หนี้ครัวเรือนไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศกำลังพัฒนา 2 เท่า

ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ โดยตัวเลขหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันพุ่งสูงถึง 16 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

หนี้ครัวเรือนไทยแตะ 90% ของ GDP

หนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก, ประเทศพัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่ | Source: Finnomena Funds, BIS as of 21/10/24 

ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (BIS) ระบุว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 90% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศตลาดเกิดใหม่เกือบ 2 เท่า อีกทั้งยังเกินระดับ 80% ซึ่งเป็นระดับที่ BIS ระบุว่า “น่ากังวล” 

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลก ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg ว่า 

“ระดับหนี้สินครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล และอาจมีผลต่อการใช้จ่ายของภาคธุรกิจและการเติบโตของเศรษฐกิจ ภายใต้บริบทที่ประชาชนและภาคเอกชนยังคงเผชิญผลกระทบมาจากการระบาดของโควิด-19”

ทั้งนี้ จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่าหนี้ต่อครัวเรือนในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 8.4% ไปอยู่ที่ 606,378 บาทต่อครัวเรือน และหากนับรวมหนี้นอกระบบอาจทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนทั้งหมดสูงกว่ามูลค่าของ GDP

นอกจากนี้ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ยังได้กล่าวกับ Bloomberg ว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็น “ปัญหาที่ร้ายแรงมาก” โดยเปรียบว่าเหมือนโรคเบาหวานที่จะส่งผลต่อสุขภาพอย่างเรื้อรังเป็นเวลายาวนาน


อ้างอิง: Bloomberg

TSF2024