คอนโดฯ ทะลัก กำลังซื้อหาย! อสังหาฯ ไทยวิกฤตหนักสุดในรอบ 10 ปี

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี โดยคาดการณ์ว่าในปี 2024 นี้จะติดลบถึง 20% สาเหตุหลักมาจากหลายปัจจัย ทั้งปัญหาการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่สูง ปัญหาน้ำท่วม และการแข็งค่าของเงินบาท

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างหนักต่อยอดขายและยอดโอนของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ฟื้นตัว แม้ว่าในไตรมาสที่ 4 จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นมาบ้าง เนื่องจากมีคอนโดมิเนียมกำลังก่อสร้างมูลค่าสูงถึง 86,052 ล้านบาท และจะค่อย ๆ ทยอยออกมาสู่ตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าหากคอนโดมิเนียมดังกล่าวไม่สามารถขายได้ ก็จะส่งผลให้ปริมาณสินค้าคงเหลือในตลาดอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นอีก

ทำให้ผลกระทบที่ตามมาอาจรุนแรงถึงขั้นเกิด “Domino Effect” หากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ผู้ประกอบการอาจประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถชำระเงินกู้หรือลงทุนในโครงการใหม่ได้

เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว กลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไทยได้เสนอแนวทางดังนี้

  1. เร่งลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดภาระให้ทั้งลูกค้าสินเชื่อใหม่ และลูกค้าที่อยู่ระหว่างการผ่อนชำระ
  2. ผ่อนปรนมาตรการควบคุมสินเชื่อ LTV ในการขอสินเชื่อซื้อบ้านหลังที่ 2-3 อย่างน้อย 2 ปี
  3. ต่ออายุมาตรการลดค่าจดทะเบียนโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์อีก 1 ปี
  4. ทบทวนเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าก่อสร้างบ้าน
  5. สนับสนุนมาตรการให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังมีความหวังในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล เช่น การขยายเส้นทางรถไฟฟ้าไปยังภูมิภาคต่าง ๆ และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัดและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมนี้

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2025 ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยเฉพาะปัญหาเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่รายได้ของประชาชนไม่เติบโตตามราคาบ้าน

ทั้งนี้ การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงินในการประชุมวันที่ 16 ตุลาคมนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่อาจกำหนดทิศทางของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในอนาคตอันใกล้

มุมมอง Finnomena Funds ต่อ REIT ไทย

แม้ว่าการเมืองจะมีความชัดเจนและมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่จะช่วยหนุนความเชื่อมั่นให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวเพียงช่วงสั้น ในระยะยาวยังต้องติดตามนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง

ทั้งนี้ SETPREIT ซึ่งเป็นตัวแทนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์, REIT, กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ปรับตัวขึ้นมาได้ดีในเดือนสิงหาคม 2024 จนถึงปัจจุบัน (10 ตุลาคม 2024) 

อย่างไรก็ดี กำไรบริษัทจดทะเบียนของ SETPREIT ถูกปรับประมาณการลดลง ส่วนภาพการเติบโตในระยะกลางถึงยาวยังต่ำเมื่อเทียบกับ REIT โลก ดังนั้น จึงแนะนำทยอยลดสัดส่วน REIT ไทย


อ้างอิง: Morning Brief by Finnomena, กรุงเทพธุรกิจ

คำเตือน: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | การลงทุนในกองทุนรวมไม่ใช่การฝากเงิน | กองทุนอาจลงทุนกระจุกตัวในอุตสาหกรรมและประเทศที่ลงทุน จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FinnomenaPort” | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299

TSF2024