มุมมองตลาดปัจจุบัน
ตลาดการลงทุนทั่วโลกในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีความผันผวนสูง โดยในช่วงต้นเดือนตลาดการลงทุนได้แรงหนุนต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า จากการที่เฟดประกาศลดดอกเบี้ย และส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง รวมถึงได้แรงหนุนจากการที่จีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในรอบหลายปี ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนเป็นไปในเชิงบวก อย่างไรก็ดี ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความตึงเครียดมากขึ้น จากการที่อิสราเอลโจมตีเลบานอนอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะโจมตีอิหร่าน ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าปัญหาอาจลุกลามจนกลายเป็นสงครามในภูมิภาค นอกจากนี้ นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะเพียงพอที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจจีนในปีนี้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ 5% อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดหลายท่านให้ความเห็นสนับสนุนการทยอยปรับลดดอกเบี้ย ส่งผลให้นักลงทุนปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และเป็นช่วงที่บริษัทต่างๆเริ่มรายงานผลประกอบการไตรมาส 3/67 ความผันผวนในตลาดการลงทุนจึงเพิ่มขึ้นจากหลากหลายปัจจัยดังกล่าว
สำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมายังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า นำโดยกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ จากการที่กองทุนวายุภักษ์เริ่มทยอยลงทุน ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องหลังจากดัชนีปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนหน้านี้ ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าจากผลของการที่ตลาดลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด
ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงต้นเดือน แต่กลับปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายเดือนตามการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนประเมินว่าเฟดอาจไม่ลดดอกเบี้ยแรงเท่ากับที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้
วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงของเฟดและประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลก น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เนื่องจากในระยะยาวหุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังคงมีแนวโน้มเติบโตดี และจะได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี ตลาดอาจมีความกังวลเกี่ยวกับราคาหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวขึ้นมามาก ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับโลกตะวันตก และปัญหาความวุ่นวายในตะวันออกกลางที่มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะขยายตัวเป็นวงกว้าง จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนในบางช่วง ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นจากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นของตลาดหุ้นไทยอาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากได้ตอบรับปัจจัยบวกไปมากแล้ว ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ยังคงมีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่อง
พอร์ตการลงทุน
ที่มา: เอกสารอัปเดตมุมมอง Krungsri The Masterpiece วันที่: 30 กันยายน 2024
ที่มา: เอกสารอัปเดตมุมมอง Krungsri The Masterpiece วันที่: 28 ตุลาคม 2024
กองทุนแนะนำสำหรับการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์/ภูมิภาค
กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ
- กองทุนกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาวยังคงได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่มต่อเนื่องตามการปรับตัวลดลงของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา จากความคาดหวังของตลาดที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้มากถึง 4 ครั้งในปีนี้ สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ทาง กนง. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 25 ในการประชุมเดือนตุลาคม ทว่ายังคงจุดยืนของนโยบายการเงินที่เป็นกลางอยู่ ดังนั้น สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่องจากระดับปัจจุบันอาจมีอยู่จำกัด ทั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนยังคงปรับพอร์ตอย่างสม่ำเสมอโดยอาศัยโอกาสจากความผันผวนของตลาด โดยกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนในระดับสูงจะยังคงสามารถช่วยลดความผันผวนของตลาดลงได้ โดยคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนกลุ่มนี้มีความน่าสนใจสำหรับเงินลงทุนระยะยาวที่ไม่ต้องการสภาพคล่องในระยะสั้น เช่น กองทุน KFAFIX (ขั้นต่ำ 1 ปีขึ้นไป) โดยปัจจุบันกรอบ Duration เฉลี่ยของกองทุน KFAFIX = 2.1 – 2.7 ปี
กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ
- กองทุนหลักมีมุมมองว่าความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่อาจทรงตัวอยู่ในระดับสูง ประกอบกับความเสี่ยงเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง หรือ no landing อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ไม่มากอย่างที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นไปสูงได้ในระยะสั้น ดังนั้น กองทุนหลักจึงเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุไม่มาก และพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ เนื่องด้วยมีมุมมองว่ามีความน่าสนใจที่สุดในช่วงนี้
กองทุนตราสารทุนในประเทศ
- กองทุนที่เน้นการเฟ้นหาหุ้นที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละภาวะตลาด (KFDNM-D หรือ KFDYNAMIC) มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดีในระยะกลางถึงยาวตามผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่กองทุนคัดเลือกลงทุน
กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ Developed Market Equity
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นแต่ยังคงมีความผันผวน โดยต้องจับตามองตัวเลขในตลาดแรงงาน ซึ่งหากออกมาดีจะเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งผลบวกให้กับตลาดได้ นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัดไป อย่างไรก็ดี ตลาดต้องระมัดระวังความเสี่ยงทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง รวมไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้
- การเติบโตของเทคโนโลยี AI รวมทั้งความต้องการ AI จะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตที่สำคัญของผลประกอบการของหุ้นในพอร์ตการลงทุน นอกจากนี้ การเข้าสู่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลงทั่วโลกยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีมีต้นทุนทางด้านการเงินที่ลดลงในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังที่มากเกินไปของนักลงทุน รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย และตัวเลขเศรษฐกิจที่อาจไม่เป็นไปตามคาด อาจส่งผลเชิงลบต่อราคาหุ้นได้
กองทุนที่ลงทุนทั่วโลก
- กองทุนมีการลงทุนในหุ้นทั่วโลกผ่าน ETF ที่อ้างอิงดัชนี MSCI All Country World ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการเติบโตที่แข็งแกร่งของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยในระยะถัดไปการเติบโตของผลประกอบการ รวมทั้งแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลก จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญของผลประกอบการของหุ้นในพอร์ตการลงทุน อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังที่มากเกินไปของนักลงทุน และความกังวลเกี่ยวกับโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมไปถึงตัวเลขเศรษฐกิจที่อาจไม่เป็นไปตามคาดการณ์ อาจส่งผลเชิงลบต่อราคาหุ้นได้
กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศตลาดกำลังพัฒนา
- ตลาดหุ้นอินเดียยังคงแข็งแกร่ง ทว่าอาจเผชิญกับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง อีกทั้งระดับราคา (valuation) ของตลาดหุ้นอินเดียค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเอเชียอื่น ๆ
ที่มา: เอกสารอัปเดตมุมมอง Krungsri The Masterpiece วันที่: 28 ตุลาคม 2024
คำเตือน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน อาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน อาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ผู้ลงทุนจึงอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้รับชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูลแต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด โทร 0 2657 5757 | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299