เงินซื้อความสุข (ไม่) ได้

สังคมไทยในปัจจุบันนั้นคนค่อนข้างจะเน้นเรื่องการมีเงินสูงมาก คนคิดว่าถ้ามีเงิน เขาคงมีความสุขมาก ยิ่งมีเงินมากเท่าใด ความสุขก็คงมีมากขึ้นเท่านั้น เขาคิดว่าเงินซื้อความสุขได้ แต่นี่เป็นเรื่องจริงหรือไม่? ผมจะตอบในฐานะของคนที่เคยแทบจะไม่มีเงินเลยเป็นเวลาหลายสิบปีตั้งแต่เกิด และต่อมาก็มีเงินมากพอที่จะใช้ซื้อความสุขได้แทบทุกอย่างที่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน

แต่ก่อนที่จะพูดถึงว่าเงินสามารถซื้อความสุขได้หรือไม่นั้น เราจำเป็นต้องนิยามเสียก่อนว่าอะไรคือความสุข? เพราะความสุขนั้น ไม่มีตัวตน มันคือความรู้สึกของคนแต่ละคน ผมยังจำได้ว่าท่านพุทธทาสภิกขุ พระนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงมากสมัยที่ผมบวชเมื่อประมาณ 50 มาแล้ว

เคยบอกว่า ความสุขก็คือ อารมณ์ความรู้สึกที่เราอยากให้เป็นอยู่อย่างนั้น ส่วนความทุกข์ก็คือสิ่งที่เราอยากจะหนีไปให้พ้น ซึ่งผมก็รู้สึกว่าเป็นคำนิยามที่ง่ายดี ตรงไปตรงมา ไม่ต้องถกเถียงว่าเป็นความสุขหรือความทุกข์แบบไหนหรือของใคร

ถึงยุคสมัยนี้ที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สูงมาก เราก็รู้ว่าความสุขนั้นมีหลายแบบ แต่ละแบบจะมีความรู้สึกหรืออารมณ์ที่แตกต่างกัน และสามารถ “วัดได้” ด้วยปริมาณของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในร่างกายเวลาที่เรา “มีความสุข”

ความสุขแบบแรกก็คือความสุขแบบ Serotonin ซึ่งเป็น “ความสุขทางร่างกาย” เป็นหลัก ตัวอย่างความสุขแบบนี้ก็อาจจะเป็นเรื่องของการมีความสุขเมื่อได้กินอาหารอร่อย นอนหลับพอเพียง การมีอารมณ์ที่ดีเมื่ออยู่ในบรรยากาศที่ดี การที่ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย การปราศจากความเครียดและความกังวล เหล่านี้เราก็จะ “มีความสุข” ซึ่งร่างกายก็จะผลิตฮอร์โมนเซโรโทนินและทำให้เรารู้สึก “สบายและมีความสุข”

ประเด็นก็คือ การที่จะมีความสุขแบบเซโรโทนินนั้น เราสามารถจะใช้เงินซื้อหรือไม่ คำตอบก็คือ ถ้าจนมากจนไม่สามารถที่จะซื้ออาหารที่มีคุณภาพดี หรือเวลาเจ็บป่วยไม่สามารถใช้บริการการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพเพียงพอ ความสุขก็คงจะหายไปมาก และความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นก็คงทำลายความสุขส่วนนี้ไปมาก อย่างไรก็ตาม ในสังคมปัจจุบัน คนส่วนใหญ่น่าจะมีเงินเพียงพอที่จะ “ดูแลความสุขทางร่ายกาย” ได้ ไม่จำเป็นต้องมีเงินมาก

ตรงกันข้าม คนที่มีเงินมากเกินและพยายามที่จะหาหรือซื้อความสุข เช่น การกินอาหารราคาแพง กินอาหารที่อร่อยแต่ไม่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษต่อร่างกาย การใช้เงินซื้อความสะดวกและไม่ออกกำลัง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อาจจะไม่ได้ช่วยเพิ่มความสุขกับตนเองเลย

ดังนั้น ในกรณีของความสุขแบบเซโรโทนิน เงินซื้อความสุขได้ถึงระดับหนึ่งเท่านั้น เงินที่มากกว่านั้นแทบจะซื้อความสุขเพิ่มไม่ได้ วิธีที่จะมีความสุขจริง ๆ น่าจะอยู่ที่การดูแลรักษาสุขภาพให้ดีตลอดเวลา เช่น การกินอาหารที่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด พักผ่อนให้เพียงพอ และที่สำคัญ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ความสุขแบบที่สองนั้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกับความสุขแบบเซโรโทนิน และเรียกว่าเป็นความรู้สึกแบบ Oxytocin จะเป็นความสุขที่เกิดจาก “ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น” เช่น ความสัมพันธ์กับคนรักและครอบครัว ความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงหรือเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ดี ร่างกายก็ผลิตฮอร์โมนออกซิโทซินมากขึ้นซึ่งก็จะทำให้เรามีความสุข บางคนเรียกฮอร์โมนนี้ว่าเป็น “ฮอร์โมนแห่งความรัก”

ตรงกันข้าม หากความสัมพันธ์ไม่ดี เช่น มีปัญหากับคนรักหรือมีปัญหาครอบครัว หรือเป็นคนที่ไม่มีเพื่อนหรืออาจจะมีเพื่อนร่วมงานที่ไม่ชอบกัน แบบนี้เราก็จะไม่มีความสุข อยากจะหนีไปให้พ้นถ้าทำได้ ฮอร์โมนออกซิโทซินก็จะถูกผลิตน้อย อารมณ์เราไม่ดีแน่นอน

เงินนั้น ผมคิดว่าน่าจะต้องพอมีระดับหนึ่งที่จะทำให้ความสัมพันธ์ราบรื่นโดยเฉพาะกับครอบครัวหรือคนรัก เช่นเดียวกับเพื่อนฝูงก็คงต้องมีการใช้เงินเพื่อเข้าสังคมด้วย

อย่างไรก็ตาม เงินที่มากเหลือล้นนั้นก็มักจะไม่สามารถทำให้ความสัมพันธ์นั้นดีสุดยอดได้ พูดง่าย ๆ เงินไม่สามารถซื้อเพื่อนแท้ที่จริงใจได้ เช่นเดียวกับครอบครัวหรือคนรักที่มักจะ “ต้องการเวลา” มากกว่า

และนั่นก็คงเป็นเหตุผลว่ามหาเศรษฐีจำนวนไม่น้อย ไม่มีความสุขแบบ Oxytocin เพราะเกิดความแตกแยกของครอบครัว หรือไม่มี “เพื่อนแท้” ที่ไว้วางใจและปรึกษาปัญหาได้ อาจจะเพราะไม่มีเวลาและอาจจะคิดว่าเงินที่เขาใช้จ่ายให้นั้นสามารถ “ซื้อความสัมพันธ์” จากคนรอบตัวได้

ความสุขแบบสุดท้ายก็คือ ความสุขแบบ Dopamine หรือความสุขที่เกิดขึ้นเนื่องจากการประสบความสำเร็จหรือ Achievement ในเรื่องต่าง ๆ ของชีวิต เช่น เป็นนักการเมืองหรือข้าราชการที่ได้รับตำแหน่งสูง เป็นนักกีฬาที่ชนะการแข่งขัน เป็นนักร้องหรือดาราดัง เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียง เป็นคนที่ได้รับการยอมรับในสังคมในเรื่องต่าง ๆ และที่สำคัญมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การเป็น “คนรวย”

ความสุขแบบโดปามีนนั้นจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่เรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จจากการทำอะไรบางอย่างและเป็นที่รับรู้และยอมรับจากคนอื่น ซึ่งร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนโดปามีนออกมาทำให้เรารู้สึกว่ามีความสุข และโดปามีนนั้นน่าจะให้ความสุขที่แตกต่างและรุนแรงกว่าฮอร์โมนความสุขอีก 2 ตัว คนที่ได้ฮอร์โมนโดปามีนจะมีความรู้สึกว่าอยากจะ “เอาอีก เอาอีก เอาอีก” และนั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่ประสบความสำเร็จแล้วก็อยากจะสำเร็จเพิ่มขึ้นไปอีก และคนที่รวยแล้วก็ยังอยากจะรวยเพิ่มขึ้นไปไม่พอเสียที

คำถามก็คือ เงินซื้อความสุขแบบโดปามีนได้ไหม? ผมคิดว่านี่คือความสุขที่คนใช้เงินซื้อมากที่สุด และสิ่งที่ทำก็คือ การซื้อสิ่งของหรือบริการที่หรูหราฟุ่มเฟือย เช่น การมีบ้านหรู การซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับแบรนด์เนม การเดินทางด้วยที่นั่งชั้นหนึ่ง การชมมโหรสพระดับสุดยอดการกินอาหารในภัตตาคารหรู ทั้งหมดนั้นเป็นการแสดงฐานะว่าเป็นคนที่ “รวย” และคนที่รวยนั้น ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ ยิ่งรวยมากก็ยิ่งประสบความสำเร็จสูงมาก

แต่ความสำเร็จที่เกิดจากการ “ซื้อ” นั้น ผมคิดว่าไม่เท่ากับความสำเร็จที่เกิดจากการทำด้วยตนเอง และคนที่ประสบความสำเร็จจริง ๆ ในเรื่องหรือกิจกรรมต่าง ๆ นั้น จะมีความรู้สึกถึงความภูมิใจและมีความสุขที่ลึกซึ้งและอยู่นานกว่าคนที่ใช้เงิน “ซื้อ” ความสำเร็จเพื่อให้คนยอมรับ

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยพูดถึงเรื่องนี้หลายครั้งคือเรื่องของ “Inner Score Card” กับ “Outer Score Card” ซึ่งก็คือการวัดความสามารถหรือความสำเร็จ “ภายในใจ” หรือ “การแสดงให้คนอื่น” เห็น หรือ “ให้คนอื่นคิดว่าคุณเป็น” แต่มันไม่จริง คุณคิดว่าคุณอยากเป็นแบบไหน สำหรับเขาแล้ว เขาบอกว่าเขาชอบอย่างแรก และยกตัวอย่างว่า คุณอยากเป็น “นักรัก” โดยแท้จริง หรือคุณอยากจะให้คนอื่น “เข้าใจว่าคุณเป็นนักรัก” แต่แท้ที่จริงแล้วคุณ “บ่มิไก้” เวลามีรักกับสาว?

และนั่นก็กลับมายังเรื่องของเงินและการลงทุน คุณอยากจะเป็นนักลงทุนที่ทำผลตอบแทนได้ดีเยี่ยมปีแล้วปีเล่า พอร์ตเติบโตขึ้นตลอดจนคุณมีอิสรภาพทางการเงินและเปลี่ยนชีวิตคุณไปอย่างสิ้นเชิง แต่คนก็อาจจะไม่รู้ หรือคุณอยากจะโชว์พอร์ตว่ามีขนาดใหญ่กว่าความเป็นจริงให้คนเห็นเพื่อที่จะแสดงว่าคุณประสบความสำเร็จจากการลงทุนสูง เป็นเศรษฐีและเป็น “เซียน” ทั้ง ๆ ที่ผลตอบแทนการลงทุนก็งั้น ๆ แต่เพราะคุณมีเงินเริ่มต้นลงทุนสูงมากอยู่แล้ว?

บัฟเฟตต์บอกว่าเขาสนใจแต่ “Inner Score Card” วัดผลงานความสำเร็จกับตนเองที่ตั้งเป้าหมายไว้ ความสุขของเขาอยู่ที่นั่น และถ้าประสบความสำเร็จสูงมากและต่อเนื่องยาวนาน ในที่สุดคนก็จะเห็นเอง อย่างไรก็ตาม ในสังคมยุคใหม่ที่คนต่างก็เฝ้ามองคนอื่นทุกคนตลอดเวลาผ่านสื่อสังคม การที่จะพอใจกับเฉพาะ Inner Score Card อย่างเดียวคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

ดังนั้น การใช้เงินเพื่อสร้างความสุขแบบโดปามีนโดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่จึงเป็นเรื่องปกติมาก และผมก็คิดว่าถ้าอยากทำก็ทำไป แต่สำหรับผมเองนั้น ผมยังเชื่อแนวของบัฟเฟตต์และก็คิดว่าส่วนตัวก็มี “Achievement” เพียงพอที่สร้างความสุขแบบโดปามีนมาตลอดแบบช้า ๆ แต่ต่อเนื่องมายาวนานโดยที่ไม่ต้องใช้เงิน

สรุปใจความสำคัญของบทความนี้ก็คือ ผมคิดว่าคนที่จะมีความสุขได้เพียงพอในชีวิตนั้น จำเป็นต้องมีเงินและใช้เงินในระดับหนึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละคน คนที่เกิดมาในระดับคนชั้นที่มีรายได้น้อยอาจจะต้องการเงินแค่เดือนละ 3-40,000 บาท ก็สามารถหาความสุขได้แล้วถึง 80-90% ในความสุขทั้ง 3 แบบนั้น

เงินที่มากขึ้นกว่าขั้นต่ำที่ต้องการไม่สามารถซื้อความสุขได้มากมายอะไรนักโดยเฉพาะความสุขแบบที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำเพิ่มขึ้นได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องใช้เงินมากนัก ส่วนความสุขแบบโดปามีน นั้น สามารถใช้เงินซื้อได้ แต่ถึงจุดหนึ่งก็จะ “มีลิมิต” และความสุขที่ได้รับเพิ่มก็จะไม่สูงขึ้นไปมากเท่ากับการทำด้วยตนเองหรือการรับรู้ด้วยตนเองผ่าน “Inner Score Card” ของตนเองที่บอกว่า เราสำเร็จแล้ว เราพอใจ และ เรามีความสุข

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

TSF2024