Macro Investing-สไตล์ VI

สมัยเริ่มเป็น VI ใหม่ ๆ คือประมาณ 30 ปีมาแล้ว ผมเชื่อในหลักการลงทุนแบบที่เรียกว่า “Bottom Up” คือการลงทุนที่เน้นที่ตัวกิจการเป็นหลัก และไม่ได้สนใจเรื่องของภาพใหญ่หรือที่เรียกว่าภาพ “Macro” ที่บอกว่าเราควรต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ภาพของเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมก่อนว่าเอื้ออำนวยแค่ไหน จากนั้นจึงมาดูตัวบริษัทว่าเราควรลงทุนหรือไม่ บางคนเรียกการมองหาหุ้นแบบนี้ว่า “Top Down” โดยที่แนวความคิดแบบนี้มาจากความเชื่อที่ว่า ถ้าภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไม่เอื้ออำนวย โอกาสที่บริษัทจะเจริญรุ่งเรืองก็จะยาก

แนวความคิดเรื่องการลงทุนโดยไม่ต้องสนใจภาวะเศรษฐกิจเลยนั้น VI จำนวนมาก รวมถึงผมด้วยในยุคบุกเบิกของการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ผมคิดว่าสิ่งสำคัญส่วนหนึ่งมาจากหนังสือการลงทุนยอดนิยมของปีเตอร์ลินช์ 2 เล่มนั่นก็คือ “One Up on Wall Street” และ “Beating the Street” ซึ่งปีเตอร์ลินช์บอกว่าการเลือกหุ้นลงทุนของเขานั้น เขาแทบไม่อ่านและไม่สนใจเรื่องของการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจเลย เขาบอกว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรทั้งสิ้น เราควรมองแต่เฉพาะตัวกิจการว่ามันจะเติบโตไปได้มากน้อยแค่ไหน ดูจากสินค้าและความนิยมของลูกค้าในท้องตลาด พูดง่าย ๆ ฟังจาก “ชาวบ้าน” ดีกว่าฟังนักเศรษฐศาสตร์

ถัดจากปีเตอร์ ลินช์ หนังสือที่เขียนเกี่ยวกับแนวคิดและการลงทุนของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ตามมา ดูเหมือน ว่าบัฟเฟตต์เองนั้น ก็แทบไม่ได้ใส่ใจกับภาวะเศรษฐกิจหรือภาพใหญ่อะไรทั้งสิ้น จริงอยู่ บัฟเฟตต์พูดตลอดมาว่าเขา “เชื่อมั่นในสหรัฐ” และเตือนว่า “อย่ามาพนันตรงกันข้ามกับอเมริกา” เวลาพูดถึง “ภาพใหญ่” พูดง่าย ๆ เศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐนั้น สุดยอด

แต่ในการลงทุนของบัฟเฟตต์เองนั้น เขาก็แทบจะไม่สนใจว่าเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจดี เขาก็ซื้อหุ้น เศรษฐกิจเลวร้าย เขาก็ยิ่งซื้อหุ้นมากขึ้น ว่าที่จริงเขาก็ซื้อหุ้นมาตลอดไม่ต่ำกว่า 70 ปีแล้ว ในขณะที่ขายหุ้นน้อยกว่ามาก เพราะเขาซื้อหุ้นแล้วเก็บยาว กลยุทธ์หลักก็คือ ซื้อแล้วถือ แทบจะไม่ขายเลย ยกเว้นว่าพื้นฐานของกิจการจะเกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามหุ้นของ บัฟเฟตต์ส่วนใหญ่มากเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ที่มักจะไม่เปลี่ยนแปลง หุ้นอย่างโค๊กนั้น  เขาถือมาตั้งแต่ 35 ปีที่แล้ว และโค๊กก็ไม่เคยเปลี่ยน ยังเป็นน้ำอัดลมที่ขายดีที่สุดในโลกที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวันนี้

ผมเชื่อเรื่องการลงทุนแบบ Bottom Up มานานและก็ทำกำไรจากการลงทุนมาอย่างดีมากจนถึงช่วงเร็ว ๆ นี้ แต่แล้ว สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของไทยก็ดูเหมือนจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง ประชากรของไทยก็เริ่มแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ตลาดหุ้นสะท้อนภาพนั้นในช่วงประมาณ 8-9 ปีที่ผ่านมาโดยการที่ดัชนีตลาดหุ้นไม่ปรับตัวขึ้นเลย เช่นเดียวกับการเติบโตของผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่เติบโตน้อยมาก นั่นทำให้ผมเริ่มคิดว่า “ภาพใหญ่” น่าจะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า “ภาพเล็ก” ผมเปรียบเทียบว่า ประเทศก็เหมือนน้ำ บริษัทเหมือนปลา ถ้าน้ำไม่ดี ปลาก็มักจะอยู่ยาก ไม่ต้องพูดว่าจะแข็งแรงเติบโต

ผมเริ่มตระหนักว่า ภาพใหญ่นั้นน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะภาพใหญ่ “ระยะยาว” ถึง “ยาวมาก” ที่เป็นช่วงระยะเวลาที่เราจะลงทุน “ตลอดชีวิต” ดังนั้น การวิเคราะห์ภาพการเติบโตระยะยาวทางเศรษฐกิจของประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เพราะถ้าเราไม่รู้หรือไม่ตระหนักและเน้นแต่การเลือกหุ้นที่ดี เป็นหุ้น “VI” ที่เก่งกว่าหุ้นอื่นและเอาชนะหุ้นอื่นได้  เราก็อาจจะพลาด  ประการแรกก็คือ  ถึงมันจะเป็นบริษัทที่ดีหรือดีมาก  แต่มันก็อาจจะทำได้แค่ดีพอใช้ในสถานการณ์ที่เหมือนกับการ “ว่ายน้ำสวนกระแส” หรือประการที่สองก็คือ ต่อให้มันดีมาก แต่ตลาดอาจจะกำลังเล็กลง  หุ้นก็คงไปไหนไม่ได้ไกล-ในระยะยาว

ผมคิดว่า การที่วอร์เรน บัฟเฟตต์และปีเตอร์ ลินช์ประสบความสำเร็จสูงมากทั้ง ๆ ที่ไม่ได้สนใจเรื่องเศรษฐกิจและสนใจแต่เรื่องของหุ้นนั้น เป็นเพราะเศรษฐกิจสหรัฐระยะยาวถึงยาวมากนั้น ดีและเติบโตมาตลอด ไม่ได้เหมือนกับประเทศพัฒนาแล้วอีกหลาย ๆ ประเทศที่รวมถึงญี่ปุ่นที่เมื่อโตถึงจุดหนึ่งก็เริ่มชะลอตัวและโตช้าลงมากหรือไม่โตเลยอย่างถาวร เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าสหรัฐมีระบบการเมืองและการปกครองที่เน้นความเป็นทุนนิยม มีเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยสูง และที่สำคัญก็คือ มีประชากรเพิ่มขึ้นตลอดเวลาเนื่องจากการอพยพของคนจากต่างประเทศทั่วโลก ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่เราจะต้องกังวลกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจสั้น ๆ ที่มีขึ้นและลงตลอดเวลา

VI ไทยนั้น “โชคดี” ที่กำเนิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยกำลังโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เป็น “ทศวรรษทอง” ของไทย เราไม่จำเป็นที่จะต้องคิดถึงภาวการณ์ทางเศรษฐกิจเลย แต่ถึงตอนนี้ผมคิดว่าเรากำลังอยู่ในช่วง “ถดถอยลงอย่างถาวร” ถ้าไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างถึงแก่น และถ้าทำไม่ได้ เราก็จะตกอยู่ในภาวะ “ทศวรรษที่หายไป” อีกหนึ่งทศวรรษหลังจากที่ดัชนีตลาดหุ้นนิ่งมา 10 ปีแล้ว

การวิเคราะห์เรื่องภาพใหญ่ของประเทศไทยในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา นำให้ผมย้ายการลงทุนบางส่วนสู่ตลาดหุ้นเวียดนามที่ผมมองว่ากำลังเข้าสู่ “ทศวรรษทองของเวียดนาม” ทั้งในทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้น แม้ว่าเวลานั้น แทบจะไม่มีคนรู้จักหรือสนใจที่จะไป เพราะมันเป็น “ตลาดชายขอบ” ที่ยังไม่มีอะไรพร้อมรวมถึงกฎระเบียบในการซื้อขายในตลาดหุ้น

ว่าที่จริง แม้แต่สภาพสถานะการเงินการคลังของประเทศก็ยังไม่เสถียร  ค่าเงินตกลงมาเกิน 30% และทุนสำรองก็ยังต่ำมาก  อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงจนแทบจะไม่คุ้มกับการลงทุน แต่ทั้งหมดนั้นเป็น “ภาพเล็ก” ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปตาม “ภาพใหญ่” ของประเทศเวียดนามที่พร้อมจะเข้ามาเป็นผู้เล่นทางเศรษฐกิจ “ระดับโลก” ในระยะยาว

ปัจจัยในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของเวียดนามแทบทุกอย่าง อยู่ในระดับต้น ๆ เปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งก็ดึงดูดเม็ดเงินจากบริษัทชั้นนำทั่วโลกเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะในการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งนั่นก็นำมาซึ่งการเติบโตของรายได้ของคนเวียดนามที่ก่อให้เกิดการบริโภคในประเทศที่เติบโตสูงยิ่งกว่า และนั่นก็นำมาสู่บริษัทขนาดใหญ่และบริษัทในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

การเลือกหุ้นเวียดนามของผมเองก็เน้นไปที่ “ภาพใหญ่” มากกว่าที่จะไปค้นหาหุ้นเป็นรายตัว เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะว่าผมไม่มีความสามารถและ/หรือมีแรงพอที่จะเข้าไปศึกษาและตรวจสอบรายละเอียดของหุ้นแต่ละตัวได้ ว่าที่จริง  ผมเคยไปเวียดนามแค่ 2-3 ครั้งในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมา วิธีการที่ผมใช้ในการเลือกก็คือการดูว่าในอนาคต ไม่เกิน 10 ปีนับจากวันนี้ จะมีบริษัทในอุตสาหกรรมไหนที่จะรุ่งเรืองขึ้นมาก และบริษัทไหนน่าจะเป็น “ผู้ชนะ” และมันจะมีขนาดใหญ่แค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของเวียดนามในขณะนั้น ซึ่งผมก็มองว่าจะใหญ่กว่าประเทศไทยในวันนี้

ผมเลือกลงทุนในหุ้นค้าปลีกสมัยใหม่ที่ “โดดเด่นที่สุด” เลือกหุ้นห้างช้อปปิงมอลที่จะโตขึ้นมากตามความร่ำรวยของผู้คน เลือกหุ้นสนามบินที่เป็นเจ้าของสนามบินเกือบทั้งประเทศ เลือกหุ้นพลังงานไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งที่ใช้พลังงานถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ เขื่อน และพลังงานทางเลือก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกเป็นสิบๆ ปี เลือกหุ้นโรงพยาบาลเอกชนที่ยังเล็กมากและเพิ่งจะเกิดตามความมั่งคั่งของคน และเลือกหุ้นเทคโนโลยีดิจิทัลขนาดใหญ่ที่สุดที่เวียดนามมีและอาจจะเติบโตขึ้นมาเป็นบริษัทระดับโลกได้ อานิสงค์จากความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ของคนเวียดนาม เป็นต้น

และทั้งหมดนั้นก็เป็นการลงทุนแบบ Macro ของผมในตลาดหุ้นเวียดนามโดยที่ตัดรายละเอียดของบริษัทไปมาก จริงอยู่ การศึกษารายละเอียดแบบ Bottom Up นั้นมีประโยชน์แน่นอน แต่ในกรณีของเวียดนามนั้น ผมคิดว่าส่วนใหญ่ อาจจะ 8-90% ผลก็จะออกมาว่าผมจะ “ได้หุ้นตัวเดียวกัน” โดยดูหรือวิเคราะห์หุ้นจากภาพใหญ่เป็นหลัก

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

TSF2024