January Effect

เมื่อพูดถึงเดือนมกราคม หลายคนอาจจะนึกถึงการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความหวังและเป้าหมายใหม่ ๆ แต่สำหรับนักลงทุน “January Effect” กลายเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเสมอในช่วงต้นปี 

เนื่องจากมีความเชื่อว่าเดือนนี้จะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น แล้วมันเป็นเรื่องจริงหรือแค่ความเชื่อกันแน่? มาทำความเข้าใจทฤษฎีนี้ไปพร้อมกันเลย!

January Effect คืออะไร?

January Effect คือ ทฤษฎีที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นในเดือนมกราคม เนื่องจากนักลงทุนจะขายทำกำไรจากการลงทุนช่วงสิ้นปีก่อนหยุดยาว และช่วงเดือนมกราคมจะกลับเข้ามาลงทุนใหม่อีกครั้งในสินทรัพย์ที่ราคายังไม่แพง 

โดยคำอธิบายที่เป็นไปได้อีกทางหนึ่งคือนักลงทุนซื้อคืนภาษีช่วงต้นปี หรืออาจจะนำเงินโบนัสช่วงสิ้นปีมาลงทุนในช่วงเดือนถัดไป

เบื้องหลังปรากฏการณ์ January Effect

ปรากฏการณ์ January Effect ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะโชคช่วย แต่มาจากพฤติกรรมการลงทุน ดังนี้

  • นักลงทุนขายหุ้นเพื่อทำกำไรในเดือนธันวาคม และกลับเข้ามาซื้อหุ้นในเดือนมกราคม 
  • หลายประเทศมีการจัดเก็บ Capital Gain Tax ทำให้นักลงทุนขายหุ้นที่ขาดทุน เพื่อลดภาษีในส่วนนี้ และค่อยกลับเข้าซื้อในเดือนมกราคม
  • สำหรับคนที่ได้โบนัส เมื่อมีเงินสดมากขึ้นก็อาจจะนําเงินบางส่วนมาซื้อหุ้น 
  • กองทุนรวมและผู้จัดการพอร์ตมักขายหุ้นที่ทำผลงานไม่ดีในพอร์ตเพื่อปรับภาพรวมผลการลงทุน (Window Dressing) ในช่วงปลายปี และกลับเข้าซื้อหุ้นใหม่ในเดือนมกราคม

สำรวจงานวิจัย January Effect

เชื่อกันว่า Sidney Wachtel นักวาณิชธนกิจ (Investment Banker) เป็นผู้ที่ได้สังเกตเห็นปรากฏการณ์ January Effect เป็นครั้งแรกในปี 1942

โดยปรากฏการณ์ January Effect ไม่ได้เป็นเพียงความเชื่อในหมู่นักลงทุนเท่านั้น แต่ยังถูกนำมาศึกษาอย่างจริงจังในเชิงวิชาการ งานวิจัยหลายชิ้นได้พยายามอธิบายถึงสาเหตุและผลกระทบของปรากฏการณ์นี้ โดยเฉพาะกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ เช่น

  • Rozeff & Kinney (1976) พบว่าหุ้นขนาดเล็กในสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนในเดือนมกราคมดีกว่าเดือนอื่น ๆ เนื่องจากนักลงทุนขายหุ้นขาดทุนในเดือนธันวาคมเพื่อลดภาษีและกลับมาซื้อในเดือนมกราคม
  • Haug & Hirshey (2005) พบว่าทฤษฎีนี้ยังคงมีอยู่แม้หลังจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภาษี Tax Reform Act ในปี 1986 ที่ลดข้อได้เปรียบจากการขายหุ้นขาดทุนในเดือนธันวาคม แต่ผลกระทบของ January Effect ก็ยังคงอยู่ โดยเฉพาะในหุ้นขนาดเล็กและดัชนีที่ให้น้ำหนักหุ้นเท่าๆ กัน (Equal Weight Index) แต่ไม่มีผลในดัชนีแบบ Market Cap Weight
  • ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ความมีประสิทธิภาพของตลาด (Market Efficiency) และกลยุทธ์ของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป ทำให้ผลของทฤษฎีนี้ลดลงตามกาลเวลา

January Effect ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ

January Effect หุ้นอเมริกา

Source: Finnomena Funds, Bloomberg, as of 25/10/2024

เรามาสำรวจข้อมูลดัชนี S&P 500 ย้อนหลัง 21 ปี (2004 – 2025) เพื่อทำความเข้าใจว่าผลตอบแทนในเดือนมกราคมสะท้อนถึงปรากฏการณ์ January Effect อย่างไร

จากสถิติย้อนหลัง 21 ปี ดัชนี S&P 500 ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในเดือนมกราคมเพียง 0.06% ซึ่งอาจดูไม่สูง แต่หากพิจารณาในแง่ความถี่ของผลตอบแทนที่เป็นบวก จะพบว่าในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา ตลาดมีผลตอบแทนในเดือนมกราคมเป็นบวกถึง 12 ปี หรือประมาณ 57% ของช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล

จากข้อมูลดังกล่าวสามารถตีความได้ว่า ดัชนี S&P 500 มีแนวโน้มตอบสนองต่อปรากฏการณ์นี้ โดยเฉพาะในปีที่ไม่มีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจหรือการเมืองที่โดดเด่น เช่น ปี 2019 และ 2023 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดได้รับแรงสนับสนุนจากแรงซื้อหลังสิ้นปีอย่างชัดเจน

January Effect กับตลาดหุ้นไทย

January Effect หุ้นไทย

Source: Finnomena Funds, Bloomberg, as of 25/10/2024

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย จากสถิติย้อนหลัง 21 ปี พบว่า SET Index ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในเดือนมกราคมเป็นลบที่ –0.18% ซึ่งขัดแย้งกับทฤษฎีที่ว่าตลาดหุ้นควรจะปรับตัวขึ้นในเดือนมกราคม และหากพิจารณาในแง่ความถี่ของผลตอบแทนที่เป็นบวก จะพบว่าในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยมีผลตอบแทนในเดือนมกราคมเป็นบวก 11 ปี หรือประมาณ 52% ของช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล

ความแตกต่างของ January Effect ในตลาดไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ อาจเป็นผลมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายประการ โดยเฉพาะระบบภาษีที่แตกต่างกัน ทำให้แรงจูงใจในการขายทำกำไรช่วงสิ้นปีของนักลงทุนไทยน้อยกว่า

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยมักได้รับอิทธิพลจากปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยภายนอก มากกว่าปัจจัยตามฤดูกาล (Seasonal Effect)

สรุป January Effect ความจริงหรือความเชื่อ?

จากข้อมูลและงานวิจัยพบว่า

  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มตอบสนองต่อปรากฏการณ์ January Effect โดยเฉพาะกับหุ้นขนาดเล็ก และในช่วงที่ตลาดไม่มีปัจจัยลบเด่นชัด
  • แต่สำหรับตลาดหุ้นไทย ผลตอบแทนเฉลี่ยในเดือนมกราคมไม่ได้สะท้อนถึง January Effect อย่างชัดเจน อันเป็นผลมาจากความแตกต่างด้านโครงสร้างตลาดและปัจจัยพื้นฐาน

แม้ว่า January Effect จะเป็นปรากฏการณ์ที่ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้น แต่ผลลัพธ์ในแต่ละปีอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายในและภายนอก การพิจารณาปัจจัยพื้นฐานอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญเสมอ ไม่ว่าเราจะเชื่อในปรากฏการณ์นี้หรือไม่


อ้างอิง: Finnomena Live, WEALTH CONNEX BY BUALUANG SECURITIES, Investopedia