อัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งสร้างความกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 0.83% ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.9% ตามข้อมูลที่เผยแพร่โดยกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ทั้งนี้ดัชนีดังกล่าวยังคงต่ำกว่าขอบล่างของเป้าหมายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยวางไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2024 ซึ่งอยู่ระหว่าง 1% ถึง 3% ขณะที่รัฐบาลมีเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2%
โดยกระทรวงพาณิชย์ยังระบุอีกว่า ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) อยู่ที่ 0.8% คงที่จากเดือนกันยายน ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลง 0.06% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม
อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย | Source: Commerce Ministry, Bank of Thailand as of 6/11/24
ภาวะเงินเฟ้อที่ต่ำทำให้เกิดความกดดันต่อธนาคารแห่งประเทศไทยให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม ซึ่งเพิ่งจะลดไป 0.25% เมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่รัฐบาลพยายามหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการโต้แย้งกันในเรื่องนโยบายการเงินและเป้าหมายเงินเฟ้อ แม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวบางอย่างเพื่อประนีประนอมกัน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลได้ยอมรับคำขอของธนาคารแห่งประเทศไทยในการคงเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 1 – 3% เป็นเวลาอีกหนึ่งปี โดยมีเงื่อนไขว่าแบงก์ชาติจะต้องดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้อัตราเงินเฟ้อกลับไปอยู่ที่ประมาณ 2% กลาง ๆ
ขณะที่เงินเฟ้อไทยในปีนี้ยังต่ำกว่าเป้าหมายของ ธปท. โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.26% แม้ว่า ธปท. จะคาดว่าภายในปลายปีนี้อัตราเงินเฟ้อจะกลับไปอยู่ที่ขอบล่างของกรอบเป้าหมาย
ด้านคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อต่ำในปัจจุบันไม่ได้แสดงถึงสัญญาณของภาวะเงินฝืด เนื่องจากไม่ได้มีการลดลงของราคาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง จึงคาดว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นและเฉลี่ยที่ 1.2% ในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นตึงเครียดระหว่าง ธปท. และกระทรวงการคลัง โดยล่าสุดมีการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ แต่คณะกรรมการสรรหาได้ตัดสินใจเลื่อนการประชุมออกไป โดยให้เหตุผลว่าต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบและครบถ้วน เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่น่าเป็นห่วงก็คือเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเติบโตเฉลี่ยน้อยกว่า 2% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถูกกดดันจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนและภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีน
อ้างอิง: Bloomberg