Quit02

สวัสดีครับกลับมาพบกับผม หมอนัทอีกครั้งนะครับ หลักการโดยทั่วไปของการเลือกกองทุนที่ดี นอกจากการดูผลตอบแทนย้อนหลัง ความเสี่ยง สไตล์การลงทุน ค่าธรรมเนียมแล้ว มีสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนทั้งหลาย ไม่ควรมองข้าม คือ “ผู้จัดการกองทุน”

ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวการลาออกของ ผู้จัดการกองทุนหลายท่าน และผมว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก ดังนั้นในคราวนี้ผมคงไม่ได้พูดถึงการเปรียบเทียบกองทุน แต่จะมาเปรียบเทียบ และ เล่าถึงรูปแบบการจัดการกองทุน รวมถึงแนวทางปฏิบัติในเวลาที่ผู้จัดการกองทุนลาออกกันครับ

ก่อนอื่นเรามาดูกันว่ารูปแบบการบริหารกองทุนมีแบบไหนกันบ้าง ? การบริหารกองทุนมีหลายรูปแบบ แต่หลัก ๆ ที่เราเจอได้เสมอก็คือ 1.ผู้จัดการกองทุนคนเดียว กับ 2.บริหารแบบทีม ในอดีตเรามักจะพบกับกองทุนที่บริหารด้วยการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุนคนเดียว แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วจะเป็นในรูปแบบของ “ทีม” มากกว่า เพราะว่าการตัดสินใจอะไรคนเดียว อาจจะดูแล้วไม่ค่อยน่าเชื่อถือ หรือถ้าผิดทางอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อกองทุนได้นั่นเอง

ผมก็มักจะเห็นกองทุนในรูปแบบผู้จัดการกองทุนคนเดียวที่มีความสามารถสูงหรือ กองทุนจะมีการบริหารแบบทีมแต่มีผู้จัดการกองทุนที่มีชื่อเสียงและเป็นหัวหอกในการดำเนินงาน ทำผลตอบแทนได้ดีอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นถ้ากองทุนที่เราถืออยู่นั้น ผู้จัดการกองทุนเกิดลาออก ผลกระทบจะเป็นอะไรบ้างเรามาดูกันครับ

1.ผลการดำเนินงาน – แน่นอนว่าต้องกระทบเป็นอันดับแรก ๆ แต่เรามักจะไม่เห็นในระยะสั้น เพราะว่าผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ผู้จัดการกองทุนได้ทำไปก่อนหน้านี้ ซึ่งต้องใช้เวลาซักพัก ประมาณ 3-6 เดือนขึ้นไปจึงจะพบความเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทน ยิ่งถ้ากองทุนเปลี่ยนผู้จัดการกองทุนที่เน้นบริหารแบบเชิงรับ มาเป็น ผู้จัดการที่บริหารแบบเชิงรุกมากขึ้นก็อาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างรวดเร็ว ส่วนการเปลี่ยนจากเชิงรุกมาเป็น เชิงรับ เราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลงกว่าเดิมก็เป็นไปได้

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับทีมนักวิเคราะห์และแนวทางในการเลือกลงทุนที่ดี ที่จะทำความสามารถในการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุนมีต่อผลตอบแทนของกองทุนน้อยลง

2.ความเชื่อมั่นจากนักลงทุน – หากผู้จัดการกองทุน ที่มีชื่อเสียง อย่างเช่นในกรณีของ Bill Gross ผู้บริการกองทุนตราสารหนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง PIMCO’s Total Return fund ซึ่งการเปลี่ยนผู้จัดการกองทุนในครั้งนั้น ส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของเหล่านักลงทุนที่มีนั้นลดลง จนทำให้นักลงทุนพากันเทขายหน่วยลงทุน

แต่ผลกระทบดังกล่าวอาจเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น ถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้จัดการกองทุนคนใหม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับกองทุน นักลงทุนก็จะกลับมาซื้อกองทุนเดิม

คราวนี้เรามาดูว่าเราควรจะอยู่หรือจะย้ายการลงทุนไปกองทุนอื่น? ซึ่งก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ตามนี้ครับ

เปรียบเทียบค่าใช้จ่าย – อย่าลืมว่าการที่เราย้ายออกจากกองทุนเดิมที่เราถืออยู่ ไปลงทุนในกองทุนใหม่ ก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการย้ายกองทุนด้วย ดังนั้นเราจึงต้องมั่นใจว่าผลตอบแทนที่คาดหวังจากกองทุนใหม่ นั้นจะคุ้มค่ากับค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียไป
ตัดสินใจว่าจะอยู่หรือไป – ในกรณีที่ เรายังไม่มั่นใจว่า กองทุนใหม่นั้นจะสามารถทำผลตอบแทนได้ดีกว่ากองทุนเดิม นั่นหมายความว่าคงไม่คุ้มที่จะเปลี่ยน ซึ่งเราก็ควรใจเย็น ถือกองทุนเดิมไปก่อนรอดูความสามารถในการบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุนคนใหม่ (ซึ่งอาจจะดี หรือแย่กว่าเดิมก็ได้) และคอยตรวจสอบว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร เปลี่ยนไปหรือไม่ ดีขึ้นหรือแย่ลง ส่วนเงินลงทุนก้อนใหม่ อาจจะลงทุนในกองทุนอื่น ๆ ที่เราคาดการณ์ว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีไปก่อน ถ้าหากผลตอบแทนแย่ลงเราก็เปลี่ยนไปถือกองทุนรวมกองอื่นก็ยังไม่สาย
แต่หากนักลงทุนไม่อยากเผชิญกับความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงผลการดำเนินงานของกองทุนเนื่องจากการลาออกของผู้จัดการกองทุน เราก็ยังมีกองทุนรูปแบบอื่นให้นักลงทุนก็สามารถเลือกลงทุนได้เช่น

กองทุนประเภท Passive fund– ซึ่งเป็นกองทุนที่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีต่างๆ เช่น ดังนั้น ความสามารถในการคัดเลือกหลักทรัพย์ของผู้จัดการกองทุนจึงไม่มีความสำคัญกับกองทุนประเภทนี้เลย
กองทุนที่บริหารแบบทีม – กองทุนประเภทนี้จะมีผู้จัดการกองทุนหลาย ๆ คน ทำงานกันเป็นทีม ดังนั้นการลาออกของผู้จัดการกองทุนเพียงหนึ่งคน ก็จะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของกองทุนไม่มากนัก

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ หลังจากที่ทราบผลกระทบวิธีการปฏิบัติ และทางเลือกเมื่อผู้จัดการกองทุนที่เราลงทุนอยู่เกิด ”ลาออก” ไปแล้ว คงไม่ต้องตกใจรีบย้ายกองทุนตามผู้จัดการกองทุน และคงเป็นเวลาที่นักลงทุน ควรจะต้องมาตั้งสติ และคิดคำนวณความคุ้มค่าว่าจะยังจะอยู่หรือย้ายกองทุนหรือไม่ ขอให้นักลงทุนทุกคนโชคดีในการลงทุนกับกองทุนรวมนะครับ แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้าครับ