาจถูกบังคับให้เพิ่มทุนในที่สุดหาก D/E ratio พุ่งขึ้นสูงจนเจ้าหนี้เริ่มกังวล
สุดท้ายแล้วมันยากเอามากๆที่การขยายกำลังการผลิตเท่าตัวจะทำให้กำไรต่อหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นเท่าตัว นักลงทุนท่านนั้นได้คิดถึงประเด็นต่างๆเหล่านี้หรือไม่?
ความจริงแล้วการวิเคราะห์อนาคตของการขยายธุรกิจต้องวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนทั้งในระดับของบริษัทเอง และระดับอุตสาหกรรม คำถามเหล่านี้ควรจะโผล่ขึ้นมาในความคิดของนักลงทุนในขณะที่วิเคราะห์
– การขยายกำลังการผลิตเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ Test Run นานแค่ไหน ของเสียจากการผลิตจะคิดเป็นสัดส่วนเท่าไรของสินค้าทั้งหมด
– กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะทำให้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมรวมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไร
– ความต้องการของผู้ซื้อโดยรวมเพิ่มขึ้นมากเพียงพอที่จะรองรับการผลิตที่เพิ่มขึ้นโดยรวมของอุตสาหกรรมหรือไม่
– วัถตุดิบและแรงงานมีมากเพียงพอที่จะให้บริษัทจัดหามาด้วยต้นทุนเดิมไหม
– ต้นทุนการจัดทำโปรโมชั่น แคมเปญ โฆษณาต่างๆของทั้งประเทศมีการปรับตัวขึ้นเท่าไร เพราะสื่อต่างๆไม่ได้มีลูกค้าแค่กลุ่มธุรกิจเดียว เขาอาจเลือกจัดสรรให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นก็ได้ถ้าได้เงินดีกว่า
– สถาบันการเงินต่างๆมีความผ่อนคลายนโยบายการให้สินเชื่อมาน้อยแค่ไหน ช่องทางอื่นๆในการระดมทุน เช่น การออกหุ้นกู้ หุ้นเพิ่มทุน วอร์แรนต์ นั้นเอื้อประโยชน์แก่การระดมทุนมากน้อยเพียงใด
– อัตราภาษีมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อบริษัทขยายไปยังธุรกิจใหม่ๆที่ไม่เคยทำมาก่อน
การวิเคราะห์การลงทุนแบบหยาบๆนั้นอาจสามารถทำกำไรให้แก่นักลงทุนได้ในช่วงตลาดขาขึ้นที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองข้ามรายละเอียดปลีกย่อย และไล่ซื้อหุ้นที่กำลังอยู่ในกระแส แต่การจะอยู่รอดในตลาดหุ้นในระยะยาวที่ต้องผ่านวัฎจักรขาขึ้นและลงหลายๆรอบนั้นจำเป็นต้องใช้การวิเคราะห์การลงทุนอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจและการลงทุนได้แม่นยำและรวดเร็วกว่านักลงทุนทั่วๆไป
“ตลาดขึ้นมาเซียนก็ปรากฏ พอตลาดหดเซียนก็หมดไป” เป็นคำกล่าวที่เหน็บแนมและเตือนสตินักลงทุนได้ดียิ่ง เซียนหุ้นที่แท้จริงจะต้องอยู่รอดได้ในหลายวัฎจักร และที่สำคัญเซียนหุ้นจริงๆนี่มีอยู่ไม่มากหรอกครับ เวลาผ่านไป 5ปี 10 ปี เวลาจะให้คำตอบเราเองว่าใครบ้างที่นับได้ว่าเป็นเซียนตัวจริง