บล็อกเชนในปัจจุบันมีการใช้งานที่หลากหลายขึ้นนะครับ ในตอนแรกก็อาจจะทำได้แค่โอนโทเคนไป-กลับระหว่างกระเป๋าเงินดิจิทัลสองกระเป๋า ในช่วงถัดมาก็มีการสร้าง smart contract ซึ่งเพิ่มความหลากหลายของการใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนได้หลายเท่าเลยครับ มีแอปพลิเคชัน (ที่เราเรียกกันว่า DApp) จำนวนมาก ไปเปิดบนบล็อกเชนหลาย ๆ บล็อกเชน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คริปโตเคอร์เรนซี ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้คนทั่วไป แต่กลายเป็นเรื่องของนักลงทุนสถาบัน และบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกครับ
ในเดือนสิงหาคม 2022 ผมเชื่อว่าทุกคนที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับวงการเทคโนโลยีหรือคริปโตเคอร์เรนซี คงจะเห็นข่าวที่ Meta ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Facebook ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกับ Oasis Network ซึ่งเป็นบล็อกเชนที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้จัก หรืออาจจะเคยได้ยินชื่อ แต่ก็ไม่ได้รู้ว่าบล็อกเชนนี้มีลักษณะเป็นอย่างไร ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร และการเป็นพันธมิตรกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Meta จะมีเทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้น วันนี้ผมพาทุก ๆ คนมารู้จักกับ Oasis Network กันครับ
What is Oasis Network?
Oasis Network เป็นบล็อกเชน layer-1 ที่ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับคุณลักษณะในการปกป้องความเป็นส่วนตัว (privacy preserving) ของผู้ใช้งานครับ โดย Oasis ถูกออกแบบมาให้มีความสามารถในการประมวลผลธุรกรรมที่สูงและมีความปลอดภัย โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์ของ Oasis ตัวบล็อกเชนของ Oasis มีความเร็วในการประมวลผลธุรกรรมอยู่ที่ 1,000 ธุรกรรมต่อวินาที (tps) ครับ ซึ่งทีมผู้พัฒนา Oasis ก็มีเป้าหมายที่จะให้แอปพลิเคชัน DeFi หรือ Web3 ที่สร้างบน Oasis มีความสามารถในการขยายฐานผู้ใช้งาน (scalability) พร้อมกับความเป็นส่วนตัว (privacy) ได้ครับ ด้วยการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Tokenized Data ทำให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของตัวเอง เหมือนกับโทเคนตัวหนึ่งบนบล็อกเชน และสามารถขายข้อมูลดังกล่าวเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเองก็ได้เช่นกันครับ
Oasis ถูกออกแบบมาให้รองรับการใช้งาน smart contract ในรูปแบบที่ปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลครับ ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวสามารถเพิ่มความหลากหลายของการใช้งานในโลก decentralized finance (DeFi) ได้เยอะเลยครับ หนึ่งตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดคือตลาดการกู้ยืม (lending) บนโลก DeFi ครับ โดยปกติแล้ว แพลตฟอร์มกู้ยืมเงินอย่าง Aave (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Aave ได้ที่นี่) จะใช้วิธีการวางสินทรัพย์ค้ำประกันในมูลค่าที่สูงกว่าวงเงินกู้ (overcollateralization) ครับ เพราะตัวแพลตฟอร์มไม่สามารถประเมินความเสี่ยงของผู้กู้ได้ เนื่องจากไม่ได้มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องมากเพียงพอ แต่ใน Oasis ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มเติมข้อมูลต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการคำนวณเครดิต และนักพัฒนาสามารถออกแบบ smart contract ให้มีแบบจำลองการประเมินความเสี่ยง (risk model) จากข้อมูลชุดดังกล่าวได้ และข้อมูลชุดดังกล่าวก็จะมีความเป็นส่วนตัวสูงครับ
บริษัทผู้พัฒนา Oasis คือ Oasis Labs ครับ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับการสนับนุนจากบริษัท Venture Capital ในวงการคริปโตเคอร์เรนซีหลากหลายแห่ง รวมเป็นมูลค่าการระดมทุนกว่า 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐครับ โดย VC เจ้าดัง ๆ ที่มาลงทุนกับ Oasis ยกตัวอย่างเช่น Pantera Capital, Binance Labs, Winklevoss Capital และ Andreessen Horowitz (a16z) ครับ
Technology
Oasis ถูกพัฒนาด้วย Cosmos SDK ซึ่งเป็นชุดโปรแกรมพัฒนาบล็อกเชนที่ถูกสร้างขึ้นโดย Cøsmos ครับ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Cøsmos ได้ที่นี่) บล็อกเชนของ Oasis จะแยกออกเป็นสองชั้นย่อยด้วยกันครับ นั่นคือ Consensus Layer ที่เป็นชั้นที่เกี่ยวกับกลไกฉันทามติล้วน ๆ กับ ParaTime Layer ที่เกี่ยวกับการคำนวณอื่น ๆ ครับ โดยการออกแบบที่แยกส่วนกลไกฉันทามติออกมาจากการคำนวณอื่น ๆ ส่งผลให้ทีมพัฒนาสามารถออกแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมสำหรับหน้าที่แต่ละอย่างได้ และทำให้ Oasis สามารถประมวลผลธุรกรรมได้ด้วยความเร็วสูงครับ
Consensus Layer
อย่างที่กล่าวไปครับว่า Consensus Layer จะเป็นชั้นที่เกี่ยวข้องกับกลไกฉันทามติ ในชั้นนี้จะมี validator nodes ซึ่งเป็นผู้ใช้งานกลุ่มหนึ่ง ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบธุรกรรม และเขียนบล็อกใหม่ลงบนบล็อกเชนของ Oasis ครับ โดยบล็อกเชน Oasis ใช้กลไกฉันทามติ Proof-of-Stake (PoS) แปลว่า validator จะต้องทำการวางสินทรัพย์บางอย่างเพื่อเป็นหลักประกันในการตรวจสอบธุรกรรม สินทรัพย์นั้นคือโทเคน ROSE ครับ ซึ่งจะกล่าวถึงในส่วนถัดไป โดยในปัจจุบัน Oasis มีจำนวน validator อยู่ทั้งหมด 200 validators ครับ
ParaTime Layer
ย่อมาจาก Parallel Runtime ครับ โดยหลักการคือเป็นชั้นที่มีการคำนวณต่าง ๆ ที่คำนวณไปพร้อมกัน แต่จะแชร์สถานะการคำนวณร่วมกัน การคำนวณที่ว่าก็คือการทำงานของแอปพลิเคชันต่าง ๆ บนบล็อกเชนครับ การที่แอปพลิเคชันสองตัวสามารถทำงานพร้อมกันได้ก็จะทำให้บล็อกเชนมีความสามารถประมวลผลธุรกรรมได้สูงขึ้นครับ ซึ่งการออกแบบดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับโครงสร้างสถาปัตยกรรมของ Polkadot ที่มี parachain ซึ่งเป็นบล็อกเชนหลาย ๆ บล็อกเชนที่สามารถทำงานขนานกันไปได้ครับ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Polkadot ได้ที่นี่) แต่จะมีความแตกต่างสำคัญคือ แต่ละ parachain ของ Polkadot เปรียบเสมือนบล็อกเชนอันหนึ่ง ที่มีกลไกฉันทามติเป็นของตัวเอง และกระบวนการทุก ๆ อย่างจะจบภายใน parachain ของตัวเอง แต่ ParaTime ของ Oasis จะอ้างอิงกลไกฉันทามติและการเขียนบล็อกใหม่จาก Consensus Layer ของ Oasis ครับ ทำให้นักพัฒนาที่จะสร้าง ParaTime ใหม่ ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงการออกแบบกลไกฉันทามติ และสามารถโฟกัสกับการพัฒนาการใช้งานของ ParaTime ได้ โดยในปัจจุบัน Oasis จะมีจำนวน ParaTime ที่ทำงานพร้อมกันได้มากที่สุด 1,000 ParaTimes ครับ
โดยในปัจจุบันมี ParaTime ทั้งหมดสามตัวด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดถูกพัฒนาโดยทีมผู้พัฒนา Oasis ครับ
- Emerald ParaTime เป็น ParaTime ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาของ Ethereum ครับ อย่างที่พวกเราทุกคนทราบดีว่า Ethereum ในปัจจุบันมีค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม (gas) ที่สูง Emerald แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้งาน Ethereum Virtual Machine (EVM) บนบล็อกเชนของ Oasis ครับ ทำให้ค่า gas ที่แต่เดิมอ้างอิง gas บน Ethereum ถูกเปลี่ยนมาอ้างอิง gas บน Oasis ซึ่งถูกกว่าหลายเท่าตัวครับ และการใช้งาน EVM ทำให้แอปพลิเคชันที่ทำงานอยู่บนบล็อกเชนของ Ethereum สามารถมาเปิดใช้งานบน Emerald ParaTime ได้ครับ
- Cipher ParaTime เป็น ParaTime ที่เน้นคุณลักษณะความเป็นส่วนตัว (privacy) ซึ่งเป็นจุดเด่นของ Oasis ครับ มีความเร็วในการประมวลผลธุรกรรมที่สูง มีค่าธรรมเนียมที่ถูก และมีคุณสมบัติป้องกันการทำ front-running ภายในกระดานเทรดกระจายศูนย์ (decentralized exchange) อีกด้วยครับ
- Parcel ParaTime เป็น ParaTime ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการเก็บข้อมูลโดยเฉพาะ โดยทีมพัฒนาของ Oasis กล่าวว่า Parcel ใช้เก็บข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ข้อมูลธุรกรรมทั่วไป ไปจนถึงข้อมูลพันธุกรรมของมนุษย์เลยครับ ซึ่งก็แน่นอนว่า Parcel มาพร้อมกับคุณลักษณะปกป้องความเป็นส่วนตัว และอนุญาตให้เจ้าของข้อมูลทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ตัวเองมีแบบเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ Parcel ยังเป็นส่วนประกอบหลักของการทำ Data Tokenization (ซึ่งจะอธิบายในส่วนถัดไป) โดยสามารถแปลงไฟล์ข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบของ Non-Fungible Token (NFT) ได้อีกด้วยครับ
ด้วยโครงสร้างในรูปแบบดังกล่าว ทำให้ Oasis มีความยืดหยุ่นในการนำไปพัฒนาต่อยอดครับ การสร้าง ParaTime สามารถออกแบบให้ตรงตามจุดประสงค์ของนักพัฒนาแต่ละคนได้เลย จะใช้งาน virtual machine ตัวไหนก็ตามสะดวก (อาจจะใช้ EVM เหมือน Emerald หรือจะไปใช้ตัวอื่นก็ได้) และสามารถออกแบบให้มีลักษณะ permissionless เหมือนกับบล็อกเชนทั่วไป หรือ permissioned ที่ผู้ใช้งานจะต้องได้รับการอนุญาตก่อน เพื่อใช้งานในระดับองค์กร ก็สามารถทำได้เช่นกันครับ
ROSE
เป็นโทเคนประจำบล็อกเชนของ Oasis ครับ โดยมีปริมาณอุปทานสูงสุด (maximum supply) อยู่ที่ 1 หมื่นล้านเหรียญ และในปัจจุบัน (กันยายน 2022) มูลค่าตลาดรวม (market capitalization) ของ ROSE อยู่ที่ประมาณ 328 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อ้างอิงจาก CoinGecko) คิดเป็นอันดับ 127 ของมูลค่าตลาดของคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมด โดยในส่วนของอุปทานจะมีการกระจายสัดส่วนตามนี้ครับ
- 23.5% แบ่งเก็บไว้เป็น staking rewards หรือเป็นค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่มา stake ROSE บน Oasis ครับ
- 23% แบ่งให้กับ backers หรือกลุ่มบริษัท VC ที่สนับสนุนโปรเจกต์ ตามที่กล่าวไปข้างต้นครับ
- 20% แบ่งให้กับ core contributors ซึ่งเป็นทีมพัฒนาหลักของ Oasis
- 18.5% แบ่งให้กับ community & ecosystem ซึ่งส่วนนี้จะถูกนำไปใช้ในการสร้างและพัฒนาชุมชนผู้ใช้งาน Oasis เช่นการให้แรงจูงใจนักพัฒนาภายนอกในการเข้ามาช่วยพัฒนาการใช้งานใหม่ ๆ บนแพลตฟอร์ม
- 10% แบ่งให้กับ Oasis Foundation ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลการพัฒนา Oasis
- 5% แบ่งให้กับ strategic partners and reserve หรือพันธมิตรของแพลตฟอร์ม
โดย ROSE เริ่มถูกผลิตออกมาตั้งแต่ปลายปี 2020 และจะทยอยถูกผลิตออกมาเรื่อย ๆ จนครบปริมาณอุปทานสูงสุดในปลายปี 2030 ครับ
ในส่วนของความต้องการใช้งาน ROSE โดยหลัก ๆ จะมาจากสองส่วนครับ ส่วนแรกคือการทำธุรกรรมภายในเครือข่ายของ Oasis (ทั้ง Consensus และ ParaTime) จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม (gas) ด้วย ROSE ทั้งหมด และอีกส่วนคือใช้วาง (stake) เพื่อเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นครับ ผู้ใช้งานสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (validator) หรือจะเป็นผู้ “ฝาก” สินทรัพย์ไว้กับผู้ตรวจสอบอื่น (delegator) ก็ได้ครับ โดยผลตอบแทนจากการ stake ในปัจจุบัน (สิงหาคม 2022) จะอยู่ที่ 10% ครับ และจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป
Use Cases
ถึงแม้ในข่าวช่วงนี้จะมีแต่ข่าวการจับมือของ Oasis Labs กับ Meta แต่ Oasis Labs เองก็ยังเป็นพันธมิตรกับบริษัทอีกหลาย ๆ แห่งนะครับ วันนี้เลยลองยกตัวอย่างมาสักเล็กน้อยให้พอเห็นภาพครับ
Partnership with Meta
ในปลายเดือนกรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมา Oasis Labs ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกับ Meta Platforms บริษัทผู้พัฒนา Facebook ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก โดย Oasis Labs จะสร้างแพลตฟอร์มโดยมีเป้าหมายที่จะเป็นแกนกลางในการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานของ Facebook โดยอาศัยจุดเด่นของบล็อกเชน Oasis ในด้านการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานครับ โดยข้อมูลดังกล่าวจะรวมถึงข้อมูลละเอียดอ่อน อย่างเช่นเชื้อชาติ เพศ ซึ่งผู้ใช้งานจะสามารถเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้โดยเชื่อมั่นในความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ในขณะเดียวกัน Facebook ก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลชุดดังกล่าว เพื่อนำไปให้ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) เรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งานต่อไปครับ ตัวอย่างการใช้งานคือการปล่อยแบบสอบถามเกี่ยวกับการใช้งาน Instagram ซึ่งในแบบสอบถามดังกล่าวมีการขอข้อมูลเชื้อชาติของผู้ตอบแบบสอบถามครับ
BMW
ในเดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา Oasis Labs ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกับ BMW บริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่จากเยอรมนี ในการสร้างฐานข้อมูลที่มีความเป็นส่วนตัวสำหรับพนักงานบริษัทครับ โดย BMW ยกตัวอย่างว่าพนักงานสามารถคำนวณเงินเดือนพนักงานใหม่ได้ โดย Oasis จะใช้เทคโนโลยี differential privacy กับฐานข้อมูล SQL ของบริษัทครับ ซึ่งช่วยป้องกันการดึงข้อมูลรายบุคคลจากฐานข้อมูล โดยในขั้นแรก BMW จะใช้ระบบดังกล่าวกับฐานข้อมูลพนักงานภายในก่อนครับ ซึ่งข้อมูล การอนุญาตเข้าถึง (permission) ของผู้ใช้งานแต่ละคนก็จะถูกบันทึกลงบน ledger ของ Oasis เพื่อให้ตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส และรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้งานครับ
Nebula Genomics
Nebula Genomics เป็นบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับข้อมูลทางพันธุกรรม (genome) ของมนุษย์ครับ โดยบริการหลัก ๆ คือการหาลำดับคู่เบสในสาย DNA ทั้งหมด (whole-genome sequencing) ครับ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกใช้ในการแพทย์เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทในกลุ่มการแพทย์และพันธุกรรมจำเป็นที่จะต้องทำงานกับข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนมาก ๆ ครับ ในอดีตเราจะเคยได้ยินข่าวข้อมูลประเภทดังกล่าวรั่วไหล (เช่นจาก MyHeritage) ซึ่งส่งผลกระทบกับตัวลูกค้าค่อนข้างมาก เพราะข้อมูลชุดดังกล่าวแทบจะแสดงความเป็นตัวตนของบุคคลคนหนึ่งได้เลย บริษัทกลุ่มนี้จึงต้องมีความระมัดระวังในการเก็บข้อมูลเป็นอย่างมากครับ
ในเดือนกันยายน 2020 Nebula Genomics ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกับ Oasis Labs ในการเก็บข้อมูลบน Parcel ParaTime ซึ่งเป็นหนึ่งใน ParaTime ของ Oasis Network ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเก็บข้อมูลโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า เพิ่มความยากในการบิดเบือนข้อมูล และลูกค้าของบริษัทฯ จะได้รับทราบด้วยครับ ว่าข้อมูลส่วนบุคคลของตน ถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง จากการที่ข้อมูลถูกเก็บบนบล็อกเชน ซึ่งก็ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือขึ้นไปอีกหนึ่งระดับครับ
Genetica
เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการใช้ Oasis Network ในการเก็บข้อมูลพันธุกรรมครับ โดย Genetica เป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมการแพทย์และพันธุกรรม ซึ่งมีฐานลูกค้าหลักอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) ครับ ซึ่งทางบริษัทก็ได้ประกาศเป็นพันธมิตรกับ Oasis Labs ในเดือนพฤษภาคม 2022 ที่ผ่านมา โดยจะใช้ Parcel ParaTime สำหรับการเก็บข้อมูล และสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมบนบล็อกเชนของ Oasis เพื่อนำผลการวิเคราะห์ไปใช้ต่อในการรักษาแบบแม่นยำ (precision medicine) ซึ่งเป็นการรักษาโดยนำข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้ป่วยแต่ละรายไปทำการออกแบบวิธีการรักษาเฉพาะคนครับ เช่นการรักษาโรคมะเร็งที่จะใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมของเซลล์ในร่างกายที่ทำงานผิดปกติ ไปวิเคราะห์และช่วยให้แพทย์สามารถเลือกยาเพื่อเข้าไปยับยั้งความผิดปกตินั้น ๆ ได้ครับ
Roadmap
Sapphire ParaTime
ทีมผู้พัฒนา Oasis Network กำลังพัฒนา ParaTime ตัวใหม่ ที่มีคุณลักษณะ EVM compatible (สามารถใช้งาน DApp จากบล็อกเชนของ Ethereum ได้) เหมือนกับ Emerald ParaTime แต่เพิ่มลักษณะเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเข้าไปครับ โดย Dapp ที่พัฒนาบน Sapphire จะมีการป้องกันความเป็นส่วนตัวของข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ใช้งาน เป็นคุณลักษณะใหม่ที่ Emerald ParaTime ไม่มีครับ โดยในปัจจุบัน Sapphire กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบ testnet และยังไม่มีกำหนดการเปิดใช้งาน mainnet ที่แน่นอนครับ
IBC Support
เนื่องจาก Oasis ถูกเขียนขึ้นด้วย Cosmos SDK ดังนั้นจึงสามารถเชื่อมต่อกับโปรเจกต์อื่น ๆ ในระบบนิเวศของ Cosmos ผ่าน Inter-Blockchain Communication protocol (IBC) ได้ครับ ซึ่ง Oasis มีแผนเชื่อมต่อกับระบบนิเวศของ Cosmos อยู่ครับ แต่ก็ยังไม่ได้มีรายละเอียดแน่ชัดว่าจะมีขั้นตอนอย่างไร และจะเปิดใช้งานได้เมื่อไร
Concerns
Oasis Network เป็นโปรเจกต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้งาน ด้วยเหตุนี้ทำให้ Oasis เป็นที่จับตามองของบริษัทหลาย ๆ แห่ง โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่มการแพทย์และพันธุกรรม ซึ่งจะต้องยุ่งเกี่ยวกับข้อมูลที่เรียกได้ว่าต้องการความเป็นส่วนตัวสูงสุด ไม่สามารถเปิดเผยหรือถูกแก้ไขได้ ดังที่ทุก ๆ คนเห็นในบทความครับ ว่าการใช้งานในปัจจุบันจะเอนเอียงไปทางการแพทย์เสียเยอะ
ถ้าเรามองภาพรวมของบล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract การใช้งานหลัก ๆ จะมาจาก decentralized finance (DeFi) เป็นส่วนใหญ่ครับ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืม การเทรด การฟาร์ม หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบอื่น ๆ ซึ่ง Oasis ยังไม่ได้มีความหลากหลายและปริมาณการใช้งาน smart contract ในรูปแบบดังกล่าว สูงเท่ากับบล็อกเชน smart contract อื่น ๆ ครับ ถ้าเราดูมูลค่า total value locked (TVL) บนบล็อกเชนของ Oasis (อ้างอิงจาก Defillama) จะพบว่า Oasis มี TVL อยู่ที่ 30.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าน้อยครับ (เทียบกับบล็อกเชน smart contract ใหญ่ ๆ อย่าง Ethereum, Solana, Polygon, Avalanche หรือ Binance BNB Chain บล็อกเชนพวกนี้มีมูลค่าดังกล่าวเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทั้งหมด) ดังนั้นการใช้งานในมุม DeFi ยังคงต้องรอการพิสูจน์อยู่ครับ ซึ่งถ้าหากมีการใช้งานในส่วนนี้เพิ่มขึ้นจริง ปริมาณธุรกรรมต่อวันของ Oasis จะเพิ่มขึ้นหลายเท่าครับ ถึงตอนนั้นก็ต้องมาดูกันว่าบล็อกเชนจะสามารถรองรับปริมาณการทำธุรกรรมที่สูงขนาดนั้นได้หรือไม่
อีกหนึ่งประเด็นคือในตอนนี้ Oasis Network เก็บข้อมูลส่วนบุคคลทางด้านการแพทย์และพันธุรกรรมของมนุษย์ไว้จำนวนหนึ่งครับ ซึ่งถ้าเทียบกับบล็อกเชนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เก็บข้อมูลประเภทนี้ ต้องยอมรับว่าการที่ Oasis ถูกแฮก มีผลกระทบร้ายแรงกว่าการที่บล็อกเชนอื่น ๆ ถูกแฮกหลายเท่าครับ ซึ่งจนถึงปัจจุบัน Oasis ก็ยังมีความน่าเชื่อถืออยู่ และไม่ได้ถูกแก้ไขหรือขโมยข้อมูลแต่อย่างใด แต่ปัจจัยนี้ก็ยังคงมีความเสี่ยงครับ
Summary
ข่าว Oasis Labs จับมือเป็นพันธมิตรกับ Meta ถือเป็นข่าวใหญ่พอสมควรครับ แต่จริง ๆ แล้ว Oasis Network ถูกพัฒนามาสักพัก และมีการใช้งานที่หลากหลายอยู่ครับ Oasis เป็นบล็อกเชนที่มีจุดเด่นสองด้าน ด้านแรกคือการแยกบล็อกเชนออกเป็นสองชั้นย่อย ทำให้ความเร็วในการประมวลผลธุรกรรมเพิ่มสูงขึ้น และอีกด้านคือในด้านการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นปัญหาที่บล็อกเชนใหญ่ ๆ หลาย ๆ บล็อกเชนยังไม่ได้แก้ไข ทำให้ Oasis น่าจับตามองอย่างมาก ว่าจะสามารถดึงดูด DApp ต่าง ๆ ไปเปิดใช้งานบนบล็อกเชนของ Oasis ได้หรือไม่ครับ อย่างไรก็ดี ด้วยความที่มูลค่า TVL ของบล็อกเชนยังมีไม่มากนัก จำนวน DApp และมูลค่าซื้อ-ขายรายวันภายในบล็อกเชน ยังไม่เยอะมาก ทำให้ Oasis ยังต้องรอการพิสูจน์ตัวเอง ถ้าหากมีการใช้งานในระดับเดียวกันกับบล็อกเชนใหญ่ ๆ ตัวอื่น ณ ตอนนี้เองก็ยังเป็นคำถามว่า Oasis จะสามารถรองรับธุรกรรมที่มากขนาดนั้นได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปครับ
Further Read:
- Official Website: https://oasisprotocol.org/
- Official Docs: https://docs.oasis.dev/general/
- Whitepaper: https://assets.website-files.com/5f59478e350b91447863f593/628ba74a9aee37587419cf65_20200623%20The%20Oasis%20Blockchain%20Platform.pdf
- Oasis Labs with Meta: https://medium.com/oasislabs/oasis-labs-partners-with-meta-to-assess-fairness-for-its-ai-models-97e153d707ef
CodeBreaker
ที่มาบทความ: https://link.medium.com/W8k5u5gG5sb
คำเตือน
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้