พูดถึงการลงทุน สิ่งแรก ๆ ที่จำเป็นต้องประเมินคือ ระดับความเสี่ยง ของกองทุนแต่ละกอง เพราะการผสมผสานกองทุนหลากหลายรูปแบบที่มีความเสี่ยง (และนโยบายการลงทุน) แตกต่างกัน จะช่วยให้นักลงทุนสามารถสร้างพอร์ตโฟลิโอที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี สามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนตามเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ ภายใต้ความเสี่ยงที่จำกัด
ทบทวนเรื่องความเสี่ยงกองทุน 8 ระดับ
ความเสี่ยงของกองทุนรวมมีทั้งหมด 8 ระดับ ตามนิยามของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แบ่งตามประเภทสินทรัพย์ที่กองทุนแต่ละกองเข้าไปลงทุนเป็นหลัก โดยระดับความเสี่ยงกองทุนทั้ง 8 แบบ มีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มเสี่ยงต่ำ
- ความเสี่ยงระดับ 1: กองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนเฉพาะในประเทศ ลงทุนใน เงินฝาก หรือตราสารหนี้ ในไทย เช่น ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วเงินคลัง ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
กลุ่มเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ
- ความเสี่ยงระดับ 2: กองทุนรวมตลาดเงิน ลงทุนในหลักทรัพย์เหมือนกับกองทุนเสี่ยงระดับ 1 แต่มีการลงทุนบางส่วน (ไม่เกิน 50% ของ NAV) ในต่างประเทศ
- ความเสี่ยงระดับ 3: กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุการถือนานกว่าการลงทุนในตลาดเงิน (มีอายุเกิน 1 ปี) เช่น พันธบัตรรัฐบาล 3 ปี 5 ปี 7 ปี ทำให้ผลตอบแทนผันผวนมากขึ้น
- ความเสี่ยงระดับ 4: กองทุนรวมตราสารหนี้ ขยายไปลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชน หรือ หุ้นกู้ จึงมีผลตอบแทนความเสี่ยงสูงกว่า
กลุ่มเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง
- ความเสี่ยงระดับ 5: กองทุนรวมผสม ลงทุนทั้งตราสารหนี้ (เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้) และตราสารทุน (เช่น หุ้น) ในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป จึงมีความเสี่ยงเพิ่มมาอีกระดับ
กลุ่มเสี่ยงสูง
- ความเสี่ยงระดับ 6: กองทุนรวมตราสารทุน มีนโยบายลงทุนในตราสารทุน (เช่น หุ้น) เป็นหลัก โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของ NAV
- ความเสี่ยงระดับ 7: กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม มุ่งลงทุนในตราสารทุน (เช่น หุ้น) เพียงหมวดอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของ NAV
กลุ่มเสี่ยงสูงมาก
- ความเสี่ยงระดับ 8: กองทุนรวมที่ลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก ลงทุนในทรัพย์สินทางเลือกหรือมีโครงสร้างซับซ้อน เช่น ทองคำ น้ำมันดิบ หรือ REIT จัดเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากจากความผันผวนด้านราคา สภาพคล่อง รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน แต่เหมาะที่จะลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนเนื่องจากมีค่าความสัมพันธ์กับสินทรัพย์พื้นฐาน (เช่น หุ้น) ต่ำ
กองทุนความเสี่ยงระดับ 8+ ทางเลือกในการลดความเสี่ยงพอร์ตให้ต่ำลง
ทางเลือกในการลงทุนที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตโฟลิโอลง (พร้อมเพิ่มอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง) นั่นก็คือกองทุนความเสี่ยงสูงสุดอย่าง กองทุนความเสี่ยงระดับ 8+ หรือกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงจากการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ
กองทุนความเสี่ยงระดับ 8+ มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินทางเลือกที่มีความซับซ้อน เช่น Life Settlement, Hedge fund, หุ้นนอกตลาด ค่าเงิน ไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด โดยสามารถเข้าถึงการลงทุนแบบนี้ได้ผ่านกองทุน UI หรือ กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษเท่านั้น
ทำความรู้จักกองทุน UI ได้ที่
กองทุน UI คืออะไร? รู้จักโอกาสลงทุนเหนือสินทรัพย์ทั่วไป
แม้ระดับความเสี่ยงจะสูงถึง 8+ และทรัพย์สินที่เข้าไปลงทุนก็ดูจะไกลตัว แต่ด้วยการที่ทรัพย์สินทางเลือกหลายชนิดมีธรรมชาติของการเคลื่อนไหวทางราคาแตกต่างออกไปจากสินทรัพย์พื้นฐาน (เช่น หุ้น และตราสารหนี้) ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ ในขณะที่ราคาหุ้นจะขึ้นอยู่กับตลาด แต่การเคลื่อนไหวของการซื้อขายกรมธรรม์ประกันชีวิต (Life Settlement) จะมาจากการได้รับผลประโยชน์เมื่อกรมธรรม์ประกันชีวิตที่กองทุนรับซื้อมาสิ้นสุดระยะเวลาสัญญา
ทำความรู้จักทรัพย์สินทางเลือกโดยละเอียดได้ที่
4 ทรัพย์สินทางเลือกมาแรง อยากแซงตลาดต้องรู้จัก
และสิ่งน่าสนใจก็คือ ความผันผวน (Standard Deviation: S.D.) ในทรัพย์สินทางเลือกบางชนิดต่ำกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2022 ค่า S.D. ของดัชนี S&P 500 อยู่ที่ 17.8% ในขณะที่ดัชนี Bloomberg Buyout Private Equity ซึ่งลงทุนในหุ้นนอกตลาดมี S.D. ที่ 9.5%
แผนภาพแสดงผลงานของดัชนี Bloomberg Buyout Private Equity เทียบกับดัชนี S&P 500
Source: FINNOMENA, Bloomberg as of Sep 2022
ดังนั้น การลงทุนในทรัพย์สินทางเลือกจึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับนักลงทุนในการกระจายการลงทุนออกไปให้กว้างขึ้น ลดความผันผวนโดยรวมที่จะเกิดขึ้นกับพอร์ตเพื่อประโยชน์สำหรับการสร้างผลตอบแทนในระยะยาวให้น่าพึงพอใจภายใต้ความเสี่ยงที่ลดลง
ทำไมกองทุนเสี่ยงสูงสุด ช่วยลดความผันผวนในการลงทุน?
กรณีศึกษาเกี่ยวกับผลตอบแทนและความเสี่ยงย้อนหลังของสินทรัพย์ในหลาย asset classes ในช่วงกว่า 30 ปี ที่จะพูดถึงต่อจากนี้จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมทรัพย์สินทางเลือกจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการลดความผันผวนโดยรวมของพอร์ตโฟลิโอลง
ข้อมูลจากการศึกษาผลตอบแทนและความผันผวนย้อนหลังตั้งแต่ปี 1989 จนถึงไตรมาส 2 ของปี 2022 โดย JPMorgan ระบุว่า เมื่อเพิ่มสัดส่วนทรัพย์สินทางเลือกเข้าไปในพอร์ตการลงทุนที่ประกอบด้วยหุ้นและตราสารหนี้ จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีและลดความผันผวนในหลายกรณี เช่น
- กรณีที่ 1:
- พอร์ตการลงทุนที่ประกอบด้วยหุ้น 80% และตราสารหนี้ 20% จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 9.18% และมีความผันผวน 12.82%
- เมื่อแทนที่สัดส่วนหุ้น 30% ด้วยทรัพย์สินทางเลือก 30% ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจะเพิ่มเป็น 9.48% ส่วนความผันผวนลดลงมาเหลือ 9.53%
- กรณีที่ 2:
- พอร์ตการลงทุนที่ประกอบด้วยหุ้น 60% และตราสารหนี้ 40% จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 8.39% และมีความผันผวน 9.66%
- เมื่อแทนที่สัดส่วนหุ้น 10% + ตราสารหนี้ 20% ด้วยทรัพย์สินทางเลือก 30% ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจะเพิ่มเป็น 9.48% ส่วนความผันผวนลดลงมาเหลือ 9.53%
แผนภาพแสดงผลตอบแทนและความผันผวนของพอร์ตการลงทุนแต่ละแบบตั้งแต่ปี 1989 ถึง ไตรมาส 2 ของปี 2022 Source: JPMorgan as of 28/2/2023
ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? คำตอบก็คือ ทรัพย์สินทางเลือกหลายชนิดเคลื่อนไหวโดยมีความสัมพันธ์ต่ำกับสินทรัพย์กระแสหลักทั่วไป เช่น หุ้น หรือ ตราสารหนี้ เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหรือมีธรรมชาติที่แตกต่างออกไปจากสินทรัพย์ทั่วไป จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทรัพย์สินทางเลือกจึงเป็นประตูสู่การกระจายการลงทุนที่ดีให้กับพอร์ตของนักลงทุนที่โดยปกติมักจะประกอบด้วยหุ้นและตราสารหนี้เป็นหลัก
ปกติแล้วในการวัดว่าราคาของสินทรัพย์หนึ่งเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับอีกสินทรัพย์มากแค่ไหนจะต้องดูจากค่า correlation ที่มีค่าระหว่าง -1 ถึง 1 หากสินทรัพย์ทั้งสองเคลื่อนไหวสอดคล้องกันโดยสมบูรณ์ (เช่น เมื่อสินทรัพย์ A ราคาขึ้น 1 หน่วย สินทรัพย์ B ก็มีราคาขึ้น 1 หน่วย) ก็จะมีค่านี้เท่ากับ 1 โดยหากมีค่ายิ่งเข้าใกล้ 0 ก็หมายถึงสินทรัพย์เคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกัน และถ้ามีค่าเข้าใกล้ -1 เท่าไหร่ ก็หมายถึงสินทรัพย์เคลื่อนไหวตรงข้ามกันเท่านั้น
ซึ่งทรัพย์สินทางเลือกหลาย ๆ ชนิด มีความเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องหรือแม้แต่เคลื่อนไหวตรงข้ามเลยทีเดียวหากดูจากค่า correlation ของกองทุนตัวอย่างที่มีการลงทุนในทรัพย์สินทางเลือกแต่ละชนิด เช่น การลงทุนในกรมธรรม์ประกันชีวิต ที่มีความสัมพันธ์กับหุ้นแทบจะเป็นศูนย์ หรือ สกุลเงิน ที่สัมพันธ์สวนทางอย่างมากกับตราสารหนี้ จึงเป็นตัวช่วยลดความผันผวนในพอร์ตได้เป็นอย่างดี
ตารางแสดงผลตอบแทนต่อปีย้อนหลังและ Correlation ต่อสินทรัพย์พื้นฐาน ของกองทุนตัวอย่างที่ลงทุนในทรัพย์สินทางเลือกแต่ละประเภท Source: FINNOMENA as of 8/2/2023
ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
*กองทุนหลักตัวอย่างอาจหมายถึงกองทุนหลักในต่างประเทศหรือกองทุนอื่นที่บริหารจัดการด้วยผู้จัดการกองทุนรายเดียวกันด้วยกลยุทธ์ที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับกองทุนหลักที่เข้าไปลงทุน แต่อาจมีผลการดำเนินการที่ยาวกว่าหรือ share class ต่างกัน โดยพยายามคัดสรรตัวอย่างจากทางเลือกที่ให้ track record ของผลตอบแทนในอดีตที่ยาวที่สุด ผลตอบแทนในสกุลเงินของกองทุนหลักตัวอย่าง และยังไม่รวมค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆของระดับกองทุนในไทย
ลงทุนในกองทุน UI ที่มีความเสี่ยงระดับ 8+ เพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน
สำหรับนักลงทุนที่สนใจโอกาสการลงทุนสุดพิเศษเหนือใคร สามารถเข้าถึงทรัพย์สินทางเลือกเหล่านี้ได้ผ่านกองทุนรวม UI หรือกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra Accredited Investor Mutual Fund) ที่ FINNOMENA House of UI Funds
ที่ FINNOMENA House of UI Funds นักลงทุนจะได้เข้าถึงกองทุน UI จากหลากหลาย บลจ. ครอบคลุมทุกสินทรัพย์นอกกระแส ที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเป็นกลางอิงตามผลงานที่โดดเด่น พร้อมบริการให้คำปรึกษาและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจาก FINNOMENA Investment Team เสมือนมีทีมผู้เชี่ยวชาญดูแล
เปิดประสบการณ์ลงทุนใน Private Assets สำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth) เอกสิทธิ์แห่งการลงทุนที่หาไม่ได้ในสินทรัพย์ทั่วไป
เปิดประสบการณ์การลงทุนเหนือระดับ ในสินทรัพย์ทางเลือกใหม่ เอกสิทธิ์เฉพาะนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ
👉 ลงทะเบียน คลิก >>> https://finno.me/ui-fb
อ้างอิง
- https://am.jpmorgan.com/us/en/asset-management/adv/insights/market-insights/guide-to-alternatives/?utm_source=jpmam-organicsocial-li&utm_medium=na-3q22guidetoalternatives&utm_campaign=us-en-f-&utm_content=video
- https://advisor.visualcapitalist.com/the-projected-growth-of-alternative-assets
- https://investments.yale.edu/reports
คำเตือน
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | สำหรับกองทุน UI จะเสนอขายเฉพาะผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษเท่านั้น โดยกองทุนประเภทนี้เป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงหรือซับซ้อน และไม่ถูกจำกัดความเสี่ยงด้านการลงทุนเช่นเดียวกับกองทุนรวมทั่วไป จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่รับผลขาดทุนได้ในระดับสูงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนทำการลงทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”