สืบเนื่องมาจากปัญหาหนี้ในกลุ่มประเทศ PIIGS (โปรตุเกส, ไอร์แลนด์, อิตาลี, กรีซ และ สเปน) ได้สร้างความกังวลให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก จนทำให้จากกำไรที่นักลงทุนทำได้มาตลอดต่อเนื่องตั้งแต่หลัง Subprime Crisis ตอนนี้กลายเป็นแค่ฝันที่ยังรอคอยให้มันเป็นความจริง
ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้ ใครกระจายการลงทุนออกไปต่างประเทศ กลับรู้สึกเหมือนเดินย้ำอยู่กับที่ NAV กองทุนไม่เห็นวิ่งขึ้นเหมือนเก่า แถมทรุดเอาๆด้วยซ้ำไป
ความเสี่ยงอันเกิดจากหนี้ของประเทศดังกล่าวที่สูงขึ้น อาจวัดได้จากอัตราส่วน Debt to GDP แต่นั้นก็ไม่ได้บอกถึงความเสี่ยงทั้งหมดของประเทศดังกล่าว และเพื่อเป็นตัวแทนของนักลงทุนในการหาความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่นักลงทุนไปลงทุน จึงได้เกิดสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือขึ้นมาในตลาดทุนอย่างปัจจุบัน
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency: CRA) ก็คือ บริษัทซึ่งทำหน้าที่ให้บริการจัดอันดับคุณภาพและความเสี่ยงของตราสารประเภทหนี้ หรือของบริษัท หรือองค์การต่างๆ โดยในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้น ทาง CRA แต่ละแห่งจะพิจารณาหลักเกณฑ์ต่างๆที่สำคัญ ตามนี้ครับ
- การจัดการและผลการดำเนินงาน หากเป็นบริษัท จะพิจารณาจากผลกำไรหรือขาดทุนของกิจการ ความสามารถในการชำระคืนหนี้เงินกู้ โครงสร้างในการบริหารงาน การจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ แต่ถ้าเป็นระดับประเทศ CRA จะพิจารณาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความมีเสถียรภาพของค่าเงิน ฐานะการคลัง ตลอดจนภาวะการค้า การลงทุน รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม
- ฐานะทางการเงิน ในระดับธุรกิจ จะพิจารณาจากการหมุนเวียนของกระแสเงินสด โครงสร้างของสินทรัพย์และหนี้สิน เงินสดและทุนสำรอง ส่วนระดับประเทศจะพิจารณาจากสภาพคล่องภายในประเทศ ความเข้มแข็งของระบบการเงินการธนาคาร เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมถึงภาระหนี้ต่างๆ
- ขนาด ในระดับธุรกิจปกติจะพิจารณาจากขนาดของเงินทุนจดทะเบียน สินทรัพย์รวม แรงงาน และการจ้างงาน ซึ่งแสดงถึงความมั่นคงของธุรกิจ ส่วนในระดับประเทศจะพิจารณาที่ขนาดของระบบเศรษฐกิจ ปกติใช้ GDP วัดขนาดกันครับ
- ความเสี่ยงภายนอก อย่างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งในและต่างประเทศ ความมีประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการดำเนินงานของรัฐบาลและราชการที่เกี่ยวข้อง ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงหรือสงคราม ก็ถูกพิขารณาด้วยเช่นกัน
จะเห็นว่า Credit Rating Agency ได้พิจารณาความเสี่ยงไม่ใช่แค่ดูจำนวนหนี้เท่านั้น ดังนั้นนักลงทุนทั่วโลกจึงใช้อันดับเครดิตที่ประเทศหรือบริษัทที่ไปลงทุนนั้นเป็นตัวประกอบการตัดสินใจด้วยนั้นเอง
ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 2 ราย ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ ได้แก่ TRIS (TRIS Rating Co., Ltd) และ Fitch (Fitch Ratings (Thailand) Ltd.) นะครับ แต่สำหรับด้านความเป็นสากล ทั่วโลกจะให้การยอมรับการจัดอันดับของ 3 สถาบันใหญ่ หนึ่งในนั้นก็มี Fitch ด้วย แต่อีก 2 ที่ก็คือ Moody’s Investor Service และ Standard and Poor’s
ที่เราเห็นตามข่าวต่างๆว่าตราสารหนี้ของบางประเทศในยุโรปโดนลดความน่าเชื่อถือ (Downgrade) คำถามคือ แล้ว Rating ต่ำกว่าเท่าไหร่ ถึงจะเรียกได้ว่า “Junk Bond” หรือ “Non-Investment Grade”
ทั้ง Moody’s Investor Service และ Standard and Poor’s กำหนดเอาไว้ชัดเจนครับว่า ตราสารหนี้ตัวไหนที่ได้รับอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า BBB- จะถือว่าเป็น Non-Investment Grade มีความเสี่ยงสูง และผู้ให้กู้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ส่วน Fitch Rating กำหนดให้ตราสารหนี้ที่อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Baa3 จึงจะถือว่าเป็น Non-Investment Grade
อ้าววว แล้วมันต่างกันยังไงอ่ะ ชักงง
เพราะเป็นคนล่ะบริษัท ทำให้ชื่อที่ถูกตั้งขึ้นมาสำหรับอันดับความน่าเชื่อถือแต่ละขั้นจึงต่างกันครับ แต่ทั้ง 3 สถาบัน กำหนดให้ 10 ขั้นแรกของอันดับความน่าเชื่อถือ เป็น Investment Grade ต่ำกว่านั้น จะถือว่าไม่ใช่ ลองไปดูกันว่า เขาเรียงลำดับยังไง (สีเขียวคือ Investment Grade ส่วนสีแดงคือ Non-Investment Grade ครับ)
พอรู้กันแล้วว่าอันดับสูง อันดับไหนต่ำ งั้นก็ลองไปดูการจัดอันดับของทั้ง 3 สถาบันกับตราสารหนี้ระยะยาวของบางประเทศในโลกตอนนี้นะครับ ผมเอาไทยมาเทียบให้ดูด้วยว่า Rating Agency ของเมืองนอก เขามองว่าเราเป็นยังไง
(ข้อมูลล่าสุดเมื่อสิ้นเดือน มิ.ย. 2554)
สำหรับ Rating ของ S&P ประเทศที่มีตัว “u” ข้างหลัง แปลว่า หากยังไม่มีการพัฒนามีเชิงบวกในช่วง 1-2 ปี ข้างหน้า S&P จะ Downgrade ลงมานั้นเองครับ จะเห็นว่า อเมริกา ก็มี “u” ข้างท้าย สำหรับการจัดอันดับ Rating ของ S&P เราเรียกมุมมองตรงนี้ว่า Outlook ซึ่งมีอยู่ 3 ระดับ คือ Positive (อาจเพิ่ม) , Neutral (คงเดิม) และ Negative (อาจลด) ภูมิใจในความเป็นไทยกันนะครับ เราได้รับ Rating ดีกว่ากลุ่ม PIIGS ซะอีก อิอิ (ยกเว้นสเปน)
สุดท้ายนะครับ หากมีเวลานักลงทุนควรติดตามอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ก็ตาม เนื่องจากอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด หากพิจารณาจากหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อข้างต้นแล้ว CRA มีมุมมองที่เปลี่ยนไป
โชคดีในการลงทุนครับ