มุมมองตลาดปัจจุบัน
ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวต่อเนื่องหลังอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐชะลอลงและเฟดเริ่มชะลอความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี เฟดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจปรับตัวขึ้นยาวนานกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ และอาจจะไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยในปี 2566 กอปรกับตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/65 ของสหรัฐออกมาแข็งแกร่งกว่าที่คาดมาก เฟดจึงมีความยืดหยุ่นในการคุมเข้มทางการเงินมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างจำกัด
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการที่จีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นก็ตาม โดยล่าสุดทางการจีนประกาศลดระดับความรุนแรงของโควิด และให้ผู้ที่เดินทางเข้าจีนไม่ต้องรับการกักตัว มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566 ซึ่งเป็นการเปิดประเทศเร็วกว่าที่ตลาดคาดมาก
สำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลก โดยได้แรงหนุนจากการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด การทยอยลดมาตรการสกัดโควิดของจีน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง
ในส่วนของตราสารหนี้มีการฟื้นตัวต่อเนื่องเช่นกัน หลังอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐชะลอลงมากกว่าที่คาด ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลง
ทั้งนี้มีแนวโน้มที่ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้จะมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังความเสี่ยงจากเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ดี ยังคงมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนฯ ดังนั้น พอร์ตการลงทุนจึงยังคงเน้นลงทุนในกลุ่มหุ้น defensive และลงทุนในหุ้นจีนซึ่งจะได้ประโยชน์จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการสกัดโควิดและเตรียมเปิดประเทศเต็มรูปแบบของจีน
พอร์ตการลงทุน
ที่มา: เอกสารอัปเดตพอร์ต Krungsri The Masterpiece วันที่: 30 ธันวาคม 2022
ที่มา: เอกสารอัปเดตพอร์ต Krungsri The Masterpiece วันที่: 30 ธันวาคม 2022
กองทุนแนะนำสำหรับการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์/ภูมิภาค
กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ
- กองทุนกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลาง – ยาว ยังคงจะเผชิญกับความผันผวนในระดับสูงมากต่อไป จากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็ยค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตามจากการที่ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่ยังคงปรับขึ้น ถึงแม้ว่าอาจจะชะลอได้บ้างตามลำดับจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันสำหรับการลงทุนในกองทุนกลุ่มนี้ไปอีกอย่างน้อยถึงกลางปี 2566 หากธนาคารกลางสหรัฐฯจะสามารถหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้หลังจากการปรับขึ้นสู่ช่วง 5.00% – 5.25% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 อย่างไรก็ตามยังไม่มีแนวโน้มสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในลำดับถัดไป
- ในด้านตลาดตราสารหนี้เอกชน ปัจจุบันมีอัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจ ทำให้กองทุนที่มีการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนสามารถช่วยลดความผันผวนของตลาดลงได้บ้าง โดยคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนยังคงมีความน่าสนใจสำหรับเงินลงทุนระยะยาวที่ไม่ต้องการสภาพคล่องในระยะสั้น อาทิเช่น กองทุน KFAFIX-A ขั้นต่ำ 1 ปีขึ้นไป โดยปัจจุบันกรอบ Duration เฉลี่ยของกองทุน KFAFIX-A = 1.9-2.5 ปี
กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ
- กองทุนเพิ่มอายุเฉลี่ยขึ้นใกล้ระดับ 4 ปี โดยเพิ่มสถานะซื้อบนตราสารหนี้สหรัฐฯระยะกลางมากขึ้น และลดสถานะขายบนตราสารหนี้ในประเทศอังกฤษลงจากการที่ยีลด์ตราสารหนี้อังกฤษเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา และยังเพิ่มสัดส่วนตราสารหนี้ที่ให้คูปองสูง เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยในตลาด
กองทุนตราสารทุนในประเทศ
- กองทุนที่เน้นการเฟ้นหาหุ้นที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละภาวะตลาด มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดีในระยะกลางถึงยาว ตามผลการดำเนินของบริษัทฯที่กองทุนคัดเลือกลงทุน
กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ Developed Market Equity
- กองทุนมีการลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพสูง มีรายได้และกำไรเติบโตสม่ำเสมอ ทำให้กองทุนมีความผันผวน และการปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาด
- ตลาดยุโรปยังคงผันผวน โดยยังมีความเสี่ยงจากเรื่องวิกฤตพลังงานในช่วงปลายปี และโอกาสที่เศรษฐกิจยุโรปจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ ทางธนาคารกลางยุโรปยังคงส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อ โดยกองทุนหลักเน้นลงทุนในหุ้นที่มีการเติบโตที่แข็งแกร่งและสามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อไปให้ผู้บริโภคได้
- ตลาดจีนส่งสัญญาณการฟื้นตัวอีกครั้ง หลังจากทางการจีนเริ่มผ่อนคลายนโยบาย Zero-Covid โดยมีการลดมาตราการกักตัวและการตรวจเชื้อลง อีกทั้งลดการล๊อคดาวน์ในบางพื้นที่ นอกจากนี้ ทางรัฐบาลยังออกมาตรการช่วยเหลือในภาคอสังหา ฯ เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดโดยตลาดจับตามองการประชุมนโยบายในรอบเดือนธันวาคมถึงมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ และทิศทางการผ่อนคลายนโยบาย Zero-Covid ในปีหน้า ซึ่งจะเป็นแรงส่งสำคัญให้ตลาดจีน อย่างไรก็ดีการฟื้นตัวจะยังคงมีความผันผวน โดยแรงกดดันจะมาจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ
KFHHCARE :
- Healthcare เป็นอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเชิงรับ มีพื้นฐานแข็งแกร่ง จึงสามารถช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง อีกทั้งยังมีระดับราคาไม่แพง ในขณะที่กำไรสุทธิมีความผันผวนน้อยกว่าตลาดโดยรวม
- กองทุนลงทุนในกองทุนต่างประเทศ iShares Core S&P 500 ETF โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี S&P 500 Index เพื่อมุ่งหวังผลตอบแทนของกองทุน
ที่มา: เอกสารอัปเดตพอร์ต Krungsri The Masterpiece วันที่: 19 ธันวาคม 2022
คำเตือน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน อาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน อาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ผู้ลงทุนจึงอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้รับชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูลแต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด โทร 0 2657 5757