ทุกยุคทุกสมัย มักมีธีมการลงทุนหมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่ตลอด
ตั้งแต่ธีมญี่ปุ่นช่วงค.ศ. 1990 หุ้น Internet ช่วงปี 2000 กลุ่มธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐและยุโรปในปี 2007 BRIC ในช่วงค.ศ. 2011 มาจนถึง FAANG สหรัฐในทศวรรษ 2010s
สำหรับปี 2023 นักลงทุนหลายท่านเริ่มสังเกตเห็นว่าธีมลงทุนในหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน ยุโรป หรือ Emerging Markets ทยอยทำผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่นกว่าหุ้นสหรัฐ
นักลงทุนเรียกธีมเหล้าเก่าในขวดใหม่เหล่านี้ว่า Rest Of World หรือย่อสั้นๆ ว่า ROW และเริ่มมีหลายสำนักมองว่า ROW จะกลายเป็นการลงทุนชั้นนำแห่งทศวรรษ เราจึงควรศึกษากลุ่ม ROW ว่าประกอบด้วยการลงทุนใด มีเหตุผลแค่ไหน และอะไรความเสี่ยงหรือโอกาสทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ROW ที่สำคัญที่สุดคือ “หุ้นจีน” ที่มาพร้อมกับฉากจบนโยบาย Zero-Covid มุมมองการลงทุนพลิกเป็นบวกฉับพลัน
ย้อนกลับไปปลายปี 2022 จะพบว่าดัชนีหุ้นจีนทั้ง CSI 300 และ Hang Seng China Enterprises Index กลับตัวทำผลตอบแทนขึ้นนำ S&P500 กว่า 10 และ 30% ตั้งแต่สิ้นสุดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นต้นมา
ในระยะสั้น ด้วยการผ่อนคลายนโยบาย Zero-Covid ตลาดมองว่ารายได้ของหุ้นจีน A-Share จะกลับไปเติบโตได้ถึง 25% ขณะที่ฝั่ง H-Share รายได้อาจไม่หดตัว ถ้าเกิดขึ้นจริงหุ้นจีนจะเป็นหนึ่งในการลงทุนที่น่าสนใจมากกว่าสหรัฐที่กำลังถูกกดดันด้วยดอกเบี้ยสูง
ในอนาคต ตลาดคาดหวังว่าจีนจะเป็นหัวหอกของ ROW เนื่องจากมีการเติบโตที่สูงกว่าและ Valuation ที่ถูกกว่าสหรัฐ
ความเสี่ยงที่ต้องจับตาหลักจึงเป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ และโครงสร้างหนี้ที่อาจทำให้จีนติดกับวิกฤติเศรษฐกิจเช่นเดียวกับญี่ปุ่นในอดีต
ต่อมาคือการลงทุนใกล้สหรัฐอย่าง “ยุโรป” ได้แรงหนุนทั้งจากความร่วมมือทางการเมืองและเงินยูโรที่แข็งค่า
การลงทุนในหุ้นยุโรปเป็นแนวโน้มใหญ่ที่ underperform หุ้นสหรัฐมาตั้งแต่ปี 2010 การกลับตัวขึ้นนำของ STOXX600 เทียบกับ S&P500 กว่า 10% ตั้งแต่ปลายปี อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนรอบใหม่ที่ยิ่งใหญ่และยาวนานไม่แพ้กัน
จุดสำคัญที่คาดว่าจะทำให้หุ้นยุโรปกลายเป็น ROW ที่น่าสนใจได้ คือความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ที่เห็นได้ชัดจากการร่วมต่อสู้กับวิกฤติพลังงาน
ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง สร้างความเชื่อมั่น หนุนเงินยูโรแข็งค่า ส่งผลด้านบวกกับ Valuation และลดความผันผวนของรายได้ไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ดี ยุโรปเป็น ROW ที่ไม่ได้มีการเติบโตของรายได้สูงกว่าสหรัฐมาก ความเสี่ยงหลักจึงเป็นเรื่องการแข่งขัน เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด และกฎเกณฑ์ทางธุรกิจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
กลุ่มสุดท้ายคือ”Emerging Markets“ ที่มักฟื้นตัวได้ดีในช่วงที่นโยบายการเงินสหรัฐและค่าเงินดอลลาร์ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
ดัชนี Global EM Aggregate ในสกุลเงิน USD เอาชนะ US Global Aggregate ได้ถึง 5% ตั้งแต่ดอลลาร์เข้าสู่โหมดอ่อนค่าและยีลด์สหรัฐติดแนวต้านในเดือนตุลาคม 2022
การกลับตัวของดอลลาร์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นหลายครั้งในอดีต เช่น ก.ย. 1998 ก.พ. 2002 หรือ มี.ค. 2009 ทุกครั้งจะหนุนให้มีเงินลงทุนเคลื่อนตัวจาก Developed Market มาที่ EM กลายเป็นกระแสการลงทุนรอบใหม่
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องระวังไม่ต่างจากในอดีต คือความผันผวนของรายได้ที่สูง และระดับ Valuation ที่ปรับตัวขึ้นได้ยาก เนื่องจาก พื้นฐานของ EM ส่วนใหญ่เป็น Commodity Economy
ถึงตรงนี้นักลงทุนคงเข้าใจส่วนประกอบ โอกาสและความเสี่ยงของธีม ROW แล้ว คำถามต่อมาคือ เราควรปรับพอร์ตรับธีมลงทุน ROW นี้อย่างไร
จุดแรก ผมมองว่าธีม ROW เน้นถึงความสำคัญของการกระจายการลงทุน
เพราะ ROW ประกอบด้วยหลายกลุ่มการลงทุนที่มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน จึงเป็นจังหวะที่ดีที่เราจะลดการกระจุกตัวของพอร์ต นอกจากจะได้ลุ้นกับการฟื้นตัวของ ROW แล้วยังได้ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงอีกด้วย
สอง ROW ชี้ให้เห็นว่าบอนด์อาจเป็นมากกว่าการลดความเสี่ยงของพอร์ต
บทที่ชัดเจนมากคือการสร้างผลตอบแทน เพราะจุดเริ่มต้นของ ROW อยู่บนดอกเบี้ยที่สูง อนาคตถ้าเศรษฐกิจดี ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ก็จะต่ำ แต่ถ้าเศรษฐกิจแย่ ก็จะได้แรงหนุนจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินมาแทน เป็นจังหวะที่หาผลตอบแทนได้ทั้งขาขึ้นและขาลง
อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญของธีม ROW คือ Valuation
เพราะการลงทุนในและนอกสหรัฐ มีความแตกต่างสำคัญที่สุดอยู่ที่ระดับ P/E Multiple ชัยชนะของ ROW ในทศวรรษที่จะถึงนี้ อาจเป็นไปได้ทั้งจากการเพิ่มขึ้นของ Multiple ของหุ้นทั่วโลกไปสู่ระดับเดียวกับสหรัฐ แต่ก็อาจเป็นไปได้เช่นกันที่จะเกิดจาก Valuation ของสหรัฐ ลดลงมาเท่ากับที่อื่นของโลก นักลงทุนจึงต้องจับตาตลาด และประเมินสถานการณ์ให้ดี ว่าเหตุการณ์ใดกันแน่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ROW หรือ Rest Of World จะชนะการลงทุนแห่งทศวรรษก่อนอย่างหุ้นสหรัฐไปได้ไกลแค่ไหน เราจะได้ติดตามไปพร้อมกันตั้งแต่นี้เป็นต้นไปครับ
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์