ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างจับตามอง 2 เหตุการณ์สำคัญ นั่นคือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย ในวันพุธที่ 16 ตุลาคม 2024 และการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 3 ของจีน ในวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2024
ประชุม กนง. ชี้ชะตาค่าเงินบาท
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาทิศทางนโยบายการเงิน ท่ามกลางความผันผวนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา
ค่าเงินบาทไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ | Investing.com, Finnomena Funds, as of 15/10/24
นับตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกันยายน 2024 ค่าเงินบาทไทยได้แข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ สร้างความกังวลให้กับผู้ส่งออกไทยที่รายได้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศ
ในการประชุม กนง. ครั้งนี้ ตลาดและภาคธุรกิจต่างจับตามองว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของ กนง. จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายด้าน ไม่เพียงแต่อัตราแลกเปลี่ยนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
จับตาเศรษฐกิจแดนมังกร
ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอย่างจีน กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญในการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 ที่ผ่านมา ตัวเลข GDP ของจีนขยายตัวเพียง 4.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 5.1%
GDP ของจีนในปี 2024 | Source: Bloomberg, Finnomena Funds, as of 14/10/24
สำหรับไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 นี้ ตลาดคาดว่าตัวเลข GDP ของจีนจะออกมาที่ระดับ 4.6% YoY ซึ่งหากเป็นไปตามคาด จะเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซา และการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด
นอกจากนี้ ยังคาดว่า GDP ทั้งปี 2024 ของจีนอาจจะขยายตัวเพียง 4.8% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ที่ 5%
ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจีนมีโอกาสออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก เพื่อพยายามบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตั้งไว้ หลังจากวันเสาร์ที่ผ่านมา (12 ตุลาคม 2024) กระทรวงการคลังจีนประกาศ 4 มาตรการการคลังที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งมีใจความสำคัญดังนี้
- เสริมสภาพคล่องธนาคารรัฐ โดยการออกพันธบัตรพิเศษเพื่อเติมเงินทุนให้ธนาคารรัฐ
- ลดภาระหนี้ท้องถิ่น ด้วยการอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นกู้เงินดอกเบี้ยต่ำเพื่อชำระหนี้เดิม
- กระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ โดยให้รัฐบาลท้องถิ่นซื้ออสังหาฯ ที่ขายไม่ออก
- สนับสนุนการศึกษา โดยเพิ่มจำนวนและขนาดของทุนการศึกษา รวมถึงวงเงินกู้ยืมสำหรับนักศึกษา
อ้างอิง: Finnomena Funds, Reuters