กองทุนประหยัดภาษีฝั่งเอเชีย ปี 2567 ที่โดนใจ

ใกล้จะถีงสิ้นปีมาทุกขณะ น่าจะถึงเวลาของการซื้อกองทุนรวมลดหย่อนภาษีกันแล้ว ซึ่งในปีนี้ มี 3 ทางเลือกให้เลือกสรรตามอัธยาศัย เริ่มจากผู้ที่อยากถือกองทุนลดหย่อนภาษีให้ระยะเวลาถือครองสั้นที่สุด น่าจะเล็งไปที่กองทุน Thai ESG ซึ่งประกอบด้วยหุ้นไทย กับ ตราสารหนี้ไทย แล้วแต่จะเลือกสรร เนื่องจากหากถือครบ 5 ปี ก็สามารถขายออกมาได้แบบสามารถรับสิทธิลดหย่อนทางภาษีได้เต็ม ๆ

ในขณะที่หากท่านที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี กองทุน SSF น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากหากถือไว้ครบ 10 ปี แล้วค่อยขายนั้น อายุท่าน ณ ตอนนั้น ก็ยังไม่ถึง 55 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุเกิน 45 ปี กองทุน RMF น่าจะเข้าทางกว่า เนื่องจากถือไว้จนอายุครบ 55 ปีแล้วจึงขายได้ ซึ่งก็ยังถือไว้น้อยกว่า 10 ปี ทำให้สามารถถือครองด้วยระยะเวลาสั้นกว่าที่ SSF บังคับให้ถือเพื่อลดหย่อนภาษี

คราวนี้ มาถึงคำถามสำคัญคือแล้วจะซื้อกองไหนดีสำหรับทั้ง 3 ประเภท มาดูกันครับ

เริ่มจาก กองทุน Thai ESG ผมขออนุญาตใช้ข้อมูลผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 12 พ.ย. 2567 จากข้อมูลของทาง SET ปรากฎว่ากองที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ONE-THAIESG, K-TNZ-THAIESG, B-TOP-THAIESG, KKP GB THAI ESG และ ASP-THAIESG ซึ่งมีทั้งกองหุ้นไทยและตราสารหนี้ไทย โดยผมมองว่าทั้ง 5 กองถือว่าน่าสนใจ เนื่องจากผ่านการทดสอบมาเกือบ 11 เดือน แล้วปรากฎว่า ให้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควร

มาถึงกองทุน RMF และ SSF กันบ้าง ผมขอโฟกัสไปที่กองต่างประเทศ เนื่องจากเงื่อนไขระยะเวลาการถือครองของกองทุน Thai ESG ถือว่าดีกว่า RMF และ SSF สำหรับผู้ลงทุน ดังนั้นหากใครจะซื้อ RMF หรือ SSF หุ้นหรือบอนด์ไทย ผมมองว่าไปซื้อกองทุน Thai ESG น่าจะดีกว่า

ในปีนี้ สำหรับกองทุน RMF และ SSF ผมมองไว้ 3 ตลาดที่น่าสนใจ ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น และอินเดีย เริ่มจากสหรัฐ แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐในตอนนี้ถือว่าขึ้นมาสูงกว่า 10% หลังจากตอนที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งใหญ่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทว่าการเลือกสก็อต เบสเสนต์ เข้ามานั่งในเก้าอี้รัฐมนตรีคลัง แสดงถึงจุดยืนของการทำสงครามการค้ากับจีนของทรัมป์ที่น่าจะยืดหยุ่นกว่าที่คาด รวมถึงการมีข้อจำกัดของอิลอน มัสก์ที่จะเข้ามาล้วงลูกในตำแหน่งสำคัญๆของคณะรัฐมนตรี เนื่องจากมัสก์แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการที่เบสเสนต์จะเข้ามาคั่วตำแหน่งขุนคลัง นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะยังสามารถไปได้ดีในช่วงถัดไป จากธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดที่สามารถจัดการปัญหาอัตราเงินเฟ้อได้ค่อนข้างดีในช่วงที่ผ่านมา

ด้านญี่ปุ่น ผมมองว่าภารกิจของผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ BOJ คาซึโอะ อูเอดะ ในการนำพาเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้กลับไปสู่เศรษฐกิจที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นบวกแบบยั่งยืนเหมือนเศรษฐกิจของประเทศชั้นนำอื่นๆทั่วโลก น่าจะใกล้เป็นความจริงแล้ว โดยที่แม้ในระยะสั้น BOJ น่าจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกราว 3 ครั้ง ซึ่งยังคงจะสร้างความผันผวนให้กับตลาดในระยะสั้น ทว่าผมมองว่าน่าจะผ่านไปได้ในที่สุด

ท้ายสุด อินเดีย ถือว่าได้เปรียบประเทศอื่นๆในส่วนของการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเข้มแข็งของทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก รวมถึงน่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบไม่มากนักจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน อีกทั้งถือเป็นประเทศใหญ่ที่ทั้ง 2 ฝั่ง น่าจะให้ความสำคัญในฐานะที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการทหารของทั้งคู่

บทความนี้ จะขอพามาทำความรู้จักกองทุนฝั่งเอเชียกันก่อน

เริ่มจากตลาดญี่ปุ่น ผมมองกอง RMF ที่อ้างอิงกองต้นทาง (Feeder Fund) ที่ชื่อ NEXT FUNDS Nikkei 225 Exchange Traded ซึ่งมีอยู่หลายกองทุนในบ้านเรา โดยขอเลือก SCBRMJP และ TJPRMF-A

ขอแถมกองทุนรวมตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ไม่ใช่กองทุนลดภาษีเพิ่มเติม เผื่อว่าอยากลงทุนในกองทุนรวม ผมแนะนำกองทุนใน 2 กลุ่ม ได้แก่ กองทุนรวมหุ้นญี่ปุ่นแบบเน้นหุ้นตัวใหญ่ที่บริหารให้อัตราผลตอบแทนชนะตลาด หรือ Big Cap Active Fund โดยหากใจเย็นถือยาวหน่อย ขอแนะนำ ASP-JHC ซึ่งมี Nomura High Conviction Fund เป็นกอง Feeder Fund โดยกองดังกล่าวเป็นกองแนวที่เน้นหุ้นแบบ Value ที่ทำผลตอบแทนได้ดีเมื่อนโยบายการคลังเป็นแบบขยายตัว และ กองทุนกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็ก แนะนำกองทุน UOB United Japan Small And Mid Cap Fund หรือ UOBSJSM

ตามด้วยตลาดอินเดีย สำหรับกองทุนรวมประหยัดภาษีของตลาดหุ้นอินเดีย ในส่วน RMF ผมชอบอยู่ 2 กอง ได้แก่ KINDIARMF ซึ่งมีกองทุน Goldman Sachs India Equity Portfolio เป็น Feeder Fund โดยจุดเด่นของกองนี้ คือ การกระจายหุ้นในสัดส่วนของเซกเตอร์ต่างๆได้สมดุล รวมถึงถือหุ้นที่ถือว่าให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดในช่วงที่ผ่านมา และ B-INDIAMRMF ซึ่งมีกองทุน Kotak Funds – India Midcap Fund เป็น Feeder Fund โดยจุดเด่นของกองนี้ คือมีการเลือกหุ้นขนาดกลางที่น่าสนใจเข้ามาผสมด้วย แม้น้ำหนักส่วนใหญ่ยังเป็นหุ้นใหญ่อยู่ก็ตาม รวมถึงทีมบริหารกองทุนมีประสบการณ์ที่ยาวนาน ขอแถมกองทุนรวมที่ไม่ใช่ประหยัดภาษีให้อีกหนึ่งกอง ได้แก่ B-BHARATA ซึ่งมีองทุน RAMS Equities Portfolio Fund India เป็น Feeder Fund จุดเด่นของกองนี้คือความเสี่ยงค่อนข้างต่ำกว่าเพื่อน

คราวนี้ หันมาพิจารณากองทุน SSF กันบ้าง

ตลาดญี่ปุ่น ผมขอเลือก SCBJAPAN(SSF) ที่อ้างอิงกองต้นทาง (Feeder Fund) จากค่าย Goldman Sachs ที่บริหารกองทุนได้น่าสนใจ

ตลาดอินเดีย ผมขอเลือก KT-INDIA-SSF ที่อ้างอิงกองต้นทางจากค่าย Invesco ซึ่งผู้จัดการกองทุนถือว่ามีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี

โดยทั้งหมด ผมได้ทำการศึกษาและเลือกสรรจากบรรดากองทุนรวมประหยัดภาษีในภูมิภาคดังกล่าวเกือบทุกตัวที่มีอยู่ในตลาด ณ ปัจจุบัน

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ, CFP

[MacroView]