โลกการลงทุนมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกลงทุนมากมาย ตั้งแต่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเหมาะกับมือใหม่ที่เน้นความมั่นคง ไปจนถึงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและเต็มไปด้วยความซับซ้อน เพื่อแลกกับโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์การลงทุนบางอย่างจึงเหมาะกับนักลงทุนบางประเภทเท่านั้น
สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้กำหนดประเภทของนักลงทุนออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1. ผู้ลงทุนรายย่อย (Retail Investor) คือ ผู้ลงทุนทั่วไปที่มีฐานะการเงินไม่ถึง 30 ล้านบาท หรือยังไม่พร้อมรับความเสี่ยงสูง เหมาะกับผลิตภัณฑ์การลงทุนในตลาดทั่วไป เช่น หุ้น, DW, Futures, REITs, กองทุนรวม, หุ้นกู้ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ, หุ้นกู้อนุพันธ์ที่คุ้มครองเงินต้น และหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่เรตติ้งอยู่ในระดับลงทุนได้
2. ผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth: HNW) คือ ผู้ลงทุนที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์การลงทุน และมีฐานะการเงินตามกำหนด เช่น สินทรัพย์สุทธิไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท หรือรายได้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาทต่อปี โดยจะสามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้ อาทิ กองทุน AI (Accredited Investor), หุ้นกู้ที่ไม่ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือ และหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ที่เรตติ้งต่ำกว่าระดับลงทุนได้ เป็นต้น
3. ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth: UHNW) คือ ผู้ลงทุนที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์ด้านการลงทุนเช่นเดียวกับ HNW เพียงแต่ต้องมีฐานะการเงินที่กำหนดไว้สูงขึ้น เช่น สินทรัพย์สุทธิไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท หรือรายได้ไม่น้อยกว่า 6 ล้านบาทต่อปี เพื่อรองรับความเสี่ยงจากการลงทุนที่สูงและผันผวนได้มากขึ้น โดยสามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูงมากได้ อาทิ กองทุน UI (Ultra Accredited Investor Mutual Fund) และหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่ไม่มีเรตติ้ง เป็นต้น
4. ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investor: II) คือ ส่วนใหญ่เป็นนิติบุคคลอย่างเช่น สถาบันการเงิน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวม รวมไปถึงผู้ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการลงทุน อาทิ ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) นักวิเคราะห์การลงทุน (Investment Analyst) เป็นต้น
อยากเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ… ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ?
ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ หรือ UHNW เป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงนี้ เพราะสามารถเข้าถึงการลงทุนทางเลือกใหม่ที่เหนือกว่าสินทรัพย์ทั่วไปในท้องตลาด จึงมีโอกาสทั้ง “เพิ่มผลตอบแทน” และ “ลดความเสี่ยง” ให้กับพอร์ตการลงทุนโดยรวม
โดยการที่จะเป็น UHNW (กรณีของบุคคลธรรมดา) จะต้องผ่านคุณสมบัติ 2 ด้าน ประกอบด้วย “ฐานะทางการเงิน” และ “ความรู้หรือประสบการณ์” ดังนี้
เกณฑ์ฐานะทางการเงิน UHNW (ผ่านเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง)
- รายได้ไม่น้อยกว่า 6 ล้านบาทต่อปี
- เงินลงทุนไม่รวมเงินฝากไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท
- เงินลงทุนรวมเงินฝากไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท
- สินทรัพย์สุทธิไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท
เกณฑ์ความรู้หรือประสบการณ์ UHNW (มีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง)
- มีประสบการณ์การลงทุนย้อนหลังในสินทรัพย์เสี่ยงเป็นประจำและต่อเนื่อง
- มีประสบการณ์ทำงานด้านการบริหารการเงินและการลงทุน
- มีความรู้ความเข้าใจในหลักทรัพย์ที่ลงทุนอย่างเพียงพอ
- เป็นผู้แนะนำการลงทุนหรือผู้วางแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.
- ได้รับวุฒิบัตรหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่ง ดังนี้ CFA, CISA, CAIA หรือ CFP
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ความรู้หรือประสบการณ์จะเป็นไปตามดุลพินิจของผู้ให้บริการแต่ละราย
ผู้ลงทุนรายใหญ่ vs. ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ต่างกันอย่างไร?
ผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) กับ ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth) จะมีสิ่งที่เหมือนกันคือหลักเกณฑ์ความรู้หรือประสบการณ์การลงทุน แต่จุดที่มีความแตกต่างกันชัดเจนก็คือเงื่อนไข “ฐานะการเงิน” โดยเราได้สรุปให้เห็นภาพชัด ๆ เป็นตารางดังนี้
ผู้ลงทุนรายใหญ่
(High Net Worth) |
ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ
(Ultra High Net Worth) |
รายได้ต่อปี ≥ 3 ล้านบาท | รายได้ต่อปี ≥ 6 ล้านบาท |
เงินลงทุนไม่รวมเงินฝาก ≥ 8 ล้านบาท | เงินลงทุนไม่รวมเงินฝาก ≥ 15 ล้านบาท |
เงินลงทุนรวมเงินฝาก ≥ 15 ล้านบาท | เงินลงทุนไม่รวมเงินฝาก ≥ 15 ล้านบาท |
สินทรัพย์สุทธิ ≥ 30 ล้านบาท | สินทรัพย์สุทธิ ≥ 60 ล้านบาท |
กองทุน UI โอกาสลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกใหม่ สำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ
สำหรับใครที่ผ่านหลักเกณฑ์เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UHNW) เราอยากจะขอแนะนำให้รู้จักโอกาสการลงทุนใหม่ที่เรียกว่า กองทุน UI กองทุนรวมที่จะพาคุณเข้าถึงการลงทุนใน Asset Classes ที่แปลกใหม่และแตกต่างจากสินทรัพย์ลงทุนทั่วไป เช่น การลงทุนในกรมธรรม์ประกันชีวิต (Life Settlement), สกุลเงิน (Currency), หุ้นนอกตลาด (Private Equity), อสังหาริมทรัพย์นอกตลาด (Private Real Estate) รวมไปถึง Hedge Funds
จุดเด่นของกองทุน UI คือโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี ด้วยความผันผวนที่น้อยกว่าหุ้นในตลาด และยังช่วยกระจายความเสี่ยงให้พอร์ต เนื่องจากสินทรัพย์กลุ่มนี้มีค่า Correlation ต่ำหรือติดลบ เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น ทำให้ปัจจุบันกระแสการลงทุนในกองทุน UI กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ
นักลงทุน UHNW สามารถลงทุนในกองทุน UI ได้ที่ Finnomena Funds House of UI Funds ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการคัดสรรกองทุน UI อย่างเป็นกลาง จากหลากหลาย บลจ. มาเลือกลงทุนแบบครบครัน ครอบคลุมทุกสินทรัพย์นอกกระแส พร้อมด้วยบริการให้คำปรึกษาการลงทุนส่วนตัว เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ให้พลาดโอกาสการลงทุนที่ดีในทุกช่วงเวลา
เปิดประสบการณ์การลงทุนเหนือระดับ ในสินทรัพย์ทางเลือกใหม่ เอกสิทธิ์เฉพาะนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ
👉 ลงทะเบียน คลิก >>> https://finno.me/ui-fund
…………………………
อ่านบทความสำหรับนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth) ต่อได้ที่
- 4 สินทรัพย์ทางเลือกมาแรง อยากแซงตลาดต้องรู้จัก
- กองทุน UI คืออะไร? รู้จักโอกาสลงทุนเหนือสินทรัพย์ทั่วไป สำหรับนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ
- ทำไมกองทุนความเสี่ยง 8+ ถึงช่วยลดความเสี่ยงพอร์ตให้ต่ำลงได้
แหล่งอ้างอิง
Smart to Invest สำนักงาน ก.ล.ต.
คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | กองทุน UI จะเสนอขายเฉพาะผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษเท่านั้น โดยกองทุนประเภทนี้เป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงหรือซับซ้อน และไม่ถูกจำกัดความเสี่ยงด้านการลงทุนเช่นเดียวกับกองทุนรวมทั่วไป จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่รับผลขาดทุนได้ในระดับสูงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนทำการลงทุน