Bitcoin ได้รับคำนิยามจากผู้คนในวงการคริปโตเคอร์เรนซีว่าเป็นทองคำดิจิทัลครับ ด้วยคุณลักษณะที่คล้ายคลึงกับทองคำในโลกความเป็นจริงที่มีปริมาณอุปทานจำกัด ทำให้หลาย ๆ คนเชื่อว่า BTC เป็นสิ่งที่สามารถทำหน้าที่กักเก็บมูลค่า (store of value) ได้ดีไม่แพ้กับทองคำครับ ทำให้ Bitcoin ในปัจจุบันเป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากบล็อกเชนของ Bitcoin ใช้กลไกฉันทามติ Proof-of-Work ทำให้การจะได้มาซึ่ง BTC ใหม่ จะต้องแข่งขันกัน “ขุด” เพื่อให้ได้สิทธิในการเขียนบล็อกใหม่ลงบนบล็อกเชนของ Bitcoin ครับ ซึ่งการแข่งขันในปัจจุบันถือว่าสูงมาก ๆ คนที่สนใจจะขุด BTC จะต้องมีคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง (เกือบทั้งหมดเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อขุด BTC โดยเฉพาะ) ซึ่งคอมพิวเตอร์กลุ่มนี้มีราคาที่สูงพอสมควรครับ ทำให้การขุด BTC ไม่ใช่เรื่องที่ทุก ๆ คนจะสามารถทำได้ เนื่องจากปัจจัยเรื่องต้นทุนราคาครับ
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ BTC เป็นที่ยอมรับของผู้คนในวงกว้าง คือกลไกฉันทามติ Proof-of-Work ที่ตามทฤษฎีแล้วถือว่าทำให้บล็อกเชนมีความปลอดภัยสูง มีความเสี่ยงที่จะโดนเจาะระบบและถูกควบคุมต่ำ เมื่อเทียบกับบล็อกเชนที่ใช้กลไกฉันทามติ Proof-of-Stake อย่างเช่น Polygon, Polkadot, Cardano และ Ethereum เวอร์ชันใหม่ที่เพิ่งถูกอัปเกรดไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ครับ เนื่องจากมีจุดแข็งด้านความปลอดภัย แต่มีข้อจำกัดในเรื่องต้นทุน ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งมองหาทางเลือกคริปโตเคอร์เรนซีตัวอื่น ที่ใช้กลไกฉันทามติ Proof-of-Work เหมือน Bitcoin แต่มีต้นทุนการขุดที่ต่ำกว่าครับ ซึ่งหลาย ๆ คนจะมองมาที่ Litecoin เป็นตัวแรก ๆ เนื่องจากเป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีไม่กี่ตัวในปัจจุบันที่มีอายุเกิน 10 ปี และมีฐานผู้ใช้งานที่กว้างขวางระดับหนึ่ง วันนี้ผมจะพาทุก ๆ คนมาทำความรู้จักกับ Litecoin และการใช้งานต่าง ๆ ของตัวบล็อกเชนกันครับ
History of Litecoin
Litecoin ถูกสร้างขึ้นโดย Charlie Lee ครับ Charlie จบการศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) และเคยทำงานเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ Google และเคยเป็นพนักงานของ Coinbase มาก่อนครับ โดยจุดเริ่มต้นของ Litecoin เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2011 ที่ Charlie ได้รู้จัก Bitcoin และเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของอิสรภาพของการใช้เงิน (freedom of money) ครับ หลังจากนั้น Charlie จึงเริ่มศึกษา Bitcoin และคริปโตเคอร์เรนซีตัวอื่น ๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้น และในเดือนตุลาคม 2011 Charlie ได้สร้างสกุลเงินของตนเองโดยได้แรงบันดาลใจมาจาก Bitcoin และตั้งชื่อว่า Litecoin ครับ ซึ่ง Charlie ตั้งใจออกแบบให้โครงสร้างของ Litecoin กินพื้นที่น้อยกว่า Bitcoin เพื่อให้สามารถถูก “ขุด” ได้โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไปครับ โดย Charlie เปรียบเทียบว่า ถ้าหาก Bitcoin เปรียบเสมือนสิ่งที่มีไว้กักเก็บมูลค่า (store of value) Litecoin จะเป็นตัวกลางสำหรับการส่งผ่านมูลค่า (mean of payment) ที่ผู้คนจะใช้ชำระสำหรับการซื้อสินค้าหรือบริการในชีวิตประจำวันครับ
การที่ Litecoin ถูกพัฒนาโดยมีต้นแบบมาจาก Bitcoin ทำให้โครงสร้างบล็อกเชนและกลไกการทำงานมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก และ Bitcoin เองได้รับสมญานามว่าเป็นทองคำดิจิทัล (digital gold) ทำให้หลายคนขนานนาม Litecoin ว่าเป็นแร่เงินดิจิทัล (digital silver) ครับ เนื่องจากความคล้ายคลึงกันของ Bitcoin กับ Litecoin เปรียบได้กับความคล้ายคลึงกันของแร่ทองคำกับแร่เงินในโลกความเป็นจริงครับ
Litecoin ถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่มีการขุดล่วงหน้า (pre-mined) หมายความว่าในจุดเริ่มต้น Charlie และทีมพัฒนาคนอื่น ๆ ของ Litecoin ไม่ได้ครอบครอง LTC ซึ่งเป็นโทเคนของบล็อกเชน Litecoin แต่อย่างใด แต่เขาและคนอื่น ๆ ในทีมก็แข่งกันขุด LTC ร่วมกับผู้ใช้งานคนอื่น ๆ โดยไม่มีข้อได้เปรียบใด ๆ ครับ และในปัจจุบัน Charlie เองไม่ได้ถือครอง LTC เลยสักเหรียญเดียว (ขายทิ้งไปหมดแล้วตั้งแต่ปี 2017) โดยเขาให้เหตุผลว่าถ้าเขาถือครอง LTC สิ่งที่เขาพูดหรือการกระทำของเขาจะสามารถชี้นำความเป็นไปของโปรเจกต์ Litecoin ได้ไม่ว่าเขาจะตั้งใจหรือไม่ เขาจึงขาย LTC ทิ้งทั้งหมด เนื่องจากไม่อยากให้การกระทำหรือคำพูดใด ๆ ของตนมีผลต่อการพัฒนาของ Litecoin ในอนาคตครับ
Technology
ตามที่กล่าวไปครับว่า Charlie สร้าง Litecoin โดยมีแรงบันดาลใจมาจาก Bitcoin และชุดโปรแกรมหลาย ๆ ส่วนของ Litecoin ก็ถูกนำมาจาก Bitcoin ครับ นั่นทำให้กลไกของ Litecoin มีความคล้ายคลึงกับ Bitcoin พอสมควร แต่ก็ยังมีความแตกต่างในบางมุมครับ
Consensus Mechanism
สิ่งหนึ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนคือ Bitcoin ใช้กลไกฉันทามติ Proof-of-Work พร้อมกับฟังก์ชัน SHA-256 ในการเข้ารหัสข้อมูล แต่ Litecoin ใช้กลไกฉันทามติ Proof-of-Work แบบดัดแปลงที่ชื่อว่า SCrypt ครับ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้การขุด LTC ซึ่งเป็นโทเคนประจำบล็อกเชนของ Litecoin สามารถทำได้ผ่านคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานทั่วไป (ในการขุด BTC จะต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ๆ ซึ่งในปัจจุบันก็มีบริษัทหลายแห่งที่ผลิตคอมพิวเตอร์เพื่อขุด BTC โดยเฉพาะ) ซึ่งการดัดแปลงดังกล่าวช่วยให้การขุด LTC สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเพิ่มความกระจายศูนย์ (decentralization) ให้กับ Litecoin ได้ครับ
การออกแบบดังกล่าวทำให้ Litecoin มีต้นทุนการทำธุรกรรมที่ถูกกว่า และใช้เวลาในการประมวลผลบล็อกเชนเร็วกว่า Bitcoin ครับ โดยปกติแล้วการทำธุรกรรมบน Litecoin มีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ไม่เกิน 2 บาท และใช้เวลาประมาณ 2.5 นาทีเท่านั้น เทียบกับ Bitcoin ที่มีค่าธรรมเนียมประมาณ 60 บาทต่อธุรกรรม และใช้เวลาประมาณ 10 นาที (ข้อมูลจาก Blockchain.com ในเดือนธันวาคม 2022) ถือว่าบล็อกเชนของ Litecoin มีประสิทธิภาพสูงกว่า Bitcoin พอสมควรเลยครับ
SegWit
SegWit หรือ Segregated Witness เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบล็อกเชนโดยป้องกันการเขียนข้อมูลส่วนเกินลงบนบล็อกครับ ทำให้แต่ละบล็อกสามารถบรรจุข้อมูลธุรกรรมให้เยอะขึ้น ส่งผลเชิงบวกโดยตรงต่อจำนวนธุรกรรมที่บล็อกเชนสามารถประมวลผลได้ต่อวินาที (transactions per second; tps) ครับ โดย SegWit ถูกเปิดใช้งานในบล็อกเชนของ Litecoin ในเดือนพฤษภาคม 2017 (ก่อน Bitcoin เสียอีก) ครับ
Lightning Network
Lightning Network เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยี scaling solution ที่ช่วยเพิ่ม tps ให้กับบล็อกเชนครับ โดยหลักการคือ Lightning Network จะเปิดการเชื่อมต่อระหว่างสองกระเป๋าเงินใด ๆ ซึ่งการเชื่อมต่อดังกล่าวจะบรรจุธุรกรรมกี่ธุรกรรมก็ได้ ในจังหวะที่ทำการปิดการเชื่อมต่อ จะมีเพียงมูลค่าการทำธุรกรรมสุทธิของแต่ละกระเป๋า (ที่เกิดจากทุก ๆ ธุรกรรมในการเชื่อมต่อดังกล่าวรวมกัน) ที่ถูกบันทึกลงบนบล็อกเชนครับ กระบวนการดังกล่าวทำให้บล็อกเชนมีความเร็วสูงขึ้นมาก เนื่องจากบันทึกธุรกรรมสุทธิเพียงครั้งเดียว แทนที่จะบันทึกทุก ๆ ธุรกรรมที่เกิดขึ้นครับ บล็อกเชนของ Litecoin รองรับการใช้งาน Lightning Network ด้วยเช่นกันครับ
Mimblewimble
เป็นโปรโตคอลที่ถูกเพิ่มเข้ามาในบล็อกเชนของ Litecoin โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มความเป็นส่วนตัว (privacy) ให้กับผู้ใช้งานครับ โปรโตคอลนี้ถูกเสนอโดยนักพัฒนาที่ไม่เปิดเผยตัวตนในปี 2018 และเป็นโปรโตคอลเดียวกันกับที่ใช้ใน Grin ซึ่งเป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความเป็นส่วนตัวโดยเฉพาะครับ
Mimblewimble จะทำการซ่อนที่อยู่กระเป๋าที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทั้งหมด ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยจะมีเพียงมูลค่าของโทเคนที่ถูกส่งเท่านั้น ความแตกต่างของ Mimblewimble ใน Litecoin กับโปรโตคอลดังกล่าวบน Grin คือผู้ใช้งาน Litecoin สามารถเลือกที่จะเปิดหรือปิดคุณสมบัติเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวก็ได้ (ไม่เหมือน Grin ที่ทุก ๆ ธุรกรรมจะมีคุณสมบัตินี้แบบบังคับ) โดย Litecoin ใช้เทคโนโลยีที่ชื่อว่า extension blocks ซึ่งทำงานคล้ายคลึงกับการมี side chain หรือ layer-2 scaling ของบล็อกเชนอื่น ๆ ครับ วิธีการคือสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการทำธุรกรรมแบบมีคุณสมบัติความเป็นส่วนตัว สามารถส่งโทเคนไปยัง Mimblewimble extension chain ซึ่งเป็นบล็อกเชนที่ทำงานคู่ขนานไปกับบล็อกเชนของ Litecoin ครับ ซึ่ง extension chain ดังกล่าวก็จะมีการตรวจสอบความถูกต้องร่วมกับบล็อกเชนหลักอยู่ตลอดเวลาครับ
ความพิเศษอีกหนึ่งอย่างของ Mimblewimble คือการทำธุรกรรมบน Mimblewimble หนึ่งครั้งสร้างข้อมูลปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นั่นทำให้ปริมาณทรัพยากรที่ต้องใช้สำหรับการเขียนบล็อกลดลง ส่งผลให้การทำธุรกรรมบน Mimblewimble มีความเร็วมากกว่าการทำธุรกรรมบนบล็อกเชนหลักถึง 2 เท่าครับ นอกจากนี้การที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกเปิด-ปิดความเป็นส่วนตัว ทำให้ Litecoin มีความเสี่ยงที่จะถูกนำออกจากกระดานเทรดแบบรวมศูนย์ (centralized exchange) ต่ำกว่าคริปโตเคอร์เรนซีตัวอื่นที่มีคุณสมบัติความเป็นส่วนตัว (เช่น Monero และ ZCash) ครับ เนื่องจากบล็อกเชนที่มีความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานจะทำให้การตรวจสอบประวัติการทำธุรกรรมของแต่ละกระเป๋าเป็นไปได้ยาก ทำให้กระดานเทรดหลายแห่งเลือกที่จะไม่ list โทเคนของบล็อกเชนเหล่านี้ เพื่อป้องกันความยุ่งยากในการตรวจสอบในกรณีที่มีความผิดปกติใด ๆ ครับ
Governance
ชุดโปรแกรมของ Litecoin เป็นแบบ open source และถูกเก็บไว้ใน GitHub ครับ และทุก ๆ คนสามารถเสนอร่างการพัฒนาโปรเจกต์ได้ โดยร่างการพัฒนาดังกล่าวจะใช้ชื่อว่า Litecoin Improvement Proposal (LIP) ครับ ซึ่งทุก ๆ ร่างที่ถูกเสนอจะผ่านการหารือกันภายในชุมชนผู้ใช้งาน Litecoin และท้ายที่สุดจะเป็นหน้าที่ของทีมพัฒนา Litecoin ที่จะตอบรับหรือปฏิเสธร่างการพัฒนาดังกล่าว ตามความคิดเห็นของชุมชนผู้ใช้งานครับ
LTC
เป็นโทเคนประจำบล็อกเชนของ Litecoin ครับ โดยมีปริมาณอุปทานสูงสุดอยู่ที่ 84 ล้านเหรียญ การได้มาซึ่ง LTC ใหม่จะต้องทำการ “ขุด” หรือตรวจสอบธุรกรรมในบล็อกเชนของ Litecoin และเมื่อนักขุดสามารถแก้โจทย์คณิตศาสตร์และเขียนบล็อกใหม่ลงบนบล็อกเชนของ Litecoin ได้ ก็จะได้รับ LTC เป็นค่าตอบแทนครับ ค่าตอบแทนดังกล่าวเกิดขึ้นจากสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ LTC ที่ผลิตขึ้นมาใหม่ และอีกส่วนคือค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ได้จากผู้ใช้งานครับ
การแจก LTC เป็นค่าตอบแทนการเขียนบล็อกใหม่ จะลดลงครึ่งหนึ่ง (halving) ทุก ๆ 840,000 บล็อก ซึ่งจะกินระยะเวลาประมาณ 4 ปี (ใช้กลไกเดียวกันกับ Bitcoin และมีระยะเวลาการ halving ที่ใกล้เคียงกันมาก ๆ) โดยในบล็อกแรกของบล็อกเชน Litecoin ในปี 2011 มีการผลิต LTC 100 โทเคนต่อบล็อก ปัจจุบันบล็อกเชน Litecoin ผ่านการ halving ไปแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2015 และ 2019 และปัจจุบันมี LTC ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ 12.5 โทเคนต่อบล็อกครับ
และเมื่อ LTC ถูกผลิตขึ้นมาครบ 84 ล้านเหรียญแล้ว การเขียนบล็อกใหม่บนบล็อกเชนของ Litecoin จะได้รับค่าตอบแทนจากค่าธรรมเนียมธุรกรรมเพียงอย่างเดียว และในส่วนของการใช้งาน LTC จะมาจากการใช้ชำระเป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรมครับ ในปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2023) อ้างอิงจาก CoinGecko LTC มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 16 ในบรรดาคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมดครับ
Adoption
เราสามารถชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วย LTC ได้ในร้านค้าหลายหมื่นร้านทั่วโลกครับ โดยร้านค้าส่วนใหญ่ที่รับชำระด้วย LTC ตั้งอยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ นอกจากนี้ยังมีตู้ ATM กว่า 25,000 แห่งทั่วโลกที่เราสามารถ “ซื้อ” LTC โดยชำระเป็นสกุลเงิน fiat ได้ครับ (สำหรับข้อมูลตู้ ATM ที่อัปเดตล่าสุด สามารถติดตามได้ที่ CoinATMRadar ครับ)
ในส่วนของการชำระเงินแบบออนไลน์ ก็มีแอปพลิเคชัน e-payment ชื่อดังอย่าง Revolut ที่รับชำระด้วย LTC ครับ
Concerns
ถึงแม้ Litecoin เป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่มีชื่อเสียงในวงกว้างมาอย่างยาวนาน และดูเหมือนจะเป็นโปรเจกต์ที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ ถึงอย่างนั้น Litecoin เองก็มีประเด็นบางจุดที่ทุก ๆ คนควรทราบครับ
SCrypt ASIC Miner
ถึงแม้ในจุดเริ่มต้น Litecoin จะถูกออกแบบมาพร้อมกับเทคโนโลยี SCrypt เพื่อให้ผู้คนสามารถขุด LTC ได้ด้วยคอมพิวเตอร์ทั่วไป (ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องขุดเฉพาะเหมือน BTC ที่ต้องใช้ ASIC miner) อย่างไรก็ดี บริษัทผู้พัฒนาเครื่องขุด ASIC Miner หลาย ๆ แห่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับขุดบล็อกเชนที่ใช้กลไกฉันทามติ SCrypt โดยเฉพาะ (เรียกว่า SCrypt miner) เรียบร้อยแล้วครับ ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไปในปัจจุบัน แน่นอนว่า SCrypt miner เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีพลังในการขุดบล็อกเชน Litecoin สูงกว่าคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานทั่วไป ประเด็นดังกล่าวทำให้ผลตอบแทนจากการใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปในการขุดบล็อกเชน Litecoin ในปัจจุบันลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดครับ
Regulation
ไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่รัฐบาลและธนาคารกลางของหลาย ๆ ประเทศจะไม่สนับสนุนการมีอยู่ของ privacy coin นะครับ เราเห็นข่าวหน่วยงานกำกับดูแลในหลาย ๆ ประเทศ ทำการแบนการซื้อขาย privacy coin อย่างเช่น XMR (Monero), ZEC (ZCash) รวมถึงโปรโตคอลที่ลดความสามารถในการติดตามประวัติการทำธุรกรรมอย่าง Tornado Cash มาแล้ว การทำธุรกรรมผ่านบล็อกเชนหรือโปรโตคอลเหล่านี้ ช่วยให้การติดตามประวัติต่าง ๆ ทำให้ยากขึ้นครับ
ถึงแม้ Litecoin เองจะไม่ได้เป็น privacy coin ด้วยตัวเอง แต่การมีอยู่ของ Mimblewimble ก็ช่วยให้ผู้ใช้งาน Litecoin สามารถปกปิดข้อมูลส่วนหนึ่งจากการมองเห็นของผู้ใช้งานอื่น ๆ ได้ ถึงแม้ว่า Litecoin เองจะมีความเสี่ยงต่ำกว่า privacy coin เนื่องจากไม่ได้มีฟังก์ชันความเป็นส่วนตัวที่ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกันกับตัวบล็อกเชน (ผู้ใช้งานสามารถเลือกปิดฟังก์ชันความเป็นส่วนตัวและเปิดเผยข้อมูลการทำธุรกรรมได้) แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยงในการถูกแบนจากหน่วยงานภาครัฐเลยครับ
นอกจากนี้การที่ผู้ใช้งานสามารถซื้อ LTC ได้จากตู้ ATM หลายหมื่นแห่งทั่วโลก ก็ทำให้ Litecoin ตกเป็นเป้าหมายของหน่วยงานกำกับดูแลเช่นกัน เนื่องจากตู้ ATM หลาย ๆ แห่งอนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อ LTC ด้วยเงินสดได้ และไม่ต้องมีการยืนยันตัวตนใด ๆ ซึ่งการทำธุรกรรมด้วยเงินสดเป็นการทำธุรกรรมทางการเงินที่ติดตามได้ค่อนข้างยากอยู่แล้ว เนื่องจากไม่ได้มีการระบุตัวตนผู้ทำธุรกรรมเหมือนการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิตหรือคริปโตเคอร์เรนซีครับ ทำให้มีโอกาสสูงที่ LTC จะถูกใช้เป็นตัวกลางในการส่งผ่านมูลค่าของมิจฉาชีพที่ตั้งใจจะปกปิดประวัติการทำธุรกรรมของตนครับ
Summary
ถ้าหากย้อนเวลาไปสักสิบปีที่แล้วที่ยังเป็นยุคเริ่มต้นของ Bitcoin ซึ่งเป็นคริปโตเคอร์เรนซีตัวแรก ในยุคนั้นมีโปรเจกต์คริปโตถูกสร้างขึ้นมาไม่น้อยครับ แต่มีอยู่เพียงไม่กี่โปรเจกต์เท่านั้นที่ยังอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน Litecoin ถือเป็นหนึ่งในนั้นครับ การที่ตัวโปรเจกต์สามารถผ่านมรสุมคริปโตในอดีตมาได้ทุกครั้ง สื่อถึงความแข็งแกร่งของตัวโปรเจกต์และชุมชนผู้ใช้งานของ Litecoin ได้เป็นอย่างดีครับ แต่ถึงอย่างนั้นตัวโปรเจกต์เองก็ยังมีประเด็นในหลาย ๆ ด้านที่ต้องติดตามครับ โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมจากหน่วยงานกำกับดูแล ที่เริ่มมีความหนักแน่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่มีการเปิดใช้งาน Mimblewimble ซึ่งเป็นคุณลักษณะด้านความเป็นส่วนตัวบน Litecoin ครับ Mimblewimble ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลของหลาย ๆ ประเทศเริ่มติดตามแนวทางการพัฒนาของ Litecoin และมีบางส่วนที่เริ่มมีความพยายาม แบน LTC ออกจากการซื้อ-ขายภายในประเทศแล้วครับ เนื่องจากมีคุณลักษณะเรื่องความเป็นส่วนตัว และมีฐานผู้ใช้งานที่กว้างขวาง ทำให้มีโอกาสสูงที่ Litecoin จะถูกใช้งานโดยผู้ไม่หวังดีครับ แต่ถึงจะมีข้อควรระวังดังกล่าว Litecoin เองก็สามารถผ่านมรสุมคริปโตเคอร์เรนซีมาได้หลายครั้งแล้วนะครับ และถ้าหากมีมรสุมเกิดขึ้นอีกในอนาคต Litecoin เองก็มีชุมชนผู้ใช้งานที่แข็งแกร่งพอที่จะดำเนินต่อไปได้ครับ
Further Read:
- Official Website: https://litecoin.org/
- Official Roadmap: https://www.litecoinroadmap.com/
- Lightning Network: https://cointelegraph.com/altcoins-for-beginners/beyond-bitcoin-lightning-network-altcoins-with-lightning-network-support
- Mimblewimble: https://www.elliptic.co/blog/explaining-mimblewimble-the-privacy-upgrade-to-litecoin#:~:text=MimbleWimble%2C%20named%20after%20the%20tongue,network%20on%20May%2019th%202022
CodeBreaker
ที่มาบทความ: https://link.medium.com/C2Yr0FEJXxb
คำเตือน
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้